xs
xsm
sm
md
lg

มติเสียงข้างมาก ยึดคืนเงินปล้นชาติ 4.6 หมื่นล้าน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

องค์คณะผู้พิพากษา ทั้ง 9 ท่าน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ศาลพิพากษาข้อต่อสู้ของ “ทักษิณ” โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ในประเด็นศาลมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ และ คตส.มีอำนาจตรวจสอบโดยชอบ รวมทั้งประเด็นสำคัญ วินิจฉัยว่า “ทักษิณ” ใช้นอมินีถือหุ้นแทนจริง แปลงสัมปทานฯ เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป แก้ไขสัมปทานดาวเทียมเอื้อชินคอร์ป ปล่อยเงินกู้พม่าเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป จึงมีมติด้วยเสียงข้างมาก มีคำสั่งให้เงินซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ จำนวน 39,774,168,325.70บาท และเงินปันผลที่ได้จากการขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 6,898,722,129บาท รวมเป็นเงินทั้งหมดจำนวน 46,373,687,454.70 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน


 คลิกที่นี่ เพื่อฟังคำพิพากษา ช่วงที่ 1 
 
คลิกที่นี่ เพื่อฟังคำพิพากษา ช่วงที่ 2 
 
คลิกที่นี่ เพื่อฟังคำพืพากษา ช่วงที่ 3 

วันนี้ (26 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาเจ้าของสำนวนยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่อม.4/2551 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ธุรกิจของครอบครัวและการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมและทรัพย์สินของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยาและครอบครัวรวมทั้งนิติบุคคลผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินรวม 22 ราย ผู้คัดค้านคดีนี้ จำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 80

ศาลมีอำนาจพิจารณาคดี-มติเอกฉันท์
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะเป็นนายกฯ ร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากหรือได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากตำแหน่งหน้าที่ ขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน เป็นการดำเนินการตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบความเสียหายที่ก่อให้เกิดแก่รัฐ (คตส.) และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลฎีกาฯ หาใช่เป็นการฟ้องละเมิดที่จะต้องมีการออกคำสั่งทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจของศาลปกครองตัดสิน ทั้งไม่ใช่เป็นการร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง องค์คณะจึงมีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ว่า ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

วินิจฉัย คตส.มีอำนาจตรวจสอบโดยชอบ-มติเอกฉันท์
ปัญหาว่า คตส.ผู้ร้องมีอำนาจร้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า คปค.ฉบับที่ 30 เป็นประกาศที่ให้อำนาจ คตส.ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ การตรวจสอบไต่สวนในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินการภายในขอบเขตหน้าที่ พ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านอ้างว่า คตส.สอบสวนล่วงเลยเวลา 2 ปี จึงเป็นการสอบสวนไม่ชอบนั้น เห็นว่า คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 11 วรรคหนึ่งได้กำหนดกรอบการตรวจสอบภายใน 1 ปี โดยเมื่อพ้นระยะเวลาให้ ปปช.ทำการสอบสวนต่อไปตามหน้าที่ กรณีจึงถือได้ว่า คตส.ได้ตรวจสอบภายในกรอบเวลาที่กฎหมายบัญญัติ และคณะอนุกรรมการไต่สวนพิสูจน์ทรัพย์สินได้ให้โอกาส พ.ต.ท.ทักษิณกับผู้คัคค้านต่อสู้คัดค้านโดยชอบแล้ว การคัดค้านตัว คตส. ประกอบด้วย นายกล้านรงค์ จันทิก นายบรรเจิด สิงคะเนติ และนายแก้วสรร อติโพธิ แสดงความคิดเห็นในเวทีการเมืองก็เป็นความเห็นทางวิชาการ และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับ พ.ต.ท.ทักษิณ คตส.ที่ถูกคัดค้านเหล่านี้จึงไม่มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะเป็นปรปักษ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ

