xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชนโรงสูบฮือต้านรถแบ็กโฮรื้อถอนบ้านคืนที่ให้ ม.เกษตรฯ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ชาวบ้านพาผู้สื่ข่าวดูพื้นที่ที่ถูกรื้อถอน
ชาวชุมชนโรงสูบ ภายใน ม.เกษตรฯ รวมตัวประท้วงคัดค้านปิดทางไม่ให้เจ้าหน้าที่นำรถแบ็กโฮเข้าไปปรับหน้าดินพื้นที่รื้อถอนเตรียมสร้างอาคารวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม ขณะที่ปรึกษาคณะกรรมการชุมชนโรงสูบ ระบุ ชาวบ้านอยู่กันมากว่า 80 ปี เป็นที่ราชพัสดุ จึงมีบางส่วนที่ไม่ยอม เนื่องจากที่อยู่ใหม่ที่ม.เกษตรฯจัดหาให้เล็กเกินไปต้องเสียค่าซ่อมแซมไม่คุ้มกับเงินที่ได้ชดเชย

วันนี้ (8 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีการรื้อถอนบ้านเรือนประชาชนที่ชุมชนโรงสูบ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม.จึงเดินทางไปตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุพบชาวบ้านภายในชุมชนดังกล่าวกว่า 100 คน ยืนรวมตัวประท้วงบริเวณปากทางเข้าชุมชน โดยใช้แผงไม้มากั้นทางเข้าไว้ เพื่อไม่ให้รถแบ็กโฮเข้ามาปรับพื้นที่ที่รื้อถอนได้ ซึ่งก็มี ร.ต.ท.สมโภชน์ ทรงเจริญ หัวหน้าสายตรวจ สน.บางเขน เดินทางมาดูแลความเรียบร้อย ระหว่างนั้นได้มีการเจรจาระหว่าง นายปรัชญา ปณิธิกุล อายุ 33 ปี เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวแทนเข้ามาเจรจา ขอเข้าไปปรับพื้นที่ที่มีการรื้อถอนแล้ว แต่ผลการเจรจายังไม่เป็นที่น่าพอใจ และก็ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ แต่ตลอดระยะการเจรจาก็ไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้น

ด้าน นายมานพ ยิ้มแย้ม อายุ 70 ปี อยู่บ้านเลขที่ 50/316 หมู่ 3 ชุมชนโรงสูบ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม.ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการชุมชนโรงสูบและอดีตประธานชุมชน กล่าวว่า ชุมชนดังกล่าวได้มีชาวบ้านเข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนกว่า 80 ปี แล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพื้นที่ประมาณ 16 ไร่ ส่วนตนอยู่มาแล้วประมาณ 60 ปี จนถึงปัจจุบันมีบ้านเรือนปลูกสร้างแล้วกว่า 600 หลังคาเรือน มีชาวบ้านในชุมชนประมาณ 2,300 คน

“จนกระทั่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทาง ม.เกษตรฯ ก็ได้เข้ามาเจรจา เพื่อขอพื้นที่สร้างอาคารเรียน เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ จำเป็นจะต้องให้ชาวบ้านจำนวน 54 หลังคาเรือน รื้อถอนและย้ายออกไป โดยทาง ม.เกษตรฯ จะจัดหาที่อยู่ใหม่ให้ และให้ค่ารื้อถอนหลังละ 20,000 บาท และเมื่อประมาณอาทิตย์ที่แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ของ ม.เกษตรฯ ก็ได้เข้ามารื้อถอนบ้านที่เป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ของ ม.เกษตรฯ และยินยอมรื้อถอนออกไป จำนวน 20 หลัง เหลือเพียงบ้านที่ชาวบ้านสร้างกันเองไม่ยอมรื้อออกไป เนื่องจากอยู่กันมานานแล้ว และที่อยู่ใหม่ที่ทาง ม.เกษตรฯ จัดหาให้ก็เล็กมาก และต้องเสียค่าซ่อมแซมมากกว่าจำนวนเงินค่ารื้อถอนที่ได้มา” นายมานพ กล่าว

ทางด้าน นายปรัชญา กล่าวว่า ในวันนี้ตนได้นำรถแบ็กโฮเข้ามาเพื่อจะปรับพื้นที่ที่มีการรื้อถอนแล้ว เนื่องจากว่าทาง ม.เกษตรฯ ต้องการใช้สร้างอาคารวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม ใช้ในการเรียนการสอน แต่ชาวบ้านมีการปิดทางเข้า ตนจึงไม่สามารถเข้าไปปรับพื้นที่ได้ ซึ่งตนก็ได้เจรจาบางส่วนแล้ว และมีการจ่ายค่ารื้อถอนให้หลังละ 20,000 บาท หรือหากใครไม่สามารถย้ายออกไปได้ หรือรื้อถอนบ้านไม่ได้ทางเจ้าหน้าที่ก็ยินดีที่จะเข้ามาดำเนินการให้ พร้อมกับจัดหาที่พักใหม่ให้อยู่แทนที่เดิม และหากว่าใครยังไม่ยินยอมย้ายออกไป ก็จะให้เข้าไปเจรจากันอีกครั้ง โดยวันนี้ตนแค่จะเข้าไปปรับพื้นที่บางส่วนเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น