xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรับฟ้อง “อภิสิทธิ์” ฟ้องหมิ่น “จตุพร” ฮึ่ม! ไม่ยอมความ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางมาไต่สวนมูลฟ้องคดีฟ้องหมิ่นนายจตุพร
ศาลสั่งรับฟ้อง “อภิสิทธิ์” ฟ้องหมิ่น “จตุพร” ปราศรัยกล่าวหายึดพระราชอำนาจไม่เสนอถวายฎีกาอภัยโทษอดีตนายกฯ ทักษิณ-เป็นอาชญากรสั่ง ตร.-ทหารฆ่าประชาชน ชี้คดีมีมูล ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย 8 ก.ค.นี้


วันนี้ (17 ม.ค.) เวลา 09.00 น.ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ คดีหมายเลขดำ อ.4176/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328,332 กรณีเมื่อวันที่ 11 และ 17 ต.ค.52 นายจตุพรกล่าวปราศรัยในการชุมนุมของ นปช. และเสื้อแดง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และทำเนียบรัฐบาล กล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ยึดพระราชอำนาจ โดยไม่เสนอให้มีการถวายฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกล่าวหานายอภิสิทธิ์เป็นฆาตกร อาชญากร สั่งทหารฆ่าประชาชนและสร้างสถานการณ์การจลาจลที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง นางเลิ้ง และถนนเพรชบุรี ซ.5 และ ซ.7 ช่วงเดือน เม.ย.52 และ เหตุการณ์จลาจลที่เมืองพัทยา

โดยนายอภิสิทธิ์ขึ้นเบิกความเป็นพยานเพียงปากกเดียว สรุปว่า จำเลยได้กล่าวปราศรัยกล่าวหาว่าโจทก์ไปยึดพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อไม่ให้กลุ่มคนเสื้อแดงได้ยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ และยังกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรสั่งทหารฆ่าประชาชนในช่วงที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมในพื้นที่ กทม. และพัทยา เมื่อเดือน เม.ย. 52 ทั้งนี้ การขอพระราชทานอภัยโทษก็เป็นประเพณีปฏิบัติกันมา ซึ่งการจะยื่นมีขั้นตอนและต้องตรวจสอบความถูกต้องจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม โดยกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีการรวบรวมรายชื่อจำนวนมากถึงหลักล้านคน ก็ต้องใช้ตรวจสอบนานมากกว่าบุคคลอื่น ขณะที่การยื่นถวายฎีกาจะต้องเป็นกรณีนักโทษเด็ดขาด แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับโทษแล้ว แต่เป็นผู้ที่หลบหนีออกหมายจับ โดยในกลุ่มของจำเลย นายวีระ มุสิกพงศ์ ก็เคยยื่นถวายฎีกามาแล้วในคดีที่นายวีระเป็นนักโทษเด็ดขาดรับโทษมาแล้ว จำเลยจึงย่อมรับทราบถึงระเบียบขั้นตอนการยื่นถวายฎีกา และจำเลยเป็นนักการเมืองย่อมสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ส่วนการพิจารณาการถวายฎีกานั้น เมื่อวันที่ 14 ม.ค.53 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์แล้วว่าตรวจสอบรายชื่อไปแล้วกว่า 1.2 ล้านชื่อ ซึ่งการตรวจสอบยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยตรวจสอบรายชื่อเพื่อดูความถูกต้องและความเกี่ยวโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะการยื่นถวายฎีกา ผู้ที่ลงชื่อจะต้องมีส่วนได้ส่วนเสีย เกี่ยวพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไรก็ดี การรวบรวมรายชื่อถวายฎีกาก่อนหน้านี้ มีทั้งนักวิชาการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งข้าราชการระดับปลัดหรือเทียบเท่าก็ได้แสดงความเห็นคัดค้านการดำเนินการว่า ไม่เหมาะสม โดยเห็นว่าเป็นการกดดันพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ยังเบิกความถึงเหตุจลาจลในพื้นที่ กทม.และเมืองพัทยา ช่วงเดือน เม.ย.52 ยืนยันว่า การสั่งควบคุมสถาการณ์โจทก์ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความละมุนละม่อม ที่สำคัญเน้นการรักษาความสงบไม่ได้สั่งให้ทำร้ายประชาชนโดยที่สุดแล้วการสลายการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเกิดขึ้นด้วยการเจรจาโดยผู้ชุมนุมออกไปจากทำเนียบรัฐบาล ขณะที่เหตุจลาจลผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กล่าวปลุกระดมประชาชนให้มาชุมนุม โดยการเกิดเหตุจลาจลที่สามเหลี่ยมดินแดง นางเลิ้ง ถนนเพชรบุรี และการประชุมสุดยอดผู้นำทีเมืองพัทยา จำเลยได้กล่าวปราศรัยปลุกระดมประชาชนตั้งแต่วันที่ 4-5 เม.ย.52 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเลยยังให้สัมภาษณ์ว่า การปฏิบัติการนั้นมีการระดมเงินจำนวน 5 ล้านบาท โดยกรณีดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ขณะที่ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้วิดีโอลิงก์ มาวันที่ 9 เม.ย.52 ระบุว่า อย่ากลับบ้านมือเปล่า ซึ่งสื่อความหมายว่าให้ทำการปฏิวัติประชาชนให้สำเร็จ

