xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ-จาตุรนต์” ยันหวยบนดิน สร้างรายได้รัฐ-ไม่มีโกง!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี
อดีตรองนายกฯ แถลงเปิดคดีทุจริตหวยบนดิน ชี้ ออกสลากกินแบ่งแก้ปัญหาการการขายลอตเตอรี่เกินราคา สร้างรายได้ให้กับรัฐมหาศาล “จาตุรนต์” ย้ำ เงินที่ได้จากการขายสลากนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ไม่มีการทุจริตแบ่งกันเอง ช่วงบ่ายศาลนัดไต่ส่วนพยานโจทก์ “นาม” ปากแรกแถลงเปิดคดี

วันนี้ (21 เม.ย.) เวลา 10.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ศาลโดย นายสบโชค สุขารมณ์ เจ้าของสำนวนคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานโจทก์ครั้งแรก คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ( ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว เนื่องจากหลบหนี) จำเลยที่ 1, อดีตคณะรัฐมนตรีชุดรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 2-30 และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นจำเลยที่ 31-47 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต (ยักยอกทรัพย์), เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น, เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น, เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 152, 153, 154, 157 ประกอบมาตรา 83, 84, 86, 90, 91 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 4, 8, 9, 10 และ 11 ซึ่งท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมด ร่วมกันคืนเงินตามที่จำเลยทั้งหมด มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินไปของสำนักงานสลากอันถือว่าเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ รวมจำนวน 14,862,254,865.94 บาทด้วย

โดยก่อนเริ่มไต่สวนพยานโจทก์ ศาลอนุญาตให้จำเลย แถลงเปิดคดีด้วยวาจาภายในเวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งจำเลยในกลุ่ม ครม.ได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน แถลงต่อศาล ซึ่งใช้เวลานานถึง 1 ชั่วโมง สรุปว่า โครงการออกสลากพิเศษเลขท้ายนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการออกสลากที่ผ่านมา 1.การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ เกินราคา จนทำให้ประชาชนต้องซื้อสลาก 1 ฉบับ 2 ใบ ในราคา 100 -120 บาท หรือถ้าเลือกตัวเลขในราคา 150-200 บาท ทั้งที่ราคาควรอยู่ 80 บาท ซึ่งการกระทำที่ผิดกฎหมายและตามจับก็ไม่หมด 2.ปัญหาหวยเถื่อน หรือ หวยใต้ดิน ที่นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม ระบบอุปถัมภ์ข้าราชการ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง การใช้อิทธิพล เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องหวยใต้ดิน มีตั้งแต่นักการเมืองท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ และปัญหาหวยใต้ดินนำมาสู่การฉ้อโกง หักหลังเมื่อถูกรางวัลแล้วไม่จ่าย 3.ปัญหาการปราบปรามหวยใต้ดิน ที่ปราบเท่าใดก็ไม่หมด ซึ่งจากการวิจัย นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับการพนัน พบว่า ประชาชนในประเทศ ที่ได้เล่นหวยใต้ดินมีมากถึง 23.7 ล้านคน ขณะที่ผู้ที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมีเพียง 20.6 ล้านคน ดังนั้น การที่ดำเนินโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ที่เรียกกันหวยบนดิน จึงเป็นทำเรื่องที่อยู่ใต้ดินให้เป็นที่เปิดเผย และถูกต้อง ซึ่งทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มอีกจำนวนมหาศาล จากเงินรายได้ที่อยู่ในมือของผู้ทำหวยเถื่อนปีละแสนล้านบาท โดยผลจากการออกสลากหวยบนดินที่ผ่านมา 80 งวด ทำให้มีรายได้ถึง 1.34 แสนล้านบาท ซึ่งได้นำไปใช้จ่ายเพื่อการกุศลด้านการศาสนา การศึกษา และสาธารณสุข ขณะที่เวลานี้มีเงินเหลืออยู่ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ดังนั้น นี่คือ ผลที่ทำให้หวยใต้ดินมาอยู่บนดิน โดยที่ผ่านมารัฐบาลหลายสมัย พยายามแก้ปัญหาการออกสลาก โดยมอบหมายให้กองสลากเป็นผู้ดูแล ขณะที่เมื่อ ครม.อนุมัติการออกสลากเมื่อปี พ.ศ.2546 ก็ไม่มีบุคคลใดออกมาทักท้วง แม้กระทั่ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เพียงให้คำแนะนำว่า หากจะดำเนินโครงการ ควรต้องมีการออกระเบียบ แต่เรื่องนี้กลับมีการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความใหม่ หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ซึ่งเวลาล่วงเลยมา 3 ปีแล้ว โดยตีความว่า สลากพิเศษดังกล่าว ไม่ใช่ประเภทเดียวกับสลากกินแบ่ง แต่เป็นสลากกินรวบที่ไม่มีการแบ่งรายได้เข้ารัฐตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ พ.ศ.2517 มาตรา 22 ที่ต้องจัดแบ่งรายได้เพื่อจัดสรรเงินรางวัล 60% รายได้เข้ารัฐ 28% และเป็นเงินค่าใช้จ่ายสำหรับกองสลากฯ 12%

