xs
xsm
sm
md
lg

"ยาเสพติด" กัดกร่อนคน ทำลายชาติ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

"สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ" ได้มีมติกำหนดให้ วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็น "วันต่อต้านยาเสพติดโลก" ซึ่งประเทศไทยหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทั่วโลก และที่ผ่านมาการปราบปรามการไหลทะลักของยาเสพติดที่เข้ามาจากทั่วทุกสารทิศ หรือการกวาดล้างจับกุมในทุกพื้นที่จะดำเนินหารอย่างต่อเนื่อง

แต่ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดกลับยิ่งเท่าทวี ขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ยุคหนึ่งช่วงที่รัฐบาลนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บริหารประเทศ ได้ออกนโยบายประกาศสงครามยาเสพติดอย่างจริงจัง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจที่มีหน้าที่ต้องนำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม ทำงานกันอย่างจริงจัง สร้างผลงานการจับกุมนักค้าทั้งรายใหญ่ รายย่อยจำนวนมาก จนมีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามในครั้งนั้นจำนวนมาก โดยตำรวจจะให้เหตุผลว่าเป็นการฆ่าตัดตอนกันเอง หรือหากเป็นการทำให้เสียชีวิตโดยตำรวจเอง ก็จะให้เหตุผลว่าต่อสู้ขัดขวางการจับกุมจึงต้องวิสามัญฯ จนเกิดคำถามตามมาว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางหรือไม่ และที่ปฏิเสธไม่ได้คือรัฐบาลเองก็ต้องเยียวยาเหยื่อที่เกิดจากการปราบปรามอย่างไม่เป็นธรรมครั้งนั้น

พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ยาเสพติดในภาพรวม ว่า แม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าช่วงก่อนประกาศสงครามกับยาเสพติด แต่จากสถิติการจับกุมคดียาเสพติด ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)รวบรวมตั้งแต่ปี 2548 - 2551 การจับกุมคดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 72,595 คดี เป็น 84,266 คดี และเพิ่มอีกเป็น 107,454 คดี และ 121,135 คดี ตามลำดับ แต่ที่ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้กลับอยู่ในช่วงเยาวชนถึงบุคคลเริ่มต้นวัยทำงาน อายุ ระหว่าง 15-24 ปี ร้อยละ 37.1 รองลงมาเป็นอายุ 25-29 ร้อยละ 23.9 ส่วนยานรกที่ยังได้รับความนิยม คือ ยาบ้า ยังคงเป็นตัวยาสำคัญหลักที่มีการค้ามากที่สุด โดยสามารถยึดของกลางได้ 21.7 ล้านเม็ด รองลงมาเป็นกัญชา 21,041.8 กิโลกรัม และสารระเหย 145.2 กิโลกรัมนอกจากนี้ ยังพบว่ายาในกลุ่ม Club Drugs มีแนวโน้มที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มนักค้ารายเก่าที่เป็นรายสำคัญ ที่เคยยุติบทบาท หรือหลบหนีการกวาดล้างจับกุมไปในช่วงการประกาศสงครามกับยาเสพติด เริ่มกลับเข้ามามีบทบาท เคลื่อนไหวทำการค้ามากขึ้น กลุ่มนักค้ารายใหม่ ซึ่งเดิมเป็นผู้เสพที่อาศัยอยู่ในชุมชน ผันตัวเองมาเป็นนักค้ารายย่อย แทนนักค้ารายย่อยเดิมที่ถูกกวาดล้างจับกุมไป

นอกจากนี้ ยังพบการลักลอบนำเข้ายาเสพติดที่หลากหลายตัวยา ทั้ง ยาบ้า กัญชา เฮโรอีน ฝิ่นดิบ ไอซ์ เคตามีน และเอ็กซ์ตาซี พื้นที่นำเข้าสำคัญยังคงอยู่ทางชายแดนภาคเหนือ โดยในปี 2551 มีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 86.5 รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 11.8 โดยเป็นการนำเข้าในพื้นที่แนวเขตชายแดน 44 อำเภอ ใน 17 จังหวัด เป็นพื้นที่นำเข้าหลัก 18 อำเภอ 8 จังหวัด แม้จะมีการตั้งด่านตรวจเพื่อสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาเสพติดเหล่านี้แต่ ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอยู่เสมอ กระทั่งพบว่ามีการลักลอบนำเข้ายาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าเป็นการนำเข้ามาเพื่อส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำไปผลิตเป็นไอซ์ หรือหัวเชื้อยาบ้า