ส่วนเหตุการณ์จลาจลที่บริเวณนางเลิ้ง พบว่าประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าวได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะทนไม่ได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 คน โดยเหตุการณ์จลาจลที่เมืองพัทยา ประเทศสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงถึงผู้ชุมนุม และ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อให้ยุติความรุนแรง ขณะที่ นสพ.ไทม์ (TIME) ได้เสนอข่าวยกย่องโจทก์ว่าเป็นผู้นำชาติให้ผ่านวิกฤตจลาจล โดยเหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นสภาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สรุปผลว่าไม่พบผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยคำปราศรัยของจำเลย ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ซึ่งการกระทำของจำเลยไม่ใช่การติชมด้วยความสุจริต แต่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงให้ร้ายโจทก์ ซึ่งจำเลยมีความอาฆาตต่อตัวโจทก์โดยแสดงออกเป็นระยะๆ ซึ่งโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยฐานหมิ่นประมาทไปแล้ว 2 สำนวน ขณะที่ต้นเดือน มี.ค.52 จำเลยเคยปราศรัยชักชวนผู้ชุมนุม ขัดขวางการเดินทางไปตรวจราชการที่ จ.ลพบุรีของโจทก์ด้วย

ภายหลังนายอภิสิทธิ์ โจทก์เบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล จึงมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา โดยนัดสอบคำให้การนายจตุพร จำเลย ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

หลังจากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความเป็นไปได้ เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยคดีกับนายจตุพรเพียงสั้นๆ ว่า ไม่อาจยอมความกันได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลอาญา สั่งรับฟ้องคดีที่นายอภิสิทธิ์ ยื่นฟ้องนายจตุพร เป็นจ้ำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ แล้ว 2 สำนวน 1.คดีหมายเลขดำที่ อ.404/2552 กรณีเมื่อวันที่ 12 ม.ค.52 นายจตุพรแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทย กล่าวหานายกรัฐมนตรีกระทำการมิบังควรตีตนเสมอพระเจ้าแผ่นดิน โดยนั่งเก้าอี้เทียบเสมอพระเจ้าแผ่นดินในการถวายรายงานราชการ และ 2.คดีหมายเลขดำที่ อ.1962/2552 กรณีเมื่อวันที่ 10 พ.ค.52 นายจตุพร กล่าวปราศรัยบนเวที นปช.ที่วัดไผ่ล้อม แขวงสีกัน เขตดอนเมือง ใส่ความว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลภายใต้ทรราช และโจทก์เป็นคนสั่งทหารให้ไปยิงประชาชนเป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์กรณีเรียก พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.เข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า ได้เรียกรักษาการ ผบ.ตร.มาพบเพื่อพูดคุยว่า ที่ก.ตร.มีมติเช่นเดิม จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งรักษากา รผบ.ตร.ชี้แจงว่า หลังจากนี้ ก.ตร.จะต้องส่งมติดังกล่าวไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ผู้มีอำนาจออกคำสั่งต่อไป ซึ่งในส่วนของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ นั้น ผู้ที่จะออกคำสั่งคือนายกรัฐมนตรี

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า แต่ท่านรักษาการ ผบ.ตร.เห็นว่าเรื่องดังกล่าวยังมีปัญหาประเด็นข้อกฎหมายอยู่ จึงจะไปดำเนินการให้ได้ข้อยุติทางข้อกฎหมาย เบื้องต้นคาดว่าจะส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาวินิจฉัย อย่างไรก็ตามจะยังไม่มีการรับนายตำรวจทั้ง 3 นายกลับเข้ารับราชการในช่วงนี้

“ครม.ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เห็นว่าเป็นเรื่องของรักษาการ ผบ.ตร.ที่จะรับไปดำเนินการอย่างไร สำหรับผมแล้วคิดว่าชัดเจนในข้อกฎหมาย เพราะทำเรื่องกฎหมายและติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเคยแจ้งความเห็นของกฤษฎีกาไปครั้งหนึ่งแล้ว นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เขาเห็นว่าเป็นความเห็นของเลขาฯคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ใช่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

เมื่อถามว่า ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีจะมีความเห็นจะไม่ค่อยลงรอยกับทางตำรวจมาโดยตลอดนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความเห็นทางกฎหมายของทาง ก.ตร. ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอะไรกัน ตนก็ไม่ได้มีปัญหาว่าเขามีความเห็นถูกต้องหรือไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริง แต่ผมบอกว่าเราก็ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมาย และรักษาหลักและระบบของบ้านเมือง

เมื่อถามต่อว่าการยึดถือหลักการและระบบ อาจจะทำให้ทางตำรวจบางส่วนไม่พอใจตัวนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าใครจะพอใจหรือไม่พอใจ แต่ไม่ใช่เรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ เข้าใจว่าตำรวจด้วยกันเองมีความรู้สึกอาจจะไม่พอใจคำวินิจฉัยต่างๆ แต่ตนมีหน้าที่ต้องรักษาระบบที่ถูกต้อง

กำลังโหลดความคิดเห็น