ส่วนข้อต่อสู้ที่ว่าอัยการสูงสุดเห็นว่าคดีนี้ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ คตส.จึงยังไม่มีอำนาจร้อง เห็นว่า คดีนี้อัยการสูงสุดเห็นครั้งแรกว่ามีข้อไม่สมบูรณ์แต่เมื่อประชุมกับ ปปช.ซึ่งทำหน้าที่แทน คตส.แล้วมีมติให้ยื่นคำร้อง เท่ากับความเห็นครั้งแรกยุติลงไปแล้ว และคดีนี้ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจึงไม่จำต้องไต่สวนต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหา จึงมีมติด้วยคะแนนเอกฉันท์ว่าอัยการสูงสุดผู้ร้องมีอำนาจร้องคดีนี้

ปัญหาว่า คำร้องเคลือบคลุมหรือไม่ คดีนี้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องโดยแจ้งชัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณถือครองทรัพย์สินโดยอยู่ในชื่อของคนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิด อัยการสูงสุดไม่จำเป็นต้องแยกทรัพย์สินก่อนฟ้องเพราะเป็นอำนาจศาลต้องวินิจฉัย จึงมีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ว่าคำร้องไม่เคลือบคลุม

ปกปิดอำพรางหุ้น-มีนอมินี-มติเอกฉันท์
ปัญหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และพจมานเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยให้ นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา ชินวัตรและนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์และแอมเพิลริชถือหุ้นแทนหรือไม่ คดีนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานต่อสู้ว่าเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 43 ได้โอนหุ้นให้นายพานทองแท้ ชินวัตรบุตรชาย และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์โดยได้รับตั๋วสัญญาใช้เงินชำระค่าหุ้นเรียบร้อยและจดแจ้งการโอนขายหุ้นต่อบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์นายทะเบียนหุ้นของชินคอร์ปซึ่งได้จดแจ้งการโอนหุ้นให้นายพานทองแท้และนายบรรณพจน์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นชินคอร์ปตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 58 และแจ้งแบบการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหุ้นชินคอร์ปต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการชำระราค่าต่อตลาดหลักทรัพย์ตามแบบปกติไม่ใช่หลักฐานที่จะแสดงว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่เจ้าของหุ้น ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นเจ้าของหุ้นหรือไม่ศาลต้องวินิจฉัยจากพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณตั้งแต่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน

การโอนหุ้นและการขายหุ้นคุณหญิงพจมานอ้างการโอนหุ้นชินคอร์ปให้นายบรรณพจน์ ผู้คัดค้านที่ 5 เนื่องในวันครบรอบแต่งงานและครบรอบ 1 ปีของบุตรโดยซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ในชื่อของ นางดวงตา วงศ์ภักดี ต่อมาในปี 2542 นายบรรณพจน์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจนมีหุ้น 34 ล้านหุ้นโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย จึงเป็นข้อพิรุธว่า นายบรรณพจน์และนางบุษบา คู่สมรสซึ่งมีเงินอยู่ในบัญชีเงินฝาก 500 ล้านบาทเศษแต่กลับไม่นำเงินดังกล่าวมาชำระค่าหุ้น

นอกจากนี้ที่อ้างว่ามีการจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามค่าหุ้นที่ซื้อขายกันไปแล้วตั้งแต่ปี 2542 แต่เนื่องจากทำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวหาย และเมื่อคุณหญิงพจมานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคุณหญิงจึงออกตั๋วสัญญาใหม่โดยใช้คำนำหน้านามว่าคุณหญิง ศาลเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่กลับทำให้มีพิรุธ เพราะตั๋วสัญญาใช้เงินในการโอนขายหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานที่ผ่านมามีหลายฉบับแต่กลับหายเฉพาะฉบับนี้ จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่น่ารับฟัง

ส่วนการซื้อหุ้นชินคอร์ปของนายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ใช้วิธีออกตั๋วสัญญาใช้เงินและไม่ชำระค่าหุ้นครบตามจำนวน และคุณหญิงพจมานก็ไม่เคยเรียกเก็บเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินกระทั่งชินคอร์ปมีการจ่ายเงินปันผลจึงนำเงินมาชำระค่าหุ้น โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ซึ่งอ้างว่าได้รับเงินปันผล 6 งวด 97 ล้านบาทหลังนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระค่าหุ้นแต่ไม่มีหลักฐานว่าเงินที่เหลือนำไปทำอะไร ทั้งที่เป็นเงินจำนวนมาก

