xs
xsm
sm
md
lg

กองปราบปี 54 ตำรวจคือประชาชน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.)
กองปราบปรามในยุค “เดอะแมว” พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) ในปี 2554 นั้นมีการดำเนินโครงการที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว และที่ยังเพิ่งเริ่มต้น โดยจะเน้นไปในแนวทางแสวงหาความร่วมมือจากภาคประชาชนอย่างเข้มข้น ดังที่เขาประกาศกร้าวต่อหน้าผู้ใต้บังคับบัญชาถึงความสำคัญของภาคประชาชนว่า

”ตำรวจคือประชาชนและประชาชนคือตำรวจ ตำรวจคือผู้ที่ได้รับเงินเดือนจากประชาชน เพื่อทำหน้าที่เต็มเวลา ในการให้บริการรับใช้ประชาชนทุกคน ไม่ใช่เป็นองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฏหมายเหมือนในอดีตเท่านั้น”

พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวเสริมว่า ผมอยากให้ตำรวจกองปราบปรามไปพูดคุยกับประชาชน รับฟังปัญหาของชาวบ้านเพื่อตอบสนองความต้องการของเขา เมื่อรู้ข้อมูลก็แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และในยุคนี้ตำรวจกองปราบปรามต้องปรับเปลี่ยนทัศนะคติเสียใหม่ เช่นสังคมในอดีตนั้นต้องการเพียงตำรวจที่ซื่อสัตย์ เชื่อฟัง ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งอย่างเคร่งครัด และมีความแข็งแรงว่องไวในการต่อสู้ แต่ในสังคมยุคปัจจุบัน ต้องการตำรวจที่มีความรู้ ฉลาดมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักใช้สติปัญญาและดุลยพินิจและคิดอย่างเป็นระบบ

ไม่ใช่แค่ภาคประชาชนอย่างเดียว “เดอะแมว”ยังมีสารพัดโครงการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับลูกน้องเช่น การสืบสวนที่มีคุณภาพ

พล.ต.ต.สุพิศาล บอกว่า จะกำชับให้มุ่งเน้นจับกุมผู้กระทำความผิดด้วยพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ในการจัดเก็บและรวบรวมพยานหลักฐานที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานจากกระบวนการยุติธรรม และผลิตบุคคลากรด้านการสืบสวนให้มีความเชี่ยวชาญ เช่นจัดโครงการฝึกอบรมการสะกดรอย การตรวจสถานที่เกิดเหตุ การเก็บพยานหลักฐาน เทคนิคการใช้เทคโนโลยี เครื่องมือในการสืบสวน การจับกุมด้วยมือเปล่า ยุทธวิธีในการขับขี่รถยนต์สายตรวจ การตั้งจุดตรวจ จุดสกัดตรวจค้นรถยนต์บุคคล สถานที่ และข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องในงานสืบสวน

เดอะแมว กล่าวต่อว่า ส่วนการซักถาม สัมภาษณ์ต้องคำนึงถึงพื้นฐานการเกิดอาชญากรรม หรือคิดอย่างโจรคิด และนำแนวคิดนั้นมาซักถาม สอบสวนโดยยึดหลักพฤติกรรมศาสตร์ของคนร้ายและภูมิศาสตร์ของอาชญากรรม ทำให้เหยื่อเกิดความไว้วางใจและลดความหวาดระแวง

และในสังคมยุคข้อมูลข่าวสาร พล.ต.ต.สุพิศาล จึงมีโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการข่าวเชิงรุก เพราะการข่าวมีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานของตำรวจกองปราบปรามในทุกๆด้าน โดยเฉพาะการข่าวที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือกระทบกระเทือนต่อสถาบันหลักของชาติ ซึ่งจะต้องดำเนินการค้นหา รวบรวม วิเคราะห์และนำการข่าวนั้นมาใช้ปฏิบัติถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์

ในส่วนของโครงการหน้าบ้านปลอดภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศนั้น พล.ต.ต.สุพิศาล อธิบายถึงโครงการดังกล่าวว่า เพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างตำรวจกับประชาชนให้ประชาชนหันมาร่วมมือกันในการดูแลชุมชนของตนเองร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขจัดความไร้ระเบียบของชุมชน สร้างความคุ้นเคยร่วมกัน สร้างพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ปรับทัศนะคติของตำรวจ และให้สังคมหันมาพิจารณาสภาพแวดล้อมรอบตัวว่ามีสิ่งใดจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการเกิดอาชญากรรม แล้วรีบดำเนินการแก้ไขร่วมกัน

ส่วนสถานที่เสี่ยงต่ออาชญากรรมทั้งลักวิ่งชิงปล้นหรือก่อวินาศกรรม ทาง กองปราบปราม ได้มีโครงการ Hot Stop อาชญากรรม สถานที่เสี่ยงต่างๆ เช่น สถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า สถานที่ชุมนุมชน ป้ายรถโดยสาร หน่วยงานราชการ ย่านธุรกิจ