และจากการประกาศสงครามกับยาเสพติด กลุ่มนักค้าที่ถูกจับกุมและได้รับการประกันตัว หรือพักการลงโทษ กลับมากระทำความผิดซ้ำ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มหรือเครือข่าย นักค้ายาเสพติดชาวต่างชาติเข้ามาเคลื่อนไหวทำการค้าในประเทศมากขึ้น โดยกลุ่มนักค้าชาวแอฟริกัน ที่ลักลอบนำโคเคนเข้ามาเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าตามสถานบันเทิงต่างๆ กลุ่มนักค้าชาวเอเซีย ที่เดินทางเข้ามาติดต่อสั่งซื้อเฮโรอีน และไอซ์ จากกลุ่มนักค้าทางชายแดนภาคเหนือ เพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่สาม กลุ่มนักค้า ๓ สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ที่ลักลอบลำเลียงยาบ้า และกัญชา เข้ามาจำหน่ายให้กับกลุ่มนักค้าในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มเครือข่ายชาวแอฟริกัน ซึ่งมีชาวไนจีเรียเป็นตัวการสำคัญเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ซึ่งการแพร่ระบาดของยาเสพติดนั้นกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะ ยาบ้า มีการแพร่ระบาดในทุกจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและกทม. ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของยานรกเหล่านี้คือ กลุ่มเยาวชน อายุ 15-25 ปี กลุ่มคนว่างงาน และกลุ่มคนรับจ้าง

จากยุทธศาตร์ “5 รั้วป้องกัน” ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันภัยยาเสพติดในแต่ละระดับ คือ รั้วชายแดน คือ การสร้างกิจกรรม กระบวนการทำงานตามมาตรการ เสริมความเข้มแข็ง ป้องกันการลักลอบนำเข้ายาเสพติดตามแนวชายแดน ,รั้วชุมชน คือ การสร้างกิจกรรม กระบวนการทำงานทุกมาตรการ เสริมความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันด้านยาเสพติดในระดับหมู่บ้าน-ชุมชน ,รั้วสังคม คือ การสร้างกิจกรรม กระบวนการทำงาน จัดระเบียบสังคมแบบบูรณาการ ขจัดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นเงื่อนไขทางลบ เสริมสร้างปัจจัยทางบวกที่ส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันต่อปัญหายาเสพติด ,รั้วโรงเรียน คือ การสร้างกิจกรรม กระบวนการทำงาน เสริมความเข้มแข็งในโรงเรียน สถานศึกษา และให้เยาวชนรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันต่อต้านยาเสพติด และ รั้วครอบครัว คือ การสร้างกิจกรรม กระบวนการทำงาน เสริมความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว ให้มีภูมิคุ้มกันด้านยาเสพติดมากขึ้น

นอกจากมาตราการของรัฐบาลแล้ว ในขั้นตอนการปฏิบัติ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงมหาดไทย ยังมีการปราบปรามนักค้ายาเสพติดเครือข่ายระดับสำคัญ เครือข่ายหรือกลุ่มการค้ายาเสพติดที่เชื่อมโยงกับเรือนจำ โดย ใช้มาตรการทางกฎหมาย ในการสืบสวน ปราบปรามกลุ่มการค้ายาเสพติดระดับต่างๆ เพื่อตัดโครงสร้างการกระจายยาเสพติดไปยังผู้เสพ สืบสวนขยายผล รวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินการมาตรการทรัพย์สินแบบบูรณาการต่อเครือข่ายการค้าอย่างจริงจัง ควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และให้ดำเนินการโดยเด็ดขาดต่อผู้กระทำผิด