ส่วนหุ้นชินคอร์ปในแอมเพิลริช รับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดยโอนหุ้นชินคอร์ปให้แอมเพิลริช จำนวน 32 ล้านหุ้นราคาพาร์ 10 บาท ต่อมาปี 2543โอนหุ้นแอมเพิลริชให้นายพานทองแท้ แต่ปรากฏหลักฐานคำเบิกความของนางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการคุณหญิงพจมานซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการแอมเพิลริชว่าหลังก่อตั้งแอมเพิลริชไม่ได้ดำเนินการกิจการอะไร แต่เบิกความรับว่าบัญชีเงินของแอมเพิลริชที่เปิดกับธนาคารยูบีเอสเอจี สิงคโปร์ มียอดเงินโอนเข้าแต่ไม่รู้ว่าเป็นเงินของใคร แต่ผู้มีอำนาจเบิกจ่ายคือ ดร.ที ชินวัตร ต่อมาในปี 2546 – 2548 แอมเพิลริชได้เงินปันผลจากชินคอร์ปรวม 5 ครั้งเป็นเงิน 1 พันล้านบาทและ ดร.ที ชินวัตร คือผู้เบิกจ่ายเพียงคนเดียว ที่ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่าโอนหุ้นแอมเพิลริชซึ่งเป็นผู้ถือครองหุ้นชินคอร์ปให้นายพานทองแท้แล้วในปี 2543 แต่ผู้มีอำนาจเบิกจ่ายเงินในบัญชีแอมเพิลริชยังเป็น พ.ต.ท.ทักษิณเพียงผู้เดียวในช่วงหลังจากอ้างว่ามีการโอนหุ้นให้นายพานทองแท้ในปี 2543 แล้วถึง 4 ปีต่อมา อีกทั้งการโอนหุ้นแอมเพิลริชซึ่งถือครองหุ้นชินคอร์ปถึง 32 ล้านหุ้นให้นายพานทองแท้โดยคิดราคาเพียง 1 เหรียญสหรัฐฯ ก็เป็นข้ออ้างที่ไม่เหตุผลให้รับฟังได้

ประเด็นข้อต่อสู้ว่า นายพานทองแท้และน.ส.พินทองทา เป็นเจ้าของแอมเพิลริชจึงถูกกรมสรรพากรเรียกให้เสียภาษี ดังนั้นจึงแอมเพิลริชจึงไม่ใช่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นว่า การที่กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีก็เป็นไปตามประมวลรัษฏากรมาตรา 61 เกี่ยวกับผู้มีรายได้ เมื่อบุคคลมีชื่อในหนังสือสำคัญถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ดังนั้นการเรียกเก็บภาษีจากหุ้นดังกล่าวก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ข้อคัดค้านนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนเมื่อมีการโอนขายหุ้น ในช่วงปี 2544 นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทาไม่เคยเข้าร่วมประชุมบริษัทแต่มอบฉันทะบุคคลอื่นในการบริหาร ทั้งที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเอไอเอสซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับสัมปทานโทรคมนาคมและมีกิจการดาวเทียม ต่อมายังขยายทำสถานีไอทีวี สายการบินไทยแอร์เอเชีย ขณะที่คณะกรรมการของบริษัท 6 คนมีนายบรรณพจน์เท่านั้นที่ถือหุ้นชินคอร์ปอยู่ และภายหลังจะเปลี่ยนแปลงสัดส่วนบอร์ดเป็น 9 คนก็มีเพียง นายนิวัติ บุญทรงที่ถือหุ้นอยู่เพียง 0.0047% เท่านั้น ดังนั้นจึงรับฟังได้ว่าอำนาจการบริหารและตัดสินใจมีการกระทำแทนโดยผ่านคณะกรรมการที่ถือหุ้น และรับฟังไม่ได้ว่า นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ป 48 % ซึ่งมีอำนาจควบคุมนโยบายการดำเนินกิจการ

