บก.ปคบ.บุกตรวจค้นร้านขายเครื่องสำอางภายในซอยสีหบุรานุกิจ ลักลอบขายผลิตภัณฑ์ไม่ผ่านการรับรองจาก อย.ยึดของกลางหมื่นชิ้น มูลค่า 5 แสน ขณะที่ตำรวจฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ได้มาตรฐาน โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เพราะทำให้เปลื้องเงินเปล่าประโยชน์ และได้รับอันตรายด้วย
วันนี้ (14 ต.ค.) ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เมื่อเวลา 18.30 น.พล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ ผบก.ปคบ.พร้อมด้วย ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานอาหารและยา (อย.) ร่วมกันแถลงข่าวจับกุม นายวิทยา เหล่าเทพพิทักษ์ อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 54 หมู่ 1 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา พร้อมของกลางเครื่องสำอางสำเร็จรูป 38 รายการ รวมประมาณ 10,000 ชิ้น อาทิ BACHI , KARME และ FALAYCIS รวมมูลค่าประมาณ 500,000 บาท ซึ่งบางรายการเป็นเครื่องสำอางที่ อย.เคยประกาศผลวิเคราะห์ให้ประชาชนทั่วไป ทราบว่า เป็นเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารห้ามใช้ ผู้บริโภคอาจไม่ได้รับความปลอดภัยในการใช้ และบางรายการเป็นเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ ไม่ผ่านการจดแจ้งจาก อย.
ทั้งนี้ ตำรวจ บก.ปคบ.ได้รับร้องเรียนว่ามีการจำหน่ายเครื่องสำอางอันตราย ซึ่งมีส่วนผสมของสารต้องห้าม และเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ผ่านการอนุญาตจาก อย.จึงนำกำลังพร้อมหมายค้นศาลจังหวัดมีนบุรี ที่ 1029/2552 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2552 เข้าตรวจค้นร้านขายเครื่อง สำอาง “มายแอนด์แคร์บิวตี้” ภายในซอยสีหบุรานุกิจ แขวงและเขตมีนบุรี กทม.
จากการเข้าตรวจค้นเจ้าหน้าที่พบ นายวิทยา แสดงตัวเป็นเจ้าของร้านดังกล่าว จึงควบคุมตัวมาสอบสวน พร้อมทั้งแจ้งข้อหา ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และข้อหาขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ไม่แสดงชื่อ ที่ตั้ง ผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก่อนส่งพนักงานสอบสวน สน.มีนบุรี รับไว้ดำเนินคดีต่อไป
พล.ต.ต.จตุรงค์ กล่าวว่า อยากฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ หรือซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือยา ที่ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรืออ้างว่ามีคุณภาพดีกว่าสินค้าอื่นๆ ที่จำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งความเป็นจริงแล้วอาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพที่นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคต้องสิ้นเปลืองเงินทองแล้วยังอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์นั้นๆ อีกด้วย ส่วนรูปแบบการโฆษณาปัจจุบันก็มีหลากหลายแบบ เช่น การโฆษณาขายผ่านเว็บไซต์ต่างๆ
พล.ต.ต.จตุรงค์ กล่าวอีกว่า หากผู้บริโภครายใดพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ผ่านการขออนุญาต จาก อย.อย่างถูกต้อง หรือพบเห็นการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคสามารถร้องเรียนมาได้ที่ บก.ปคบ.หรือสายด่วนผู้บริโภค 1556 ของ อย.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้หมดสิ้นไป
รายงานสดจากพื้นที่ข่าว
เดินทางไปกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)
Latitude: 13.821353 Longitude: 100.5679