ภายหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับรับฟ้องคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เริ่ม"ดิ้น" เพื่อที่จะทวงเงินจำนวนมหาศาลคืน โดยเริ่มด้วยการ"จดทะเบียนหย่า"กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาที่ต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุล"ดามาพงศ์" อันเป็นสกุลเดิมแทน แต่เรื่องนี้ ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อรูปคดี ซึ่งอัยการระบุไว้ชัดเจนว่า "ประเด็นการหย่าแล้วจะเป็นเหตุผลให้คุณหญิงพจมาน ยื่นคำร้องค้านและขอให้ศาลฎีกาฯสั่งแยกทรัพย์สินในส่วนของตัวเองออกจากส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่ได้ เพราะทั้งสองเคยให้การกับ ป.ป.ช.ว่า ได้โอนขาดหรือโอนพราง หรือขายให้โดยมีค่าตอบแทนไปแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะต้องพิสูจน์ ส่วนคุณหญิงพจมาน อาจจะมาเป็นพยานให้ก็ได้ รวมทั้งการหย่าแม้จะทำให้ทั้งสองสามารถทำนิติกรรมเพียงลำพังได้ แต่ก็ไม่สามารถยื่นคำร้องของเพิกถอนทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ได้"
นอกจากนี้ ยังมีข้อปลีกย่อย ที่ฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณ พยายามที่จะถ่วงดุลคดียึดทรัพย์ ด้วยการให้นายตำรวจระดับสูงผู้หนึ่งออกมาให้ข่าวตอบโต้ว่า อาจจะดำเนินการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ให้การสนับสนุน เพื่อให้ป.ป.ง.ดำเนินการยึดทรัพย์บ้าง แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะป.ป.ง.ระบุชัดเจนว่า ต้องยึดหลักข้อกฎหมายเป็นสำคัญ ส่วนจะให้ไปตรวจสอบ ทรัพย์สินของใคร เพื่อหวังผลทางการเมืองนั้น ป.ป.ง.จะไม่ดำเนินการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 51 พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลขอขยายเวลาคัดค้านคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่น ออกไปอีก 30 วัน โดยอ้างว่า พยานหลักฐานของฝ่ายอัยการมีมาก ไม่สามารถยื่นคัดค้านได้ทัน ซึ่งศาลก็ปราณี ขยายเวลาให้ตามที่ฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณร้องขอ แต่ครั้นถึงกำหนดเวลาที่จะฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณจะต้องยื่นคัดค้าน ก็กลับขอขยายเวลาออกไปอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ศาลไม่หลงกล โดยให้เหตุผลว่า ให้เวลามาพอสมควรแล้ว จึงให้เริ่มการพิจารณาคดีได้ ขณะเดียวกัน ฝ่ายนคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ก็ให้ทนายความขอศาลขยายเวลาการยื่นคัดค้านออกไปอีกถึง 2 ครั้งเช่นกัน ซึ่งศาลก็ให้โอกาส
ครั้นวันที่ 20 ม.ค. 52 ทนายความได้ยื่นคำคัดค้านของนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวพ.ต.ท.ทักษิณ โดยยืนยันว่า "เงินและหุ้นซึ่งถูกฟ้องนั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นผลจากการกระทำผิดกฎหมาย แต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะดำรงตำแหน่งทางการเมือง"
หลังจากที่บุตรชายบุตรสาวของพ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นคัดค้านไปแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังไม่ละความพยายามที่ยื้อคดีให้ออกไปได้นานที่สุด โดยให้ทนายความ ยื่นคำร้องต่อศาลอีกครั้งว่า จะขอแถลงเปิดคดี ผ่านทางระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) มาจากต่างประเทศ แต่ทว่า ศาลไม่อนุญาต โดยระบุว่า ไม่มีเหตุอันควร พร้อมทั้งสั่งให้จัดทำแถลงเปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งต่อศาลภายใน 15 วัน ก่อนนัดพิจารณาครั้งแรก ถัดมาอีกเพียงแค่วันเดียว หลังจากที่ศาลไม่อนุญาตให้พ.ต.ท.ทักษิณ แถลงเปิดคดีผ่านระบบ VIDEO CONFERENCE ไปแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ยังพยายาม ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้รับมอบอำนาจของตน เป็นผู้แถลงเปิดคดีด้วยวาจาอีก แต่ไม่สำเร็จ ศาลสั่งยกคำร้อง และสั่งทำคำแถลงเปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งนัดไต่สวนพยานฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณ ครั้งแรกในวันที่ 16 ก.ค.52
