ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ลั่นดำเนินคดี “แม้ว” หมิ่นสถาบันทันที หลังคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาว่าเข้าข่ายมีความผิด แย้มกรอบเวลาทำสำนวน 3 เดือน ก่อนส่งอัยการ ชี้ ไม่จำเป็นต้องเชิญนักข่าวที่สัมภาษณ์อดีตนายกฯมาสอบปากคำ ระบุ ข้อมูลที่เผยแพร่ชัดเจนอยู่แล้ว
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก) พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก) กล่าวถึงการพิจารณากรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์สื่อต่างประเทศ โดยเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบอบและพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล พิจารณาแล้วว่าเข้าข่ายความผิด ก็ยังไม่ได้ส่งเรื่องมายัง บช.ก.อย่างเป็นทางการ แต่ในคณะกรรมการชุดนั้น มีตัวแทนของบช.ก.ร่วมอยู่ด้วยจึงทราบรายละเอียดเบื้องต้นแล้ว ดังนั้นเมื่อรับเรื่องมาก็สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยคณะพนักงานสอบสวนของบช.ก.ซึ่งมี พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รอง ผบช.เป็นประธาน มีตำรวจสังกัดกองบังคับการปราบปรามเป็นคณะพนักงานสอบสวน
ผบช.ก.กล่าวว่า ทันทีที่ได้รับเรื่องคณะพนักงานสอบสวนต้องประชุมและดำเนินการนำคำสัมภาษณ์นั้นมาแปลเป็นภาษาไทยเสียก่อน โดยเบื้องต้นกำหนดให้กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติผู้แปล แต่เพื่อความรัดกุมยิ่งขึ้น ก็จะเชิญตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศมาช่วยในการแปลด้วย อย่างไรก็ตามจากการดูข้อมูลตนคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องเชิญผู้สื่อข่าวที่สัมภาษณ์ และตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาสอบปากคำ เพราะข้อมูลที่เผยแพร่นั้นถือชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งนี้ ตามกรอบเวลาแล้วพนักงานสอบสวนมีเวลาในการทำสำนวน 3 เดือน แต่ตนจะเร่งรัดให้เร็วที่สุด
“เมื่อพนักงานสอบสวนของ บช.ก.สรุปสำนวนแล้ว ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีรอง ผบ.ตร.ที่รับผิดชอบและคณะกรรมการพิจารณาอีก 51 นาย นำไปพิจารณาอีกครั้งก่อนส่งสำนวนให้อัยการ โดยเรื่องนี้ไม่มีการเร่งรัดหรือสั่งการพิเศษจากรัฐบาลหรือจากใคร เป็นการทำไปตามหน้าที่” พล.ต.ท.ไถง กล่าว และว่า นอกจากนี้ ยังมีคดีหมิ่นสถาบันจำนวนมากที่บช.ก.กำลังพิจารณา เฉพาะเว็บไซต์มีมากถึง 1,400 เว็บไซต์ ส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ มีของไทยประมาณ 40-50 เว็บ ที่ผ่านมาก็ปิดไปจำนวนมาก มีการดำเนินการเรื่องนี้ตลอด
ส่วนเรื่องการดำเนินคดีกับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ดีสเตชั่น นั้น พล.ต.ท.ไถง กล่าวว่า แม้มีมวลชนมาขัดขวางไม่ให้ตำรวจเข้ายึดเครื่องส่งสัญญาณ ก็ไม่มีปัญหาในการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ แต่อย่างใด พนักงานสอบสวนยังสามารถดำเนินคดีไปได้ โดยยังมีพยานหลักฐานอื่น เทียบเคียงกับคดีลอบยิงสมมติว่าไม่ได้ปืนเป็นหลักฐานก็มีหลักฐานอื่นที่เชื่อมโยงดำเนินคดีได้