ประเด็นวินมาร์คซึ่งถือครองหุ้นเอสซี แอสเสท และบริษัทอสังหาริมทรัพย์อีก 5 บริษัทรับฟังผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าเป็นการอำพรางหุ้น

องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ยังคงเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปที่ขายให้กองทุนเทมาเส็ก 1,419 ล้านหุ้นเศษตามคำร้องของอัยการสูงสุดในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 วาระ

แปลงสัมปทานฯ เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป-มติเสียงข้างมาก
ประเด็นเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบเอื้อประโยชน์ชินคอร์ปหรือไม่ ได้ความจากนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ เบิกความนำเสนอความเห็นว่าจากผลการทำวิจัยว่าการแปรหรือไม่แปรสัญญาณสัมปทาน จะต้องได้รับความสมัครใจจากทั้งสองฝ่าย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ แต่ต้องไม่ให้เอกชนได้รับผลประโยชน์มากกว่าสัญญาเดิม ที่ ครม.มีมติออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องกำหนดภาษีสรรพสามิต และครม.มีมติให้นำภาษีหักค่าสัมปทานได้นั้น ขัดกับหลักการและเหตุผลที่ครม.ดำเนินการออก พ.ร.ก.ภาษีในครั้งนี้ที่มุ่ประสงค์หารายได้เข้ารัฐแต่กลับยอมให้เอกชนนำค่าภาษีไปหักค่าสัมปทานอีกทั้งกิจการโทรคมนาคมเป็นประโยชน์กับประเทศรัฐควรส่งเสริมไม่ควรเรียกเก็บภาษีเพราะไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยและเป็นการผลักภาระให้ประชาชนการที่มติ ครม.ให้นำเอาภาษีสรรพสามิตไปหักค่าสัมปทานทำให้ ทศท.ไม่ได้ประโยชน์อะไร ดังนั้นเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา เป็นการทำให้รัฐเสียหายเอื้อประโยชน์ให้กับชินคอร์ปโดยได้ความจากพยานผู้ร้องว่า การออกนโยบายดังกล่าวทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 6 หมื่นล้านบาทเศษ จึงมีมติเสียงข้างมากว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจในตำแหน่งเอื้อประโยชน์ทำให้รัฐเสียหาย

ประเด็นการแก้ไขสัญญาอัตราจัดเก็บภาษีมือถือระบบเติมเงินหรือพรีเพด ได้ความว่า นอกจากเอสไอเอสแล้วยังมีแทคที่ได้รับสัญญาสัมปทานเป็นเวลา 27 ปี แต่แทคต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงสัญญาณจากทศท. 200 บาทต่อหนึ่งเลขหมายต่อมามีระบบพรีเพด ทศท.ปรับลดอัตราภาษีให้กับแทคเนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องค่าเชื่อมโยงเป็นเหตุให้เอไอเอสขอลดบ้างโดยอ้างว่า สัญญาที่เอไอเอสทำกับ ทศท.แตกต่างกับแทคโดยจะเห็นได้ว่าเอไอเอสได้ให้บริการพรีเพดตั้งแต่ปี 2541 โดยอ้างว่าเป็นโปรโมชั่นให้ผู้ใช้บริการ จึงเป็นภาระเอไอเอสที่จะต้องลงทุนปรับระบบซึ่งเชื่อว่าเอไอเอสมีกำไรจากระบบพรีเพดเพราะเมื่อครบสัญญาก็ยังขอขยายเวลาอีก 3 ปีถ้าไม่กำไรคงไม่ขอต่อ ดังนั้นการแก้ไขสัญญากับ ทศท.จึงเป็นการผิดหลักเกณฑ์ เอไอเอสได้ประโยชน์จากระบบพรีเพดจากเดิมมีเพียง 2.7 แสนคนเป็น 17 ล้านคนมีรายได้กว่า 5.8 หมื่นล้านบาทเสียงข้างมากจึงมีมติเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้เอไอเอสธุรกิจเครือชินคอร์ป