ในการไต่สวนพยานนัดแรก ฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณ ให้นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายความ เบิกความคัดคต้านเป็นคนแรก โดยระบุว่า คณะของ คตส.ที่ไต่สวนคดีนี้ มีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ขึ้นเปบิกความเป็นลำดับที่ 2 ใจความสรุปว่า การโอนหุ้นชินคอร์ป ไปยัง “แอมเพิลริช” ถูกต้องตามระเบีบบ ก.ล.ต.เงินที่ได้จากขายหุ้นเทมาเส็กบริสุทธิ์ ควรตกเป็นของผู้ถือหุ้นเดิม ทั้งยังสระบุในตอนท้ายว่า ครอบครัวชินวัตร ไม่ได้รับความเป็นธรรมในชั้นไต่สวนของอนุกรรมคณะกรรมการตรวจสอบกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหานำทนายความ และพยาน ซึ่งเป็นเครือญาติ เข้าให้การและรับฟังการสอบสวน รวมทั้งอนุ คตส.ตั้งคำถามเพื่อให้พยานของครอบครัวชินวัตร ตอบอย่างที่ อนุ คตส.ต้องการ
อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานจากฟากของพ.ต.ท.ทักษิณเอง ที่ยื่นหลักฐานการโอนขายหุ้นเทมาเส็ก ซึ่งถูกระบุว่า เป็นของนายพานทองแท้ กับน.ส.พิณทองทานั้น แต่การเซ้นการโอนขายหุ้นดังกล่าว ที่ถูกนำไปยื่นต่อก.ล.ต. กลับปรากฏชื่อ T.SHINAWATRA เป็นผู้เซ็น โดยเมื่อไล่ชื่อคนในตระกูล"ชินวัตร"แล้ว ชื่อภาษาอังกฤษของคนในตระกูลที่ขึ้นต้นด้วยตัว T มีเพียง "ทักษิณ ชินวัตร"คนเดียวเท่านั้น!
หลายฝ่ายหลายคนที่ขึ้นเบิกความเป็นพยานให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อไม่ให้ถูกยึดทรัพย์จำนวนมหาศาลในครั้งนี้ จนกระทั่งถึงคิวของน้องสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเบิกความยืนยันว่า ซื้อหุ้นจากพี่ชายด้วยตัวเอง ไม่ได้ถือหุ้นแทน ขายหุ้นได้เงินไปลงทุนปล่อยกู้ สร้างบ้าน ไม่ได้คืนให้พี่ชาย แต่กลับถูก คตส.อายัดถึง 337 ล้าน
ในตอนท้ายของการขึ้นเบิกความ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ และไม่สามารถกลั่นน้ำตาไว้ได้ โดยเธอระบุว่า “ตั้งแต่วันแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจเข้ารับใช้ชาติ พี่น้องในครอบครัวต่างคัดค้านไม่อยากให้ลงมาเล่นการเมือง เพราะมีความกดดันมาก แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังยืนยันทำเพื่อชาติ จนกระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2549 ถูกทหารปฏิวัติ จากคนที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ กลับถูกกล่าวหาว่า เป็นคนทุจริตคดโกง รวมไปถึงญาติพี่น้องไม่สามารถอยู่รวมกันได้อย่างอบอุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีแม้ที่อยู่ในประเทศ ดิฉันไม่ใช่นักการเมือง ยังถูกผลกระทบเล่นงาน นับตั้งแต่ที่พี่ชายและครอบครัวถูกกล่าวหา ก็มีหมายเรียกให้ดิฉันไปเป็นพยาน แต่สิ่งที่ คตส.ทำแตกต่างกับคนอื่น ไม่ยอมให้คนครอบครัวชินวัตรนำทนายความเข้าร่วม ดิฉันต้องถูกคน 7-8 คน รุมถามด้วยคำถามนำ อยู่นานถึง 9 ชั่วโมง หุ้นทั้งหมด พ.ต.ท.ทักษิณ มีก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง และดิฉันก็ซื้อหุ้นนั้นมาด้วยความสุจริต คตส.ไม่เปิดโอกาสให้พิสูจน์ทรัพย์ การพิสูจน์ทรัพย์ จึงยังไม่สมบูรณ์หรือสิ้นสุด ขอศาลให้ความเป็นธรรมด้วย”
ถัดมาไม่นาน นายสมบูรณ์ คุปติมณัส ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และมูลนิธิไทยคม ในฐานะผู้คัดค้านที่ 17 ก็ขึ้นเบิกความ โดยยังระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และภริยา ขายหุ้นให้บุตรชายบุตรสาวและญาติ ก่อนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และแจ้งให้ป.ป.ช.ทราบแล้ว ตั้งแต่ปี 2548 แต่หลังรัฐประหารกลับถูกเล่นงาน
