ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมผู้แทน ร่วม 200 คน เข้าร้องกองปราบฯ แจ้งจับผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ทำตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นเหตุให้การให้บริการประชาชนไม่ปลอดภัย ชี้กรณีที่หยุดรถเพราะต้องเลือกเอาความปลอดภัยเป็นหลัก ระบุ ร.ฟ.ท.เข้าแจ้งความจับกลุ่มสหภาพไม่ถูกต้อง ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.-รมว.คมนาคม ต้องรับผิดชอบ
วันนี้ (22 ต.ค.) ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 10.00 น. นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนกลุ่มสหภาพ ร.ฟ.ท.ประมาณ 20 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ประภาส อ่องมะลิ พนักงานสอบสวน บก.ป. เพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีกับ นายยุทธนา ทัพเจิรญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนพนักงานซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพการรถไฟฯ พร้อมกันนี้ได้นำบันทึกข้อตกลงสภาพการจ้างระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับสหภาพแรงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ ปี 2544, 2545, 2552 และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 มามอบให้พนักงานสอบสวนเป็นหลักฐานด้วย
นายสาวิทย์กล่าวว่า ที่ต้องเข้าแจ้งความ ก็เนื่องจากผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ไม่ทำตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นเหตุให้การให้บริการประชาชนไม่ปลอดภัย จึงมีความจำเป็นต้องทำการซ่อมแซมอุปกรณ์รถจักรดีเซลที่มีกว่า 12 รายการให้เสร็จสิ้นก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดกรณีเช่นที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในจำนวนนี้มีสมาชิกสหภาพฯด้วย ซึ่งการปล่อยปละละเลยเช่นนี้จะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นตามมาอีกอย่างแน่นอน ถ้าหากยังไม่มีการซ่อมแซมแก้ไขให้ถูกต้อง
“กรณีที่ว่าการหยุดรถทำให้ประชาชนเดือดร้อนหรือไม่นั้นก็ต้องเลือกเอาว่าระหว่างความสะดวกกับความปลอดภัย ส่วนเรานั้นขอเลือกความปลอดภัยก่อน หากไม่ทำการแก้ไขก็ไม่สมควรจะปล่อยให้มีการใช้งาน เพราะจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีกได้ แม้ว่ารถไฟจะวิ่งได้ก็ตาม แต่อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยนั้นไม่ดีพอ” นายสาวิทย์กล่าว
นายสาวิทย์กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่การรถไฟไทย ส่งตัวแทนมาแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มสหภาพฯ นั้นก็ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องนี้หากมีอะไรเกิดขึ้นทางการรถไฟฯ และ นายโสภณ ซารัมย์ รมว.กระทรวงคมนาคม ก็ต้องรับผิดชอบด้วย
ทั้งนี้ สำหรับรายการอุปกรณ์ที่ตัวแทนสหภาพฯ ระบุว่า ต้องมีการแก้ไขซ่อมแซมอุปกรณ์ประกอบด้วย 1.ระบบ Vigilance 2.หวีดรถจักร Cab 3.Head Light Cab 4.ระบบโรยทราย Cab 5.Speed meter Cab 6.ซีลขอบประตูห้องเครื่อง 7.ปัดน้ำฝน Cab 8.Maker Light Cab 9.เกจวัดรอบ ENGINE Cab 10.ห้ามล้อมือ 11.ประตูห้องโดยสาร (รถดีเซลราง) 12.แผงไฟแสดงความผิดปกติของรถจักร และอื่นๆ