ประเด็นการแก้ไขสัญญาเชื่อมต่อสัญญาณ หรือ โรมมิ่ง ได้ความว่า ชินคอร์ปถือหุ้นในเอไอเอสถึง 42.90% เมื่อปี 2533 เอไอเอสได้รับสัญญาสัมปทานโทรศัพท์ 20 ปีต่อมาปี 2539 ขยายเวลาเป็น 25 ปีและต้องการขยายลูกค้าโดยไม่ลงทุนสร้างเครือข่ายเพิ่มแต่กลับใช้บริการของดีพีซี ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านโครงข่ายที่เอไอเอสถือหุ้นแล้วมาขอแก้ไขสัญญาโรมมิ่ง โดยอ้างว่า ทศท.ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ให้เพียงพอรองรับลูกค้าได้ ซึ่ง ทศท.ควรรับผิดชอบเห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวเป็นข้ออ้างของเอไอเอสที่ไม่ลงทุนทางธุรกิจในการขยายโครงข่ายเพราะเรื่องคลื่นความถี่เอไอเอสสามารถคาดการได้อยู่แล้วในช่วงการทำสัญญากับ ทศท.ว่าจะมีขีดความสามารถให้บริการได้เท่าไร เมื่อ ทศท.จัดสรรคลื่นให้เอไอเอสจนเต็มความสามารถแล้วจึงไม่อยู่ในข่ายที่ ทศท.ต้องรับผิดชอบ การที่เอไอเอสเลือกขยายเครือข่ายโดยใช้บริการดีพีซีของเอไอเอสแทนที่จะก่อสร้างเครือข่ายเพิ่มจึงไม่อาจนำมาอ้างได้ เสียงข้างมากจึงมีมติเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์จากการแก้ไขสัญญา

แก้ไขสัมปทานดาวเทียมเอื้อชินคอร์ป-มติเสียงข้างมาก
ประเด็นปัญหาที่วินิจฉัยต่อไปเรื่องการส่งดาวเทียมไอพีสตาร์ขึ้นไปเป็นดาวเทียมสำรองให้กับดาวเทียมไทยคม 3 เห็นว่าสัญญาระบุให้การส่งดาวเทียมไทยคม 3 ขึ้นไปนั้น จะต้องมีดาวเทียมสำรองเป็นดาวเทียมไทยคม 4 เพื่อใช้เป็นการสื่อสารภายในประเทศเท่านั้น โดยบริษัทชินคอร์ปฯเป็นผู้ได้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 31 ก.ย. 34 แต่ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มีมติให้เปลี่ยนแก้ไขไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมไทยคม 4 ก่อนเสนอให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ลงลายมือชื่อขอให้รับรองการประชุมในลักษณะหนังสือเวียน ต่อมา รมว.คมนาคม มีหนังสือแจ้งไปยัง บ.ไทยคม ว่าได้อนุมัติให้ไอพีสตาร์แล้ว เห็นว่าการดำเนินการเรื่องนี้เป็นการดำเนินการลัดขั้นตอน รวบรัด เร่งรีบผิดวิสัย ซึ่งคุณสมบัติของไอพีสตาร์นั้น มีลักษณะเป็นดาวเทียมใหม่ ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองให้ไทยคม 3 ที่มีคลื่นซีแบนและเคยูแบน แต่กลับแก้ว่าไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรอง ทำให้จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการยิงดาวเทียมไทยคม 4 ทำให้บ.ชินคอร์ปไม่ปฏิบัติไปตามสัญญาสัมปทาน

ทั้งนี้เห็นว่าไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมที่ให้บริการต่างประเทศเป็นหลักร้อยละ 94 โดยรองรับการใช้อินเทอร์เน็ตในต่างประเทศ และใช้ภายในประเทศร้อยละ 6 ถือว่าเป็นโครงการใหม่นอกสัญญาณสัมปทาน ซึ่งจะต้องเปิดประมูล ทำให้ไม่ต้องเปิดประมูลแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น โดยผู้ถูกกล่าวหาขณะที่เป็นนายกฯ ได้อนุมัติให้แก้ไขทางเทคนิค จึงมีมติเสียงข้างมากว่ากรณีดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทชินคอร์ปฯ กับ บริษัทไทยคม