ขณะที่ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย "เอแบคโพลล์” พบว่า ยังมีประชาชนจำนวนมากยังไม่รับทราบนโยบายและยุทธศาสตร์ 5 รั้ว ป้องกันยาเสพติดแต่แกนนำชุมชนส่วนใหญ่รับทราบแล้ว ที่น่าเป็นห่วงคือประชาชนส่วนใหญ่และแกนนำชุมชนจำนวนมากยังคงพบเห็นผู้เสพผู้ติดยา แหล่งมั่วสุมเสพและค้ายา และมีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดเสียเองในหมู่บ้าน ชุมชนที่พักอาศัย ยิ่งไปกว่านั้นประชาชนระบุสถานการณ์ยาเสพติดในระดับรุนแรงมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปีก่อน ๆ แต่ประชาชนยังคงมีความหวังต่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ตำรวจ และแกนนำชุมชนในลำดับต้นๆ ส่วนแกนนำชุมชนจะคาดหวังต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองด้วยกันเองและรองลงมาคือตำรวจ

ดร.นพดล ยังกล่าวต่อว่า ผลสำรวจครั้งนี้พบความสอดคล้องกันว่า ทั้งประชาชนและแกนนำชุมชนทั่วประเทศเกินกว่าครึ่งที่พอใจต่อนโยบายและยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกันยาเสพติดของรัฐบาล โดยสัดส่วนของประชาชนที่พอใจเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อน ๆ ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เพราะในช่วงการสำรวจวิจัยมีการระดมกวาดล้างอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ แต่ที่น่าพิจารณาคือ ขณะที่รัฐบาลใช้กำลังทหารของเหล่าทัพเข้ามาร่วมเพิ่มมากขึ้นแต่ผลสำรวจกลับพบว่า แกนนำชุมชนเพียงเล็กน้อยที่บอกกับผู้วิจัยว่าได้ปฏิบัติภารกิจร่วมกับทหาร และเมื่อถามเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายอำนวยการระดับจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ปัญหาอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติด คือ กำลังคน ระบบฐานข้อมูล งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เป็นต้น ที่น่าเป็นห่วงคือ เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้เพียงเล็กน้อยที่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่มีภาระงานมากเกินไป ที่อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการแก้ปัญหายาเสพติดระยะยาวได้

“ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อดูผลวิจัยเกี่ยวกับ รั้วสังคม พบว่า ประชาชนในเขตอำเภอเมืองและเทศบาลยังคงพบปัจจัยเสี่ยง เช่น สถานบันเทิง แหล่งมั่วสุมค้าและเสพยาตามบ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ คอนโดมิเนียม กลุ่มแกงค์มอเตอร์ไซค์ซิ่ง และปล่อยให้เด็กซื้อเหล้าบุหรี่เองได้ แต่ผลสำรวจก็พบว่ามีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชนที่ตนเองพักอาศัยและสถานที่ออกกำลังกายมากขึ้น กล่าวโดยสรุปคือ ประชาชนพอใจกับการระดมกวาดล้างมากขึ้น แต่ยังไม่เชื่อมั่นมากเท่าใดนักว่ารัฐบาลจะเอาจริงเอาจังอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” ผ.อ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าว

ปัญหายาเสพติด อาจไม่จำเป็นต้องกำหนดวันใดวันหนึ่งเป็นวันต่อต้านโดยเฉพาะ ควรต่อต้านยานรกเหล่านี้ในทุกวัน และเช่นกันการปราบรามยานรกก็ไม่ควรฝากความหวังไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่ง คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่เน้นหวังพึ่งพาใครเพียงคนใดคนหนึ่ง ทุกคนต้องรวมพลังขับดัน เพื่อหยุดยานรกเหล่านี้ โดยเฉพาะความรักความเข้าใจของครอบครัว คงเป็นเกราะป้องกันได้อย่างดียิ่ง

ยาบ้าที่กลับมาแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงนี้
จับเท่าไรก็ไม่หมด สำหรับนักค้าทั้งรายใหญ่รายย่อย


กำลังโหลดความคิดเห็น