โครงสร้างใหม่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วนั้น ยังคงสร้างความสับสนให้ประชาชนพอสมควร แม้แต่ข้าราชการตำรวจเองก็ยังงงๆว่า หน่วยงานนี้ มีด้วยหรือ เพราะหน่วยงานใหม่ที่ปรากฏชื่อออกมาสู่สาธารณชนนั้น ไม่คุ้นหูคุ้นตาเท่าที่ควร เช่นกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกองบังคับการปราบปรามการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า โครงสร้างใหม่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ก็ยังคงมีหน่วยงานส่วนใหญ่ที่สัมผัสใกล้ชิดประชาชนยังคงดำเนินการและทำงานกันตามเดิม ในที่นี้ จะขอแนะนำโครงสร้างใหม่ออกเป็น 4 โครงสร้างย่อๆ โดยแบ่งเป็น 1.กองบัญชาการที่จัดตั้งขึ้นใหม่ 2.กองบังคับการที่จัดตั้งขึ้นใหม่ 3.กองบังคับการที่ยกฐานะจากหน่วยงานที่มีเดิม และ4.กองบังคับการที่ถูกเปลี่ยนชื่อ
กองบัญชาการ(บช.)ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยผู้นำหน่วยจะต้องมียศพล.ต.ท. ประกอบด้วย
1.สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ
2.สำนักงานส่งกำลังบำรุง
3.สำนักงานกำลังพล
4.สำนักงานงบประมาณและการเงิน
กองบังคับการ(บก.)ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยผู้นำหน่วยจะต้องมียศ พล.ต.ต. ประกอบด้วย
1.บก.อำนวยการ สังกัดสำนักงานส่งกำลังบำรุง
2.กองบัญชี สังกัดสำนักงานงบประมาณและการเงิน
3.กองตรวจสอบภายใน 1,2,3 สังกัด สำนักงานตรวจสอบภายใน
4.บก.อารักขาและควบคุมฝูงชน สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)
5.บก.ปราบปรามทางเทคโนโลยี สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.)
6.บก.อำนวยการ สังกัด กองบัญชาการศึกษา(บช.ศ.)
กองบังคับการ(บก.)ที่ยกฐานะจากหน่วยงานที่มีอยู่เดิม (กองกำกับ/เทียบเท่ากองบังคับการยกฐานะขึ้นเป็นกองบังคับการ) ประกอบด้วย
1.กองโยธาธิการ สังกัดสำนักงานส่งกำลังบำรุง
2.กองสรรพาวุธ สังกัดสำนักงานส่งกำลังบำรุง
3.กองตรวจราชการ 1-5-6-10 สังกัด สำนักงานจเรตำรวจ
4.บก.อำนวยการถวายความปลอดภัย สังกัด สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ
5.บก.สืบสวน สังกัดบช.น. (ศูนย์สืบสวนเดิม)
6.บก.สืบสวนสอบสวน บช.ภ.1-9
7.ศูนย์ฝึกอบรมบช.ภ.1-9
8.บก.ข่าวกรองยาเสพติด สังกัดกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด(บช.ปส.)
9.บก.ตำรวจสันติบาล 4 สังกัดกองบัญชาการตำรวจสันติบาล
10.บก.ตรวจคนเข้าเมือง 3-6 สังกัด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.)
11.บก.สืบสวนสอบสวน สังกัด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.)
12.สถาบันฝึกอบรมและวิจัย การพิสูจน์หลักฐาน สังกัด สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ
13.บก.อำนวยการ สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
14.บก.ฝึกอบรมกลาง สังกัดกองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.)
นอกจากนี้ มีกองบังคับการเดิม ที่ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ ประกอบด้วย
1.บก.ปราบปรามการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เปลี่ยนชื่อจากกองบังคับการกองทะเบียน (บก.ท.เดิม)
2.บก.ปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) เปลี่ยนชื่อจากบก.ปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี (บก.ปดส.เดิม)
3.บก.ปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เปลี่ยนชื่อจาก บก.ปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.เดิม)
การเกิดขึ้นของกองบัญชาการ และกองบังคับการจำนวนมาก ก็จะทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มี"นายพล"ขึ้นมาอีกโข แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประโยชน์ของประชาชนจากโครงสร้างใหม่ดังกล่าวจะบีลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโครงสร้างใหม่มาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ที่การกระทำของตำรวจเอง แต่หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้น โครงสร้างใหม่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็คงเป็นได้เพียง"เหล้าเก่าในขวดใหม่"เท่านั้น