xs
xsm
sm
md
lg

ศาลชี้ข้อพิพาทรัฐต่อรัฐ ยกฟ้องขับไล่ “สมเด็จฯ ฮุนเซ็น” ออกจากเขาพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องคดีนักวิชาการอิสระฟ้อง สมเด็จฯ ฮุนเซน กับพวกให้ออกจากเขตปราสาทเขาพระวิหาร ชี้เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่ข้อพิพาททางแพ่ง อยู่นอกเหนือเขตอำนาจศาลบังคับ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

วันนี้ (14 ก.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในคดีที่ นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระ กับพวกรวม 9 คน เป็นโจทก์ฟ้องสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา, นายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกัมพูชา และนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า ปราสาทเขาพระวิหารและบริเวณพื้นที่โดยรอบตั้งอยู่ในเขตแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ให้ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชานั้น เป็นการไม่ชอบ เพราะศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีเขตอำนาจใดๆ เหนือคดีปราสาทฯ และคำพิพากษาดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่มีผลผูกพันต่อโจทก์ทั้ง 9 และปวงชนชาวไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2550 ถึงปัจจุบัน จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันกระทำละเมิดรุกล้ำเข้ามาก่อสร้างอาคารต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ร้านค้า วัด ทั้งยังนำกำลังทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาในตัวปราสาทอันเป็นพื้นที่พิพาท โดยมีเจตนายึดถือครอบครอง และอ้างสิทธิเหนือตัวปราสาทฯ และบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาจำเลยทั้งสามกับพวกได้สมคบกันนำปราสาทฯ และพื้นที่บริเวณที่มีข้อพิพาทไปขอจดทะเบียนต่อคณะกรรมการมรดกโลกโดยมิชอบ ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าปราสาทและบริเวณข้อพิพาทอยู่ในอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย ทั้งขัดต่ออนุสัญญามรดกโลก พ.ศ.1972 โดยขอให้ศาลพิพากษาว่าอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทฯ และพื้นที่พิพาทเป็นของโจทก์ ปวงชนชาวไทย และประเทศไทย ห้ามจำเลยทั้งสามกับพวกเข้าเกี่ยวข้อง ขอให้ถอนทหารและอพยพราษฎรชาวกัมพูชาออกไป ให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนมรดกโลก เพิกถอนการรับจดทะเบียน ปราสาทฯ และพื้นที่พิพาทเป็นมรดกโลกของคณะกรรมการยูเนสโก มิฉะนั้นให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา กับให้พิพากษาว่า “เส้นสันปันน้ำตอนเขาพนมดงรัก” เป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ตลอดแนวเขตแดนดังกล่าว

ศาลพิเคราะห์แล้วว่ากรณีที่โจทก์ทั้ง 9 ขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามฟ้องมานั้น เห็นว่ากรณีเป็นเรื่องที่พิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยระหว่างประเทศ และบูรณภาพเหนือดินแดนระหว่างประเทศไทย และประเทศกัมพูชา หรือเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐต่อรัฐ ไม่ได้เป็นข้อพิพาททางแพ่ง การที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะพิพากษาอย่างไร และคณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณาจดทะเบียนปราสาทฯหรือไม่ เป็นการกระทำในฐานะองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งการที่จำเลยทั้งกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดต่อคำฟ้องโจทก์ เป็นเรื่องการใช้อำนาจในฐานะผู้บริหารประเทศกัมพูชา มิใช่การกระทำในฐานะส่วนบุคคลซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย แม้ว่าโจทก์ในฐานะปวงชนชาวไทยจะเป็นผู้มีส่วนได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างระเทศ และของคณะกรรมการมรดกโลก ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะฟ้องต่อศาลแพ่ง และตามคำขอของโจทก์ทั้ง 9 อยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจที่ศาลแพ่งจะบังคับได้ โจทก์ทั้ง 9 จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 พิพากษายกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น