ทนายความผู้นี้ ยังเบิกความแก้ต่างที่ คตส.ตั้งข้อกล่าวหาว่า มีการทำหลักฐานตั๋วสัญญาชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นและเงินยืมค่าเพื่มทุนย้อนหลังเพื่อแก้ข้อกล่าวหานั้นด้วยว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากตั๋วใบเดิมที่ลงสถานว่าสั่งจ่ายให้ “นางพจมาน” สูญหายไป จึงได้จัดทำขึ้นใหม่และเปลี่ยนสถานใหม่ว่าเป็น “คุณหญิงพจมาน” เท่านั้นแต่มูลค่าเท่าเดิม ส่วนที่ไม่แจ้งความ เพราะเห็นว่าตั๋วสัญญาลงชื่อให้คุณหญิงพจมานเพียงคนเดียวที่มาขึ้นเงินได้ หากเป็นคนอื่นก็จะต้องถูกจับติดคุก อีกทั้งหลักฐานทางการเงินไม่สามารถสร้างย้อนหลังได้
3 ก.ย.52 นายพานทองแท้ ชินวัตร ในฐานะผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกอายัดเดินทางเข้าเบิกความ ยืนยันการซื้อขายหุ้นถูกต้อง มีการชำระเงินจริง ไม่ได้เป็นนอมินีถือหุ้นแทนผู้บังเกิดเกล้า ทั้งยังเบิกความสรุปว่า กาารไต่วนของคตส.มักใช้คำถามชี้นำ เมื่อยังตอบไม่จบ ก็มักสรุปว่า อย่างนั้นอย่างนี้
ถัดมาอีก 12 วัน เป็นคิวการขึ้นเบิกความของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ในฐานะพยาน โดยยืนยันถึงเรื่องขายหุ้นให้ "พานทองแท้ ชินวัตร และบรรณพจน์ ดามาพงศ์" เป็น ซื้อขายกันจริงไม่มีอำพราง ทั้งยังเบิกความในตอนท้ายด้วยว่า "ไม่เห็นด้วยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะลงเล่นการเมือง แต่ก็ไม่สามารถคัดค้านได้ ไม่เคยมอบเงินสนับสนุนพรรคพลังธรรมและไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีข้อตกลงอะไรพิเศษหรือไม่ หลัง พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นตำแหน่ง ต่อมาเมื่อปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มาขอเงินพยานและก่อตั้งพรรคไทยรักไทย แม้พยานจะเป็นผู้สนับสนุนให้เงินบริจาคพรรคไทยรักไทย แต่ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารพรรค ไม่มีตำแหน่งใดๆในพรรค และไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการในฐานะภริยาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังไม่เคยได้รับผลตอบแทนใดขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ บริหารราชการแผ่นดิน ภายหลังพยานและ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้จดทะเบียนหย่ากันที่ประเทศฮ่องกง โดยทำข้อตกลงกันว่าทรัพย์สินที่มีชื่อใครก็ให้บุคคลนั้นไป ส่วนที่มีข่าวว่าประเทศอังกฤษได้อายัดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ กว่า 100,000 ล้านบาทนั้นไม่เป็นความจริง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีทรัพย์สินในต่างประเทศ ส่วนบ้านพักในประเทศอังกฤษมูลค่า 200 ล้านบาทนั้นเป็นของพยาน"
การไต่สวนพยานฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้เวลานานร่วม 4 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.2552 ซึ่งการสืบพยานศาลกำหนดนัดไต่สวนสัปดาห์ละ 2 วัน โดยพยานที่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ นำเข้าไต่สวนมีจำนวนกว่า 30 ปาก ซึ่งพยานหลักคือผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สิน รวม 22 ราย ประกอบด้วยบุคคลในครอบครัว อาทิ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ, นายพานทองแท้, น.ส.พิณทองทา บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ และพยานอื่น เช่น นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการยื่นคำให้การคดีต่างๆ, นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน และ นายสมบูรณ์ คุปติมนัส ผอ.อาวุโสฝ่ายกฎหมายบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน). ซึ่งเคยเป็นผู้รับมอบอำนาจคุณหญิงพจมาน ยื่นซองประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก รวมทั้ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ
มหากาพย์"ยึดทรัพย์"ตอน 2 กลโกงที่แยบยล
มหากาพย์ “ยึดทรัพย์” ตอน (1) “คตส.” อายัดไม่ได้มั่วเหมือนยุค รสช.