อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เชื่อ 2 ผู้ต้องหาคดีปล่อยข่าวลือทุบหุ้น น่าจะเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคล และนิติบุคคล โดยไม่เชื่อคำให้การเพียงการแปลข่าวเพื่อโพสต์ในคอมพิวเตอร์ แต่น่าจะมีเจตนาอื่นแฝงด้วย เตรียมหาหลักฐานพิสูจน์ความผิด ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายใน 30 วัน
วันนี้ (2 พ.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยถึงกรณีที่มีการจับกุมผู้ต้องหา 2 ราย คือ นายคทา ปาจริยพงษ์ อายุ 37 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง และน.ส.ธีรนันต์ วิภูชนิน อายุ 47 ปี อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งว่า ทราบว่า ผู้ต้องหาดังกล่าวได้กระทำความผิดกฎหมายหลายบททั้งความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งตำรวจสอบสวนกลางเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดีเอสไอมีอำนาจเข้าไปดำเนินการได้ โดยคดีดังกล่าวจะมีการประสานข้อมูลจากหลายส่วนทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และดีเอสไอ
นายธาริตกล่าวว่า เบื้องต้นเชื่อว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 รายน่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกับการเหตุการณ์ปั่นหุ้นและน่าจะส่วนเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลอื่นๆ อีกทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา เนื่องจากผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย เป็นชื่อที่ ก.ล.ต.มีอยู่แล้ว โดยในส่วนของดีเอสไอยังจะมีการรวบรวมข้อมูลในการตรวจสอบแหล่งข่าวที่อาจเชื่อมโยงกับการปล่อยข่าวทั้งสำนักข่าวในและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นแหล่งข่าวใดบ้างขอให้ได้ข้อเท็จจริงชัดเจนก่อนว่าสำนักข่าวนั้นๆ ได้มีพฤติกรรมเผยแพร่ข่าวสารที่เข้าข่ายกระทำความผิดมากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าข้ออ้างที่ผู้ต้องหาระบุว่าเป็นเพียงการแปลข่าวเพื่อโพสต์ในคอมพิวเตอร์นั้นไม่น่าจะเป็นเจตนาเพียงหนึ่งเดียวแต่น่าจะมีเจตนาอื่นแฝงด้วย โดยพนักงานสอบสวนจะให้ความสำคัญกับการพิสูจน์ความผิดโดยอาศัยจากการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยดีเอสไอ จะเร่งสอบสวนให้แล้วเสร็จให้เร็วที่สุด และกำลังเร่งการสอบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ เบื้องต้นตั้งเป้าว่าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
นายธาริตกล่าวถึงกรณีมีการเรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีของนายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์บีบีซี เป็นคดีพิเศษว่า เนื่องจากคดีความผิดของนายราเกซ เป็นคดีความผิดที่เกิดก่อน พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษประกาศใช้ ดังนั้น จึงยังอยู่ในอำนาจการสอบสวนของทางตำรวจ เว้นแต่จะมีผู้ร้องขอให้เป็นคดีพิเศษ ก็จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาขอมติจากคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อใช้ดุลพินิจเป็นคดีพิเศษต่อไป