ผบก.ป.กล่าวว่า สถานที่บางแห่งเกิดอาชญากรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งฉะนั้นเราจะต้องดำเนินการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ ช่วงเวลา และโอกาสของการเกิดอาชญากรรม แล้วจัดกำลังไปตรวจสอบ สังเกตุการณ์พื้นที่นั้น เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม นอกจากนี้ยังมีโครงการตำรวจประจำซอย ซึ่งก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำตามซอยต่างๆและจัดการกำหนดเขต เซฟตี้โซน เพื่อช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยให้ชุมชน

ส่วนโครงการ Robinhood คือการติดตามทรัพย์สินที่ถูกคนร้ายโจกกรรมกลับคืนมาให้เจ้าของ เพราะสิ่งของบางอย่างมีค่าต่อจิตใจมากกว่าเงินตรา ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการสืบสวนติดตามหาทรัพย์สินที่ถูกคนร้ายขโมยไป คืนให้ผู้เสียหาย ไม่ใช่แค่จับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุลักทรัพย์เหมือนที่ผ่านๆมาเท่านั้น

ส่วนปัญหาเด็กเยาวชนและสตรีนับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น พล.ต.ต.สุพิศาล จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาเด็ก เยาวชนและสตรี เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกด้วย

และจากเหตุเด็กช่างกลยกพวกตีกันบ่อยๆทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก พล.ต.ต.สุพิศาล จึงมีโครงการจูงมือน้องสร้างสรรค์สังคมไทย โดยนำตำรวจชั้นประทวนไปประจำสถานศึกษากลุ่มเสี่ยงเพื่อรับฟังข้อคิดเห็น ร่วมกิจกรรม และ ปรับทัศนคติให้กับเยาวชนเหล่านั้น ให้มองเห็นคุณค่าความสำคัญในการอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกัน

พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวถึงโครงการครูกองปราบปรามด้วยว่าให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ในชุมชนเผยแพร่กิจกรรมของหน่วยงาน แนะนำข้อกฏหมาย ข้อปฏิบัติในชุมชนหรือสังคมเพื่อความปลอดภัยจากอาชญากรรม ตามโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถานประกอบการ ตลอดจนแนะนำวิธีการมีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ โอท๊อป (One Team One Product) โดยมอบหมายให้ข้าราชการตำรวจระดับ สารวัตร ถึง รอง ผู้กำกับการ จัดทำแฟ้มการสืบสวนคดีสำคัญๆ โดยมุ่งเน้นการสืบสวนติดตามอาชญากรรมที่เป็นองค์กร หรือเป็นเครือข่าย ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่และกลุ่มบุคคลที่มีแนวโน้มจะประกอบอาชญากรรมรุนแรง อย่างไรก็ตามในส่วนของมือปืนรับจ้างนั้น เราได้ทำบัญชี 10 มือปืนที่กองปราบปรามต้องการตัวมากที่สุดโดยทำงานร่วมกับชุดของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ปรึกษา (สบ 10) รักษาการ ผบช.ภ.1 ด้วย

ส่วนเรื่องที่สร้างภาพลักษณ์ด้านลบให้กับองค์กรตำรวจมากที่สุดไม่ว่ายุคสมัยใดคือการทุจริต

พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า การทุจริตถือเป็นเรื่องสำคัญที่ก่อให้เกิดความหวาดระแวง ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อประชาชนเห็นตำรวจส่วนมากจะมองในโดยทั่วไป ก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต้องช่วยกันปลูกสร้างจิตสำนึก สร้างแนวคิดในการเป็นตำรวจผู้รับใช้ประชาชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอุดมการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ มีเป้าหมายในการรับราชการที่ถูกต้อง เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมอย่างแท้จริง

ส่วนมาตรการลดการทุจริตด้านต่างๆ เช่นการทุจริตเวลา ทุจริตอำนาจและทุจริตเงิน

เดอะแมวกล่าวว่าได้นำวิธีการอบรมทางจริยธรรม เสริมสร้างแนวความคิดในการรับผิดชอบต่อหน้าที่และชุมชนมาเพื่อใช้เป็นแนวทาง ซึ่งจัดโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ทางวิชาชีพด้านต่างๆให้แก่ตำรวจกองปราบปรามและครอบครัว เพื่อนำไปเป็นฐานลดค่าครองชีพในครัวเรือนหรือนำไปประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว

"แม้จะมีทฤษฎี หลักการ นโยบาย หรือแนวทางปฏิบัติที่ดีเลิศอย่างไร ก็ไม่อาจนำไปสู่ความสำเร็จได้ หากตำรวจกองปราบปรามไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมร่วมกันด้วยความเต็มใจ ด้วยความเข้าใจ ซึ่งบุคลากรถือเป็นหัวใจหลักต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์กร" ผบก.ป.กล่าว

และสิ่งที่ พล.ต.ต.สุพิศาล อยากจะบอกกับผู้ใต้บังคับบัญชาในปี 2554 คือ ผมอยากให้ตำรวจกองปราบปรามปฏิหน้าที่อย่างทุ่มเท สุดความสามารถเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ตำรวจหน่วยอื่น และผมพร้อมจะรับฟังตำรวจชั้นผู้น้อยทุกนายนอกจากนี้จะดูแลด้านสวัสดิการต่างๆ แก่เจ้าหน้าที่ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง
กำลังโหลดความคิดเห็น