ขณะที่ นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.สำนักงานสลากฯ จำเลยที่ 42 แถลงเปิดคดีโดยยืนยันว่า การออกสลากพิเศษ ดังกล่าว เป็นการออกสลากเพื่อการกุศลนำรายได้ใช้จ่ายเพื่อสังคม โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.และขออนุญาตกระทรวงมหาดไทย ตาม พ.ร.บ.การพนันแล้ว ขณะที่มีการนำเงินรายได้จ่ายสู่สังคมไปแล้วกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท และสนับสนุนทุนการศึกษากว่า 2 ล้านคน

นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานพัฒนาแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาเด็กยากจน ยังแถลงเปิดคดีย้ำด้วยว่า ใช้ตามวัตถุประสงค์จริง และไม่มีการทุจริตแบ่งเงินกันเองตามที่ถูกกล่าวหา เช่นเดียวกับ นายวารเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ยืนยันว่า ครม.ไม่ได้อนุมัติใช้เงินจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉิน 232 คัน ของ ก.สาธารณสุข ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และไม่มีการจงใจหลีกเลี่ยงจัดเก็บภาษีสรรพกร ขณะที่เวลานั้นเมื่อนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝ่ายค้าน ก็ไม่ได้ทักท้วงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ และวัตถุประสงค์ของการนำเงินรายได้ไปใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฝ่ายจำเลย ส่งตัวแทนแถลงเปิดคดีด้วยวาจาแล้ว ต่อมาศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งแรก ซึ่งได้เตรียมพยานรวม 4 ปากประกอบด้วยนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และเจ้าหน้าที่กองสลาก ในวันเดียวกัน เวลา 13.30 น.ขณะที่แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ไต่สวนพยานลับหลังจำเลยได้ แต่จำเลยในกลุ่ม อดีต ครม. หลายคน ได้เดินทางมาร่วมฟังการพิจารณาด้วย อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ยุติธรรม นายสนธยา คุณปลื้ม อดีต รมว.ท่องเที่ยวและการกีฬา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต รมว.มหาดไทย ส่วนกลุ่มข้าราชการที่เดินทางมา อาทิ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีต ผอ.กองสลากฯ

ต่อมาเมื่อเวลา13.30 น. องค์คณะผู้พิพกษาคดีทุจริตหวยบนดิน ได้ไต่สวนพยานโจทก์ครั้งแรก หลังจากที่ในช่วงเช้า ได้ให้โอกาสจำเลย แถลงเปิดคดีด้วยวาจาไปแล้ว ซึ่งช่วงบ่าย นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความ ป.ป.ช. โจทก์ ได้นำนายนาม ยิ้มแย้ม ที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรม และ อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) เข้าไต่สวนเป็นปากแรก เบิกความสรุปว่า คตส. มีอำนาจตรวจสอบและไต่สวน ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 5 โดยที่มาของการตรวจสอบเริ่มจากสำนักงานการตรวจเงินแผนดิน ( สตง.) ได้ทำการตรวจสอบการใช้จ่ายโครงการต่าง ๆ ประมาณ 33 เรื่อง แล้วได้ส่งมาให้ คตส. ซึ่งรับพิจารณาไว้ 13 เรื่องโดยมีคดีหวยบนดินรวมอยู่ด้วย แล้ว คตส. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบและไต่สวนซึ่งคดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหารวม 49 ราย แต่ในชั้นไต่สวน อนุ คตส. เห็นว่า นายประมวล รุจนเสรี และ นายปองพล อดิเรกสาร ซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาร่วมด้วยนั้น ไม่ได้เข้าร่วมประชุมครม. ในการอนุมัติโครงการ จึงไม่ชี้มูลความผิด ซึ่งที่ประชุม คตส. ชุดใหญ่มีมติเห็นชอบด้วย ส่วนชั้นไต่สวนที่ให้โอกาสการแก้ข้อกล่าวก็มีผู้ถูกกล่าว หาบางราย แจ้งว่าไม่ได้ร่วมประชุม ครม. เช่นกันแต่ทั้งนี้ยังไม่มีเหตุผลรับฟังได้ ขณะที่การไต่สวนของ คตส. ยังเห็นว่า การออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 โดยไม่ใช่ลักษณะเดียวกับสลากกินแบ่งที่ออกสลากแล้วไม่มีวันขาดทุน เพราะจำกัดจำนวนพิมพ์ แต่เป็นสลากกินรวบมีโอกาสที่จะขาดทุนเพราะไม่จำกัดจำนวน ซึ่งการตรวจสอบของ คตส. พบว่า การจำหน่ายสลากบางงวดขาดทุน 600 – 800 ล้านบาท

