xs
xsm
sm
md
lg

“นครบาล” สั่งคุมเข้มม็อบแดง จับตาต่างด้าว-ทหารพรานร่วมชุมนุมหวั่นป่วน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ
“นครบาล” แถลงภาพรวมม็อบแดงชุมนุมยังปกติ ยังไม่มีรายงานมือที่ 3 ออกป่วน สั่ง ตร.ปฏิบัติตามแผนธันวา 52 อย่างเคร่งครัด ตั้งจุดตรวจ-กำลัง ตร.นอกเครื่องแบบคุมม็อบแดง คาดร่วมงานแค่หมื่น พร้อมจับตาแรงงานต่างด้าว อาสาสมัครทหารพรานร่วมชุมนุม



วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เมื่อเวลา 10.30 น. พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผบก.ประจำ บช.น.ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล แถลงภาพรวมการดูแลความเรียบร้อยการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่า เมื่อเวลา 07.00 น.ที่ผ่านมา พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.ได้เรียกประชุมกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ระดับผู้บังคับหมวดขึ้นไป เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ รับทราบภารกิจ รวมถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปชี้แจงต่อให้กับผู้ปฏิบัติระดับชั้นประทวน

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า สถานการณ์การชุมนุมขณะนี้บริเวณพื้นที่ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตั้งเวทีที่ฐานอนุสาวรีย์หันหน้าไปทางแยกคอกวัว ตั้งแต่เมื่อเวลา 02.00 น. โดยเวทีมีขนาดไม่ใหญ่มาก ล้ำมาบนพื้นผิวจราจรเล็กน้อย สถานการณ์โดยทั่วไปยังปกติ ยังไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝั่งถนน มีการเปิดร้านจำหน่ายซีดีและเสื้อของกลุ่มผู้ชุมนุม

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อไปว่า พล.ต.ท.สัณฐาน ได้เน้นย้ำกำลังพลทั้งหมด 6 เรื่อง ได้แก่ การควบคุมดูแลการชุมนุมมีความชัดเจน นอกจากรองผบช.น.ฝ่ายความมั่นคงที่ดูแลสถานการณ์การชุมนุม ผบช.น.ยังได้สั่งการให้ พล.ต.ต.บุญส่ง พานิชอัตรา และพล.ต.ต.อนันต์ ศรีหิรัญ รองผบช.น.ซึ่งรับผิดชอบงานสายตรวจ ตั้งจุดตรวจ จุดสกัดและจุดตรวจค้นในพื้นที่ชุมนุม และพื้นที่โดยรอบ โดยมอบหมายให้ พล.ต.ต.อนันต์ ดูแลจุดตรวจจุดสกัดในพื้นที่ชุมนุมและบริเวณใกล้เคียง ส่วนพื้นที่อื่นๆ มอบหมายให้ พล.ต.ต.บุญส่ง รับผิดชอบดูแล โดยให้ปฏิบัติตามแผนธันวา 52 อย่างเคร่งครัด

“ในเรื่องของฝ่ายสืบสวนที่เดิมมอบหมายให้ พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูตร ผบก.สส.บช.น. รับผิดชอบดูแล ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ และ พล.ต.ต.เอื้อพงศ์ โกมารกุล ณ นคร รอง ผบช.น.ฝ่ายสืบสวนสอบสวน ลงไปกำกับดูแล โดยให้ระดมฝ่ายสืบสวนจาก กก.สส.น.1-9 ตปพ. ศูนย์สวัสดิภาพเด็กและเยาวชน และฝ่ายสืบสวนของทุกสถานีตำรวจมาเสริมการปฏิบัติ โดยให้เพิ่มกำลังตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าไปกับฝูงชนมากขึ้น เพื่อคอยสังเกตการณ์ หรือช่วยเหลือเมื่อมีเหตุต่างๆ โดยสนธิกำลังมาจากทุก สน. และมอบหมายให้อยู่ภายใต้การดูแลของรอง ผบช.น.ฝ่ายสืบสวนสอบสวน” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า สำหรับด้านการจราจรในพื้นที่ชุมนุม เดิมมอบหมายให้ พล.ต.ต.อุทัยวรรณ แก้วสะอาด ผบก.จร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น.รับผิดชอบงานจราจรลงไปดูแล ทั้งพื้นที่ชุมนุมและพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากในช่วงเย็นยังมีการจัดงานที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซื่งการจะปิดการจราจรหรือเบี่ยงการจราจรเป็นอำนาจตัดสินใจของ พล.ต.ต.ภาณุ ทั้งหมด

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ประการต่อมาให้รอง ผบก.น.1-9 และ ตปพ.ที่รับผิดชอบงานสายตรวจ ต้องออกไปตรวจสอบควบคุมการตั้งด่านตรวจรอบ กทม.ด้วยตนเองทุกนาย และให้ ผกก.แต่ละ สน.ตรวจสอบจุดตรวจต่างๆ ด้วยตนเอง โดยให้ระดับรอง ผกก.ทุกนายแจ้งการตรวจทุกจุดผ่านศูนย์วิทยุของ บก.ส่วนระดับผกก.ขึ้นไปนอกจากแจ้งผ่านศูนย์วิทยุของบก.แล้ว ให้ถ่ายทอดผ่านมายังศูนย์วิทยุของ บช.น.ด้วย เพื่อให้ ผบช.น.ได้ฟังวิทยุว่านายตำรวจนายใดได้ออกตรวจบ้าง นอกจากนี้ ได้กำหนดการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ โดยให้ระดับผบ.ร้อยขึ้นไป ต้องรายงานการปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดมายัง ศปก.น.ทุก 30 นาที

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่อื่นๆใกล้เคียงยังจะมีการเน้นการตรวจสอบด้วยเช่นกัน ซึ่ง ผกก.ก็จะต้องคอยดูแลตลอดทั้งคืนจนกว่าจะเลิกการชุมนุม นอกจากนี้ยังเตรียมเจ้าหน้าที่เจรจาต่อรองประสานกับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิดขอให้ชุมนุมอยู่ในกรอบกฎหมาย ในส่วนของทีมสอบสวนให้เก็บรวมรวมพยานหลักฐานตั้งแต่ก่อนการชุมนุมจนถึงเสร็จสิ้นการชุมนุม เพื่อมีกรณีที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่จะต้องใช้พยานหลักฐาน กำชับแจ้งให้กองหนุนของ บช.น.อีก 10 กองร้อยให้เตรียมพร้อม สามารถปฏิบัติงานได้ทันที และในขณะนี้ ตร.ได้อนุมัติในกรณีที่ บชน.ของกำลังเพิ่มเติม โดยแจงให้ภูธรภาค 1-9 ตชด. และสอบสวนกลาง พร้อมสนับสนุน ผบช.น.ได้ในทันที ทั้งนี้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารได้ประสานว่าได้เตรียมกำลังไว้พร้อมหาก บชน.ร้องขอ ซึ่งอยู่ในการตัดสินใจของ ผบช.น.ในฐานะ

“ผบช.น.ได้เน้นย้ำกับกำลังพลทุกนายปฏิบัติกรกฎ 52 ใช้ความอดทนอดกลั้นให้มากที่สุด คำนึงว่าผู้ชุมนุมทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธสามารถทำได้ ขอให้เจ้าหน้าที่ปฎิบัติตามกรอบของกฎหมาย ท่านยังขอให้เจ้าหน้าที่ทุกนายสบายใจได้ว่า ผบช.น.จะร่วมปฎิบัติงานไปด้วยกันตลอด โดยจะเป็น ผบ.เหตุการณ์ และรับผิดชอบทุกกรณีด้วยตัวเอง ตำแหน่งรอง ผบช.น-ผบ.หมู่ ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของ ผบช.น.สุดท้ายที่อยากประชาสัมพันธ์ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณชุมนุม หรือเข้าร่วมการชุมนุมหากพบเหตุหรือสิ่งใดต้องสงสัย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจใกล้เคียงทันที” โฆษก บชน.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวที่อาจเข้ามาร่วมชุมนุม พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ตำรวจจะต้องมีการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่จะเน้นตรวจสอบบุคคลต้องสงสัย โดยใช้สัญชาตญาณของตำรวจ อย่างไรก็ตาม คงจะไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบทุกคนได้เนื่องจากคนมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก

เมื่อถามถืงเรื่องมือที่ 3 พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ในทางการข่าวยังไม่พบผู้ไม่ประสงค์ดีจะเข้ามาป่วน ซึ่งจากการประเมินคาดว่าจะมีคนเข้ามาชุมนุมประมาณ1หมื่นคน โดยทางแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงแจ้งว่าจะมีคนเข้ามาชุมนุมเรื่อยๆ และจะไม่ชุมนุมยืดเยื้อ โดยได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ไปเจรจากับแกนนำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในวันพรุ่งนี้ (11 ธ.ค.) จะมีการจัดงานเฉลิมพระเกียรติต่อ ถ้าการชุมนุมยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเป็นวันที่ประชาชนจะเริ่มทำงานตามปกติอาจกระทบต่อประชาชนที่เดินทางไปมาได้

ขณะที่ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วย ผบ.ตร.มีคำสั่งถึง ผบช.น., ภ.1-9, ศตช. และ ตชด. ผู้ปฏิบัติ ตามที่มีการกำหนดให้มีการประชุมเตรียมการรองรับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในวันที่ 10 ธ.ค. ระหว่าง 12.00-24.00 น.ด้วยระบบทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) โดย พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ได้มีการกำชับสั่งการและเน้นย้ำการปฏิบัติดังนี้

1.เน้นให้ควบคุมกำกับดูแลการจัดวางกำลังการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผน 2.ให้ทุกหน่วยติดตามความเคลื่อนไหวของแกนนำ เครือข่าย หรือแนวร่วมของกลุ่มผู้ชุมนุมในพื้นที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด แล้วประสานการปฏิบัติกับ ศปก.น.อย่างใกล้ชิด 3.ให้ใช้การเจรจา ประชาสัมพันธ์กับกลุ่มแกนนำเพื่อลดประสิทธิภาพการเคลื่อนที่มาร่วมชุมนุมของกลุ่ม นปช.อันจะก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรง 4.ให้ทุกหน่วยเพิ่มความเข้มในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อตรวจค้นอาวุธและสิ่งของผิดกฎหมายที่อาจนำมาใช้ในการชุมนุม รวมทั้งระมัดระวังการก่อเหตุของบุคคลที่สาม

5.ให้ประชาสัมพันธ์และเตือนเจ้าของโรงงานหรือผู้ประกอบการสอดส่องดูแลลูกจ้าง (โดยเฉพาะลูกจ้างต่างด้าว) ที่อาจจะถูกชักจูงไปร่วมชุมนุม 6.ให้ ภ.3 ติดตามความเคลื่อนไหวกรณีปรากฎข่าวว่าจะมีอาสาสมัครทหารพรานเข้าร่วมเป็นการ์ดในการชุมนุม
กำลังโหลดความคิดเห็น