ตร.เผยผลปราบอาชญากรรมในพื้นที่ 42 สน.สุ่มเสี่ยงช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบลดลงร้อยละ 28-29 แต่พอส่งตำรวจไปดูแลผู้ชุมนุม พบว่าลดลงเพียงร้อยละ 10 พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเหตุ หวั่นตำรวจใช้มาตรการกดดัน อาจทำให้โจรไปก่อเหตุพื้นที่อื่น
วันนี้ (31 ม.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พ.ต.อ.(หญิง) วิชญ์ชยากร ณิชาบวร โฆษกโครงการประชาวิวัฒน์ แถลงถึงการดำเนินการลดปัญหาอาชญากรรมตามนโยบายของรัฐบาล โดย พ.ต.อ.(หญิง) วิชญ์ชยากรกล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินการโครงการดังกล่าวในพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะในพื้นที่สุ่มเสี่ยง 42 สน. ระหว่างวันที่ 1-25 ม.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาอาชญากรรมมีสถิติลดลง ร้อยละ 28-29 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน แต่พอหลังจากวันที่ 25 ม.ค. พบว่าผลสำรวจปัญหาอาชญากรรมลดลงเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เนื่องจากต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม
ส่วนการดำเนินการที่ผ่านมาทาง ตร.ได้มีการประสานการไฟฟ้านครหลวง เพื่อติดตั้งหลอดไฟส่องสว่างในพื้นที่สุ่มเสี่ยง 209 จุด พร้อมทั้งยังเตรียมติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมอีก 250 จุด โดยบริเวณพื้นที่แหล่งการค้าและสุ่มเสี่ยงต่างๆ ประกอบกับจะมีการประสานงานกับภาคเอกชน เช่น ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าให้มีการปรับมุมของกล้องวงจรปิดให้หันออกมาในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น
ด้าน พล.ต.ต.ประวุฒิกล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ทำให้ปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่นครบาลลดลงร้อยละ 28-29 มีสาเหตุ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.อาชญากรช็อก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการระดมกำลังตรวจค้นในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่างๆ ทำให้อาชญากรต้องหลบหนีออกนอกพื้นที่สักระยะ จากนั้นก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้อาชญากรกลุ่มนี้กลับเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่อีก 2.จากสถิติ 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลผู้ชุมนุม ทำให้ปัญหาอาชญากรรมในบางพื้นที่สูงมากขึ้น แต่ในช่วงระหว่างวันที่ 1-25 ม.ค.นี้ ที่มีการเริ่มโครงการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ไม่ต้องมาดูแลผู้ชุมนุม ทำให้มีเวลามาดูแลปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่มากขึ้น
3. มีการนำโครงการดังกล่าวมาบูรณาการ ประกอบกับรัฐบาลสนับสนุนเรื่องเบี้ยเลี้ยง ทำให้เป็นขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน และ 4.มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้านครหลวง และกทม. มาช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งหลอดไฟในพื้นที่สุ่มเสี่ยง การปรับภูมิทัศน์ในพื้นที่รกร้างประมาณ 100 จุด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งก่ออาชญากรรม หรือแหล่งซ่องสุ่ม
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นการทดลองในเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นจะมีการให้ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษามาประเมินผลการทดสอบ โดยจะสำรวจความพึ่งพอใจ และความหวาดกลัวของประชาชนต่อปัญหาอาชญากรรม
พล.ต.ต.ประวุฒิกล่าวอีกว่า สำหรับกระแสที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความ ทำให้ผลสำรวจปัญหาอาชญากรรมีตัวเลขลดลงนั้น เราคงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะเมื่อมีประชาชนเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องรับแจ้งความตามกฎหมาย รวมทั้งเราคงไม่สามารถไปปรับแต่งตัวเลขของผลสำรวจได้เช่นกัน
ส่วนกรณีที่มีการชุมนุมในช่วงนี้นั้น พล.ต.ต.ประวุฒิกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการลดปัญหาอาชญากรรม ซึ่งเราคำนึงถึงเรื่องนี้อยู่แล้ว ดังนั้น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. จึงได้มีการหารือกับทางนายกสมาคมรักษาความปลอดภัยแห่งภาคพื้นอาเซียน เพื่อร่วมกันดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการใช้มาตรการกดดันอาจทำให้อาชญากรหลบหนีไปก่อเหตุในพื้นที่อื่นแทน พล.ต.ต.ประวุฒิกล่าวว่า ทางเราก็มีความกังวลในเรื่องนี้เช่นกันว่ากลุ่มอาชญากรจะมีการออกไปเคลื่อนไหวในพื้นที่อื่น ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินการโครงการนี้ทั้ง 88 สน. รวมทั้งต้องระวังไม่ให้อาชญากรกระจายตัวไปยังพื้นที่ปริมณฑล เช่น จ.สมุทรปราการ จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานีด้วย