xs
xsm
sm
md
lg

ผลของคำพิพากษาศาลต่างประเทศในคดีอาญา

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 สราวุธ เบญจกุล
รัฐแต่ละรัฐย่อมมีอำนาจอธิปไตยในทางการศาลเป็นของตนเอง การที่คำพิพากษาของศาลต่างประเทศจะมีผลในอีกประเทศหนึ่งหรือไม่ ย่อมต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายและหลักปฏิบัติระหว่างประเทศเป็นสำคัญ
สำหรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในคดีอาญาจะมีผลต่อการพิจารณาของศาลไทยในความผิดเดียวกันนั้นหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายที่ว่า “บุคคลจะไม่ถูกพิจารณาคดีซ้ำสองในความผิดเดียว” หรือที่เรียกว่า Non bis in idem (Not twice for the same) หรือ double jeopardy โดยพิจารณาได้จากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 10 โดยมีหลักการสำคัญที่ว่า ผู้ที่กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความผิดตามมาตราต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 7 (2) และ (3) มาตรา 8 และมาตรา 9 ( เช่น ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง ความผิดฐานชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ในทะเลหลวง เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายฯ ) ถ้าศาลต่างประเทศได้พิพากษาถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือพิพากษาให้ลงโทษ และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว ศาลไทยจะไม่สามารถลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นได้อีก ถ้าผู้นั้นต้องคำพิพากษาได้รับโทษสำหรับการกระทำนั้นตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศมาแล้ว แต่ยังไม่พ้นโทษ ศาลไทยจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงโทษที่ผู้นั้นได้รับมาแล้ว
นอกจากนี้ ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 11 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร หรือกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ถ้าผู้นั้นได้รับโทษสำหรับการกระทำนั้นตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศมาแล้วทั้งหมด หรือแต่บางส่วน ศาลไทยจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงโทษที่ผู้นั้นได้รับมาแล้ว

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักร หรือกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่า ได้กระทำในราชอาณาจักร ได้ถูกฟ้องต่อศาลในต่างประเทศโดยรัฐบาลไทยร้องขอ ศาลไทยไม่สามารถลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก ถ้าได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้นหรือศาลต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว
ในส่วนขั้นตอนก่อนศาลมีคำพิพากษา อาจเป็นกรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อันหมายถึงการส่งมอบตัวบุคคลอย่างเป็นทางการโดยรัฐหนึ่งให้แก่อีกรัฐหนึ่งเพื่อการฟ้องคดี ซึ่งจะต้องมีสนธิสัญญาระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้องหรือต่างฝ่ายต่างให้คำมั่นว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนตอบแทนซึ่งกันและกัน ประเทศไทยได้ทำสนธิสัญญาไว้กับหลายประเทศ และโดยปกติแล้วจะมีการออกพระราชบัญญัติอนุวัติการสนธิสัญญาฯ เป็นรายฉบับ อีกชั้นหนึ่ง
นอกจากกรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้วยังมีกรณีการให้ความช่วยเหลือทางอาญาตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 ซึ่งปกติจะดำเนินการในลักษณะเป็นสนธิสัญญาที่กำหนดถึงหน้าที่ของรัฐภาคีสมาชิกผู้รับคำร้องขอความช่วยเหลือทางอาญาโดยวางพื้นฐานขั้นต่ำที่จะต้องให้ความช่วยเหลือในเรื่องทางอาญา เช่น การสืบพยานและสอบปากคำบุคคล การจัดให้เอกสารและพยานหลักฐาน การสืบหาตัวบุคคล เป็นต้น
พันธกรณีที่จะให้ความช่วยเหลือตามสนธิสัญญานี้ต่างจากพันธกรณีตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน กล่าวคือไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ double criminality กล่าวคือ การกระทำที่เป็นมูลกรณีของการขอให้ช่วยเหลือทางอาญานั้นไม่จำต้องคำนึงว่าจะเป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศผู้รับคำร้องหรือไม่ ดังนั้นประเทศผู้รับคำร้องจะต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ยกเว้นแต่จะเข้ากรณีข้อยกเว้นต่าง ๆ

สำหรับข้อยกเว้นในการให้ความช่วยเหลือนั้น โดยทั่วไปแล้วรัฐผู้รับคำร้องจะปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือทางอาญาบนพื้นฐานเดียวกัน กล่าวคือในกรณีที่คำร้องขอนั้นเกี่ยวเนื่องกับความผิดทางการเมืองหรือกระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคง หรือผลประโยชน์สาธารณะที่สำคัญของประเทศผู้รับคำร้อง และหากการปฏิบัติตามคำร้องขอจะเป็นการแทรกแซงการสืบสวนสอบสวนการฟ้องคดี หรือการดำเนินกระบวนการทางอาญาที่ประเทศผู้รับคำร้องกำลังดำเนินการอยู่ก็จะเป็นเหตุแห่งการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอเช่นกัน
สำหรับกรณีการบังคับโทษหลังจากศาลพิพากษาแล้ว หากรัฐต้องการนำนักโทษสัญชาติของตนที่รับโทษอยู่ต่างประเทศตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ เพื่อกลับมารับโทษในประเทศนั้น ต้องอาศัยหลักการโอนตัวนักโทษ ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527 ซึ่งมีหลักการสำคัญว่าบุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งรับโทษอยู่ในต่างประเทศเนื่องจากกระทำความผิดในต่างประเทศ และบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งรับโทษอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากกระทำความผิดในประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงกำหนดมาตรการให้มีการโอนตัวผู้กระทำความผิดดังกล่าวให้ได้รับโทษต่อในประเทศที่ผู้นั้นมีสัญชาติได้ เพื่อประโยชน์ในการที่แต่ละประเทศจะได้ให้การอบรมแก้ไขฟื้นฟูจิตใจผู้กระทำความผิดที่มีสัญชาติของประเทศของตนให้กลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป เมื่อศาลทุกศาลตัดสินคดีแล้วย่อมก่อให้เกิดหน้าที่หรือความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นเป็นหน้าที่หรือความผูกพันที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ทั้งนี้เมื่อเป็นเรื่องระหว่างประเทศแนวนโยบายของรัฐโดยฝ่ายบริหารจึงมีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาด้วย
สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น