นายนาม ยังเบิกความอีกว่า เมื่อไต่สวนแล้ว คตส. จึงมีหนังสือแจ้งกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย เข้ามาร้องทุกข์ในฐานะผู้เสียหาย โดยไม่มีการบังคับแต่อย่างใด และ คตส. ไม่มีอำนาจสั่งการให้ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เข้ามาร้องทุกข์ เป็นการส่งหนังสือแจ้งให้ทราบขอความร่วมมือที่จะเข้าร้องทุกข์ ซึ่งมูลค่าความเสียหาย คตส. ได้สรุปจากข้อมูลข้อเท็จจริงในการไต่สวน ไม่ใช่กรณีกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย แจ้งขณะร้องทุกข์

โดยทนายความจำเลย ได้พยายามซักค้านเกี่ยวกับอำนาจ คตส. ซึ่งนายนาม ย้ำว่า เป็นไปตามประกาศ คปค. ข้อ 5 และเมื่อถูกถามเกี่ยวกับการพิจารณาสำนวนของคณะทำงานร่วม คตส. – อัยการ หลังจากอัยการแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ 5 ข้อ นายนาม ย้ำว่า รายละเอียดปรากฏตามสำนวน โดยเมื่อคณะทำงานร่วมไม่สามารถหาข้อยุติได้ คตส. ได้ขอคืนสำนวนจากอัยการสูงสุด มายื่นฟ้องเอง เมื่อทนายความถามว่า การฟ้องเองได้ฟ้องภายใน 14 วันตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ นายนาม ตอบว่า กำหนด 14 วัน คือการฟ้องชั้นอัยการ ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรมว.ยุติธรรม จำเลยที่ 24 ได้ขออนุญาตองค์คณะซักถามนายนาม ได้ประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง โดยถามนายนาม พร้อมอ่านข้อความตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 11 ระบุว่า เมื่อปรากฏข้อไม่สมบูรณ์ให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาสำนวนภายใน 14 วัน และหากคณะทำงานร่วมหาข้อยุติไม่ได้ ให้ ป.ป.ช. มีอำนาจยื่นฟ้องภายใน 14 วัน ว่านายนามเข้าใจคลาดเคลื่อนใช่หรือไม่ นายนาม จึงตอบว่า ได้เบิกความคลาดเคลื่อนไป

ทั้งนี้เมื่อไต่สวนนายนาม พยานโจทก์ปากแรกเสร็จสิ้น โจทก์จึงได้นำ นางนัยนา ปานสาคร หัวหน้าฝ่ายการเงิน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้าไต่สวนมูลฟ้องต่อไป

ภายหลัง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ยุติธรรม จำเลยที่ 24 คดีหวยบนดิน ซึ่งเดินทางมาไต่สวนพยานโจทก์ครั้งแรก และโฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่จะมีการแก้รัฐธรรมนูญ และมีการเสนอนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคซึ่งถูกยุบพรรคว่า การแก้เรื่องนิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องหลักในการแก้ปัญหาสังคมไทย แต่ปัญหาเกิดจากโครงสร้าง รธน. ปี 2550 ที่อำนาจอธิปไตยอยู่กับศาลและองค์กรอิสระไม่ได้อยู่กับประชาชนอย่างแท้จริงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น สำหรับคนไทยต้องคิดว่าการอยู่ร่วมกันอย่างไรจึงจะมีความสุข คนที่ควรได้ก็ควรได้เท่าที่ควรได้ ไม่ตกอยู่ในมือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“ เวลานี้ควรเร่งเรื่องแก้ไข รัฐธรรมนูญ มากกว่าการนิรโทษกรรม อีกทั้งต้องจัดสรรอำนาจให้ถูกต้อง แม้ผมจะเป็น 1 ใน 111 อดีตกรรมการบริหารไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองและแม้ว่าจะได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรม แต่ผมเห็นว่าปัญหาบ้านเมืองสำคัญกว่า ” นายพงศ์เทพ กล่าวและปฏิเสธว่า ยังไม่ได้ติดต่อกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เลยตั้งแต่มีการชุมนุมเสื้อแดง เพราะตนยุ่งกับการต่อสู้คดีนื้

ขณะที่นายนาม ยิ้มแย้ม ที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรม และ อดีตประธาน คตส. ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงการเริ่มแก้รัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรม โดยกล่าวสั้นๆ ว่า เป็นเรื่องของการเมือง ซึ่งการเมืองเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี







กำลังโหลดความคิดเห็น