ปล่อยเงินกู้พม่าเอื้อประโยชน์ชินฯ-มติเสียงข้างมาก
ประเด็นการปล่อยกู้พม่า 4 พันล้านบาท ได้ความว่า รัฐบาลพม่าทำเรื่องขอกู้ 3 พันล้านเพื่อลงทุนพัฒนาก่อสร้างขั้นพื้นฐานภายหลังขอกู้เพิ่มอีก 2 พันล้านโดยระบุจะนำไปพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศเสนอว่าจะเป็นผลเสียเนื่องจากครอบครัวนายกฯ ทำธุรกิจโทรคมนาคมใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่ผู้ถูกกล่าวหาก็ยังอนุมัติให้ไป 4 พันล้านบาทซึ่งเห็นว่าการอนุมัติสินเชื่อนั้นไม่เป็นไปตามกรอบนโยบายมีผลประโยชน์จากการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม จนที่สุดบริษัทชินแซท ฯ ได้ทำสัญญากับพม่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกฯ นำเรื่องปล่อยกู้ต่ำกว่าทุนเข้า ครม.อนุมัติผิดวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งธนาคารเอ็กซิมแบงก์ อีกทั้งยังให้กระทรวงการคลังจัดสรรรายได้ชดเชยส่วนต่างค่าเสียหายรายปีประมาณ 140 ล้าน แสดงให้เห็นว่าการอนุมัติเพิ่มเติมให้พม่าเพื่อต้องการได้รับประโยชน์ของชินแซทฯ เสียงข้างมากมีมติเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์กับชินแซทธุรกิจเครือชินคอร์ป

ยึดคืนเงินปล้นชาติ 4.6 หมื่นล้าน! - มติเสียงข้างมาก
กรณี 5 มาตรการเป็นผลจากการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ เห็นว่า นายกฯ มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เป็นหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารทุกกระทรวง ทบวง กรมและรัฐวิสาหกิจ เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาใช้อำนาจในตำแหน่งนายกฯ เอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัวตามคำร้องจริง ส่วนเงินต้องตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ เมื่อฟังได้ว่าหุ้นชินคอร์ปถือครองโดยผู้ถูกกล่าวหามีนโยบายเอื้อให้มูลค่าหุ้นสูงขึ้นก่อนขายไปและนำเงินปันผลและเงินค่าขายหุ้นไปไว้ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 -5 จึงเป็นการได้มาโดยไม่สมควร ศาลจึงมีอนุญาตสั่งให้เงินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตาม คปค. ฉบับที่ 30 และ พรบ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าทรัพย์สินส่วนหนึ่งเป็นสินสมรส จึงมีปัญหาว่าจะสั่งให้ทรัพย์ส่วนนี้ตกเป็นของแผ่นดินได้หรือไม่ เพราะการที่อ้างว่าเป็นสินสมรสต้องได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่การไต่สวนได้ความว่า ทั้งสองร่วมกันก่อตั้งชินคอร์ปโดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริหาร ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการทรัพย์สินแม้ตอนขายหุ้นก็ยังจ่ายเงินแทน และผู้ถูกกล่าวหานำเงินมาคืนภายหลังแสดงให้เห็นว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันตลอดมาเมื่อฟังได้ว่าเงินขายหุ้นได้มาโดยมิชอบ จึงไม่อาจอ้างเป็นสินสมรสได้ ส่วนศาลจะให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้เท่าไรนั้นเห็นว่า พรบ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ระบุไว้ 2 กรณีคือ ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือหนี้สินลดลงจากเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งต่างกับตอนพ้นตำแหน่ง และกรณีร่ำรวยผิดปกติได้ทรัพย์มาโดยไม่สมควรจากการใช้ตำแหน่ง พิจารณาตามมูลเหตุคำร้องแล้วเห็นว่าเป็นกรณีที่ใช้อำนาจหน้าที่ทำให้มีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติ

ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เงินซื้อขายหุ้นและเงินปันผล ศาลควรมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อปรากฎว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ได้ใช้อำนาจตำแหน่งเอื้อประโยชน์บริษัทเอไอเอส และบริษัทไทยคมแล้วบริษัทชินคอร์ปฯ ซึ่งถือหุ้นทั้งสองบริษัทย่อมได้รับประโยชน์โดยตรงจากผลกำไร การที่ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา และคุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1 ให้นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบรรรพจน์ ผู้คัดค้านที่ 2-5 ถือหุ้นแทนบริษัทชินคอร์ปฯ ดังนั้นศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542

ขณะที่การสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจำนวนเท่าใด ต้องวินิจฉัยก่อนว่าคุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ร่วมกันมีประโยชน์จากการถือครองหุ้นจำนวนเท่าใด ศาลเห็นว่า ในการโอนขายหุ้นชินคอร์ปให้ บ.แอมเพิลริช ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ปรากฏว่าเงินที่ใช้ซื้อหุ้นดังกล่าวก็เป็นทรัพย์สินของคุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเห็นได้ว่าคุณหญิงพจมานซึ่งเป็นคู่สมรส พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้แสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ส่วนการจะมีคำสั่งให้ทรัพย์ที่ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปฯ ตกเป็นของแผ่นดินจำนวนเท่าใด ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย เมื่อปรากฏว่าก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 44 จากการพิจารณาเอกสารเกี่ยวกับมูลค่าหุ้นพบว่า ขณะนั้นหุ้นชินคอร์ปฯ มีราคาหุ้นสูงอยู่ที่ 213.09บาท และต่อมาเมื่อหุ้นชินคอร์ปได้มีการแตกพาร์จากหุ้นละ 10 บาทเหลือหุ้นพาร์ละ 1 บาท เท่ากับว่ามูลค่าหุ้น 213.09 บาทจะลดลงอยู่ที่ 21.309 บาท และเมื่อนำมาคิดคำนวณกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของชินคอร์ปที่ขายให้เทมาเส็กจำนวน 1,419,490,115หุ้น จะเป็นเงิน 30,000 ล้านบาทเศษ ดังนั้นการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินก็จะต้องนำเงินจำนวน 30,000 ล้านบาทเศษ ไปหักจากมูลค่าที่ขายหุ้นเทมาเส็กทั้งหมดมูลค่า 69,000 ล้านบาทเศษ คงเหลือมูลค่าการซื้อขายหุ้นที่ศาลจะมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 39,774,168,325.70 บาท ศาลจึงมีมติด้วยเสียงข้างมาก มีคำสั่งให้เงินซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ จำนวน 39,774,168,325.70 บาท และเงินปันผลที่ได้จากการขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมดจำนวน 46,373,687,454.70 บาท โดยศาลพิจารณาตามบัญชีทรัพย์สินที่อายัดไว้ในชั้น คตส. ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา คุณหญิงพจมาน นายพานทองแท้ นางสาวพิณทองทา นางสาวยิ่งลักษณ์ และนายบรรณพจน์ ผู้คัดค้านที่ 1-5 มีจำนวนเพียงพอที่จะบังคับคดีได้ หากไม่เพียงพอก็ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1-5 ที่คตส.อายัดไว้แล้วและมีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัดผู้คัดค้านที่ 7, 8, 14 ,17 และ 19 ที่คตส.มีคำสั่งเพิกถอนการอายัดทรัพย์แล้วรวมทั้งผู้คัดค้านรายอื่นด้วย

ภายหลัง นายเศกสรร บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐดิจและทรัพยากร หัวหน้าคณะทำงานอัยการ กล่าวว่า ตนและคณะทำหน้าที่ทนายของแผ่นดินอย่างสมบูรณ์แล้ว คดีถือว่าจบ หลังจากนี้จะขอคัดสำเนาคำพิพากษาก่อนส่งให้ ป.ป.ช. ทำตามคำสั่งศาลต่อไป

นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ไม่อยากพูดอะไรขอปรึกษาพ.ต.ท.ทักษิณก่อนโดยจะคัดคำพิพากษาไปศึกษาอีกครั้งว่าจะมีประเด็นใดให้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้หรือไม่ ส่วนพอใจหรือไม่พอใจคำพิพากษาไม่อาจวิจารณ์ได้เพราะต้องเคารพคำพิพากษา








กำลังโหลดความคิดเห็น