ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด มั่นใจการสำแดงราคาศุลกากรถูกต้องตามกฎหมายและสอดคล้องกับกฏระเบียบของศุลกากร ยันพร้อมต่อสู้คดีในชั้นศาลผ่านกระบวนการที่มีความเป็นธรรมและโปร่งใส
จากกรณีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เลื่อนสั่งคดีครั้งที่ 3 ที่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ยูไนเต็ด จำกัด และผู้บริหารซึ่งเป็นชาวไทยและต่างชาติ รวม 14 ราย ตกเป็นผู้ต้องหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และ พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 กรณีร่วมกันแสดงราคานำเข้าบุหรี่ราคาต่ำกว่าปกติ เพื่อชำระภาษีบุหรี่ต่อกรมสรรพสามิตที่น้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้รัฐเสียหายกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท
เนื่องจากผู้แทนบริษัท และกรรมการชาวไทย รวม 10 รายได้ทยอยยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในการสั่งคดี เพื่อขอให้สอบสวนพยานเพิ่มเติม โดยผู้ต้องหาอ้างว่าในชั้นสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่ได้แจ้งพฤติการณ์ลักษณะความผิดที่ชัดเจน จึงทำให้ไม่สามารถนำพยานหลักฐานแสดงและให้การต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น อัยการจึงรอพิจารณาว่ามีประเด็นใดที่จำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติม ทั้งนี้อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 นัดฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 19 ม.ค.53 เวลา 10.00 น.
วันนี้ (16 ธ.ค.) บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ยูไนเต็ด จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาได้ออกหนังสือชี้แจงว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวบกพร่องและไม่มีมูล บริษัทฯ ได้เตรียมพร้อมเพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลผ่านกระบวนการที่มีความเป็นธรรมและโปร่งใส
ทั้งนี้ บริษัทฯ เห็นว่าราคานำเข้าของบริษัทฯนั้นถูกต้องและสอดคล้องกับกฎหมายไทยและข้อตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากรขององค์กรการค้าโลก บริษัทฯ ได้ส่งเอกสารจำนวนหลายแสนหน้าไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เชื่อว่าเอกสารดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ ไม่ได้กระทำผิดทั้งในทางอาญาหรือในประเด็นอื่น บริษัทฯ เชื่อว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้ไม่มีมูล หลังจากที่สำนักตรวจสอบอากร กรมศุลกากร ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดเป็นเวลากว่าสองปี ก็ไม่พบการกระทำผิดในการ สำแดงราคานำเข้าของบริษัทฯฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ยังคงมั่นใจว่าหลังจากการพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆและกฎหมาย ศาลจะสรุปว่าราคานำเข้าของบริษัทฯสอดคล้องและถูกต้องตามกฎหมายศุลกากรของศุลกากรไทยและข้อตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากรขององค์กรการค้าโลก
ส่วนกรณีตามที่มีรายงานข่าวว่ามีการออกหมายจับบุคคล 4 คน หนึ่งในบุคคลทั้งสี่นั้นไม่ได้ทำงานที่ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดแล้ว และมิได้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาหลายปีแล้ว ส่วนอีกสามคนนั้นไม่ได้เป็นพนักงานของ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดและมิเคยพักอาศัยในประเทศไทย บริษัทฯ เชื่อว่าการดำเนินคดีต่อบริษัทฯเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลอันสมควรและนับเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลทั้งสี่อย่างไม่ยุติธรรม และบุคคลทั้งสี่มิได้หลบหนีออกนอกประเทศดังที่ปรากฏในรายงานข่าวแต่อย่างใด
ส่วนการดำเนินคดีต่อพนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานของฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดจำนวนหลายคน ทั้งๆ ที่สำนักตรวจสอบอากร กรมศุลกากรจะระบุว่าไม่พบการกระทำผิดของการสำแดงราคานำเข้าของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เชื่อว่าการดำเนินคดีนั้นไม่มีเหตุผลอันสมควรและนับเป็นการปฏิบัติต่อพนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม บริษัทฯ จะดำเนินการอย่างดีที่สุดเพื่อปกป้องพนักงานปัจจุบันและพนักงานในอดีตของเราเพื่อแสดงให้เห็นว่าข้อกล่าวหาของกรมสอบสวนคดีพิเศษนี้ไม่มีมูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 14 คนประกอบด้วย 1.บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ยูไนเต็ด โดยนายจรณชัย ศัลยพงศ์ 2.นายพอล ริชาร์ด ดิลแมน จูเนียร์ (Mr. Paul richard dillman Jr.) 3 นายศิราเอก สุนทราภัย 4.นายอุมศักดิ์ เรียวสงวนวงษ์ 5.นางดารัด วารณะวัฒน์ 6.น.ส.เสาวลักษณ์ อาภาเบิกบาน 7.น.ส.จรรยานี วิสุทธิ์กุลพาณิชย์ 8.น.ส.สุจินดา ไตรรัตน์เกยูร 9.นางทรรศสม ลาภประเสริฐ 10.น.ส.วราภรณ์ อภิเสถียรสุข 11.นางปิยาภรณ์ บรรจงกิจ 12.นางแอน มารี คากโซโรว์ สกี้ (Mrs.Ann Marie Kaczorow Ski) 13.นายเฮอร์มันน์ วาลเดอร์แมร์ (Mr.Hermann Waldermer) 14.นายแมทเทโอ ลอเลนโซ เพลเลกรินี (Mr.Matteo Lorenzo Pellegrini)
โดยผู้ต้องหา 4 ใน 14 คน ซึ่งเป็นชาวต่างชาตินั้นหลบหนีการจับกุม เจ้าหน้าที่ดีเอสไอจึงได้ขออนุมัติออกหมายจับจากศาลอาญาไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามตัวมาดำเนินคดี