เปิดคำพิพากษาน้องชายทักษิณ “พายัพ ชินวัตร” ศาลสั่งล้มละลายพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
วันนี้ (3 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากคดีที่ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ชินวัตรไทย จำกัด หรือบริษัท บางกอกผ้าไทย จำกัด ลูกหนี้
ตามโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2537 จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ประเภทสินเชื่อระยะสั้นวงเงินกู้ 20 ล้านบาท เมื่อจำเลยเบิกเงินกู้จากโจทก์จะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามที่ระบุในตั๋ว กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน หากผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาจำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ A97006020 สัญญาว่าจะจ่ายเงิน 10 ล้านบาท แก่โจทก์เมื่อทวงถาม ดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อไป กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน หากผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 40 ต่อปี นอกจากนี้จำเลยยังค้างชำระดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ A97002669 กับโจทก์ด้วย
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2544 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลย โจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันจำนวน 25,690,137.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 40 ของเงินต้น 10 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน แต่โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลล้มละลายกลาง ต่อมาศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการจำเลย โจทก์จึงขอรับเงินที่จำเลยวางไว้ต่อสำนักงานวางทรัพย์เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ในระหว่างที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลย ยอดหนี้คำนวณเพียงวันฟ้องล้มละลายคิดเป็นเงินต้น 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ A97002669 จำนวน 631,232.84 ล้านบาท และดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ A97006020 จำนวน 40,761,643.84 บาท หักเงินที่จำเลยวางชำระหนี้ดังกล่าวจำนวน 208,004.54 แล้ว เป็นยอดค้างชำระหนี้ทั้งสิ้น 50,884,872.17 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนและมีจำนวนมากกว่า 2,000,000 บาท โดยโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้รวม 2 ครั้ง ระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จึงต้องข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยมีทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งยังมีรายได้จากการประกอบธุรกิจ สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทั้งหมด มูลหนี้ตามฟ้องไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนเพราะเกิดจากการคิดดอกเบี้ยร้อยละ 40-45 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายหมาย ซึ่งโจทก์เคยฟ้องผู้ค้ำประกันในมูลหนี้ตามฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลพิพากษาให้ผู้ค้ำประกันรับผิดในดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เท่านั้น จึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลพิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ โจทก์มีพนักงานซึ่งเป็นหัวหน้าสินเชื่อ เบิกความว่า โจทก์มีหนังสือให้จำเลยชำระหนี้ 2 ครั้ง จำเลยได้รับแล้วไม่ชำระ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม ม.8 (5) พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 แต่จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว
ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามูลหนี้ตามฟ้องคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 40-45 ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นโจทก์นำสืบว่าคิดดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย และกรณีผู้ค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องโจทก์ได้ยื่นฟ้องศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ผู้ค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องรับผิดในส่วนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจให้ในฐานที่เป็นเบี้ยปรับ กรณีจึงไม่อาจถือว่ามูลหนี้ตามฟ้องโจทก์ไม่อาจถือว่ามูลหนี้ตามฟ้องไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน ส่วนโจทก์สมควรได้รับชำระหนี้ในอัตราดอดเบี้ยเท่าใดเป็นปัญหาชั้นยื่นคำรับชำระหนี้ ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจเสนอความเห็นให้ศาลลดเบี้ยปรับลงตามที่เห็นสมควรได้
จึงมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ม.14
ต่อมา เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาคดีที่ บริษัทบริหารสินทรัพย์สาทร จำกัด เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บ.บางกอกผ้าไทย นายพายัพ และ บ.เฟิร์สท์ ช๊อพ จำกัด หรือ บ.ชินวัตรไทยช๊อพ จำกัด ลูกหนี้ที่ 1-3 เรื่องล้มละลาย โดยเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสามเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ลูกหนี้ทั้งสามไม่ให้การต่อสู้คดี ระหว่างพิจารณาลูกหนี้ที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงให้จำหน่ายคดีในส่วนของลูกหนี้ที่ 1
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แล้วได้ความจริงว่า นายพายัพ ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้ที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคล เป็นหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน ดั้งนั้นนายพายัพ ลูกหนี้ที่ 2 และ ลูกหนี้ที่ 3 จึงมีหนี้สินพ้นตัวเพราะมีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน โดยลูกหนี้ทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ต้องข้อสันนิษฐาน ม.8 (5) พ.ร.บ.ล้มละลาย จึงมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ นายพายัพ ลูกหนี้ที่ 2 และ ลูกหนี้ที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ม. 14