ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ช่อง 7 เอาจริง ฟ้องศาลแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เอาผิด IPTV และกรรมการละเมิดลิขสิทธิ์รายการ พร้อมกันนั้นชี้เป้า ปศท.บุกบริษัทสาขาในเมืองไทยย่านลาดพร้าว 71 อายัดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม-อุปกรณ์ หัวหมอนำรายการโทรทัศน์ในไทยแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ตโดยเก็บค่าบริการและจำหน่ายในสื่อรูปแบบอื่น เอเอสทีวีอาจฟ้องด้วย
วันเสาร์ที่ 30 พ.ค.2552 ข่าวภาคค่ำช่วงที่ 1 โทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ของช่อง 7 สี โดยบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ในนามของช่อง 7 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงกลางของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ดำเนินคดีต่อบริษัท ไอพีทีวี คอร์ปอเรชั่น และกลุ่มบริษัท บีเคที ซึ่งเป็นบริษัทในรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งผู้บริหารของบริษัทดังกล่าว คือ นายรอน เพชชา นางทิพย์ เพชชา และนายนภดล วงศ์ชัยวัฒน์ ในข้อหาร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์รายการช่อง 7 สี อาทิ ละครต่างๆ ของช่อง 7 โดยนำไปออกอากาศผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ www.thaitv.tv โดยคิดค่าตอบแทนการบริการ รวมทั้งนำไปจำหน่ายในสื่อรูปแบบอื่นในสหรัฐฯ ซึ่งมีลูกค้าเป็นคนไทยและคนลาว โดยผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ ในระยะเวลาใกล้เคียงกันในประเทศไทย กองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) ยังได้นำเจ้าหน้าที่ตรวจค้น อาคารที่ทำการของบริษัท ไอพีทีวี จำกัด และบริษัท บีเคที เทเลคอม (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านกลางกรุง ซอยลาดพร้าว 71 เขตลาดพร้าว หลังได้รับการร้องเรียนว่า บริษัทดังกล่าวน่าจะร่วมกับบริษัท ไอพีทีวี คอร์ปอเรชั่น กับพวกในประเทศอเมริกาดังกล่าว ในการนำสัญญาณโทรทัศน์ของช่อง 7 ไปเผยแพร่ทางเว็บไซต์ดังกล่าว
ทั้งนี้ จากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อายัดเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม อุปกรณ์ส่งสัญญาณเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการตัดต่อภาพ นอกจากนี้ยังพบภาพข่าวและละครช่อง 7 ที่ถูกตัดต่อแล้วอีกด้วย จึงเชิญตัวนายสยาม บุญเอก หัวหน้าฝ่ายคอมพิวเตอร์ผู้ดูแลจัดการระบบ ไปให้ปากคำเพื่อทำบันทึกการตรวจค้น
โดยนายสยามได้อ้างว่า ไอพีทีวี คอร์ปอเรชั่น ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ช่อง 7 อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้ดึงสัญญาณดาวเทียมเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์ก่อนจะส่งไปยังสมาชิกทางอินเทอร์เน็ต โดยเสียค่าบริการเดือนละ 10 เหรียญสหรัฐ และมีเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ทางช่อง 7 สี ยืนยันว่าไม่ได้อนุญาตให้บริษัทดังกล่าวใช้ลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับพฤติกรรมของบริษัทดังกล่าว คือ การดึงสัญญาณดาวเทียมของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ในประเทศไทยเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อนำมาตัดต่อใหม่เพื่อนำเสนอกลุ่มลูกค้าคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป โดยมีการกันสัญญาณไม่ให้ผู้อยู่ในประเทศไทยสามารถรับชมได้
อนึ่ง ในเดือนตุลาคมปี 2548 บริษัท ไอพีทีวี ในสหรัฐอเมริกา เคยออกมาแถลงข่าวกรณีการฟ้องร้องร้านวิดีโอในสหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่รายการโทรทัศน์ต่างๆ ของเมืองไทย โดยอ้างว่าทางบริษัทได้ซื้อลิขสิทธิ์รายการต่างๆ ที่ออกอากาศอย่างถูกต้อง และสัญญาต่างๆ ที่ไอพีทีวีเซ็นกับผู้ผลิตในประเทศไทยมีความสมบูรณ์ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ และการจดลิขสิทธิ์ที่วอชิงตันก็เกิดขึ้น ครอบคลุมทั่วสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายของแคลิฟอร์เนียและภายใต้กฎหมายสหรัฐอเมริกา
“ในลักษณะนี้หมายความว่า ถ้าละครม้วนไหนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าถูกจับว่าละเมิด เราฟ้องได้ทั้งสองศาล ทั้งแคลิฟอร์เนีย หรือศาลสหรัฐฯ แต่การฟ้องศาลแคลิฟอร์เนียใช้เวลาสั้นกว่า จะให้ Damage ตัวเลขที่น้อยกว่า เราเรียกหาได้เฉพาะกำไรจากจำเลยซึ่งได้รับมาจากการขายของที่เรามีลิขสิทธิ์” นายปีเตอร์ จลาพงศ์ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของบริษัท ไอพีทีวี ระบุเมื่อวันที่ 11 ต.ค.48
ทั้งนี้นายนภดล ผู้บริหารไอพีทีวี นั้นกำลังเป็นที่ต้องการตัวของเจ้าหน้าที่ในประเทศไทย ขณะเดียวกันนอกจากละเมิดลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ของฟรีทีวีช่องต่างๆ ในประเทศไทยแล้ว บริษัทไอพีทีวียังละเมิดลิขสิทธิ์ของเคเบิลทีวีอย่างเอเอสทีวีด้วย ซึ่งทางผู้บริหารเอเอสทีวีกำลังพิจารณาฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายในสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับทางช่อง 7