xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐสางปัญหาคลองเตย-ล้างอิทธิพลเถื่อนคนมีสี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

" 18 มี.ค. 2552 ตลาดคลองเตยเดือด คนร้ายซัลโว 9 มม. กระหน่ำยิง "สุขสันต์ สีหาเลิศ - กนก สุขแก้ว" 2 ลูกจ้างโรงน้ำแข็งในตลาดคลองเตยเสียชีวิตคาที่กลางถนนหน้าแผงขายของ เพียงแค่พูดจาไม่เข้าหู เดินเฉี่ยวตาปลากลุ่มชายฉกรรจ์ที่เข้ามาหาเรื่องทะเลาะกับเหล่าแม่ค้า พ่อค้าในตลาด เชื่อเป็นฝีมือลูกน้อง บ.ลีเกิ้ลฯ เหตุสัมปทานตลาดจากการท่าเรือ"

นั่นคือเหตุการณ์ความรุนแรงของปัญหาแห่งความขัดแย้งในตลาดสดคลองเตยที่คุกรุ่นขึ้นเรื่อย ๆ นับเป็นเวลากว่า 5 เดือน ระหว่างผู้ค้า เช่าแผงขายในตลาด กับบริษัท ลีเกิ้ล โปรเฟสชั่นแนล จำกัด และการท่าเรือแห่งประเทศไทย จนต้องมีผู้สังเวยชีวิตแล้ว 2 ศพ ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหลายราย

โดยเหตุร้ายที่เกิดขึ้น จากการบอกเล่าของแม่ค้าในตลาดคลองเตย พบว่าวันเกิดเหตุ ชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธได้แบ่งเป็นกลุ่ม ๆ เตรียมพร้อมลั่นไกยิงหากพ่อค้า แม่ค้า ไม่ยอมเข้าไปทำสัญญาร่วมมือกับบริษัท ลีเกิ้ล ซึ่งหนึ่งในนั้นมีพ่อค้าขายไก่ ขายหมู 2 คน ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น หัวแข็งไม่ยินยอม จึงถูกยิงด้วยปืนขนาด 9 มม.โดนที่หน้าอกกระสุนทะลุหลัง และลิ้นปี่ เสียชีวิตทันที ส่วนด้านหน้าตลาดชายฉกรรจ์อีกกลุ่ม ได้ทุบตีศรีษะ และยิงที่แขนพ่อค้าจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งคนร้ายที่ลงมือครั้งนี้ คือ สิบโทอินทร แสนภิบาล หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.บก.น.5 และ ศส.บช.น.ตามล่าชนิดกัดไม่ปล่อย จนผู้ต้องหาทนแรงกดดันดันไม่ไหวดอดเข้ามอบตัวต่อ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชีวปรีชา ผบช.น.โดยปัดปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ย้อนไปดูสถานการณ์ในตลาดสดคลองเตยเมื่อหลายปี ก่อนที่บริษัท ลีเกิ้ลฯ จะชนะการประมูลได้รับสัมปทานในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดคลองเตย เข้ามาจัดการบริหารตลาดทั้งระบบ ชาวตลาดกว่า 3,000 ราย ทำมาค้าขายอย่างราบรื่น เดิมตลาดคลองเตยเป็นทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งการท่าเรือฯ เปิดให้มีเอกชนเข้ามาจัดการในส่วนนี้ เพื่อที่จะได้สร้างรายได้เพิ่มให้กับการท่าเรือฯ แต่เหตุการณ์กลับส่งผลกระทบรุนแรงต่อกลุ่มพ่อค้า แม่ค้าในตลาด เนื่องจากทางบริษัทฯ ก็ต้องการเข้าไปบริหารตามนโยบายการสัมปทาน และที่ผ่านมาไม่มีการชี้แจงหรือทำประชาพิจารณ์ให้พ่อค้า แม่ค้า และชุมชนตลาดคลองเตยได้เข้าใจ และทราบถึงแผนการท่าเรือฯ กับ บริษัท ลีเกิ้ลฯ เกี่ยวกับโครงการลงุทนพื้นฐานและพัฒนาพื้นที่ แผนธุริกจ แผนการลงทุน การควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อม อีกทั้งไม่เคยฟังความเห็นของพ่อค้า แม่ค้าที่โต้แย้ง คัดค้านการประมูลดังกล่าว จึงทำให้มีการกำหนดค่าแผงไม่ชัดเจน มีการเปลี่ยนแปลงผู้เช่ารายใหม่เข้ามาแทนรายเก่า ไม่มีการรับรองสิทธิผู้ค้ารายเดิม ไม่มีการกำหนดพื้นที่ที่จะรองรับผู้ค้าในตลาดให้ค้าขายชั่วคราวตามแผนลงทุนก่อสร้างโครงการฯ ซึ่งเมื่อ 24 ก.ค. 2551 ชาวชุมชนคลองเตยได้รวมตัวประท้วงที่หน้าการท่าเรือฯ โดยครั้งนั้น ทำให้ประธานกรรมการและผู้อำนวยการการท่าเรือ รับปากจะทบทวนและยกเลิกโครงการประมูล ฯ แต่เรื่องก็เงียบหาย

เปิดสัญญาหักดิบบริหารตลาด

เปิดสัญญาร่วมระหว่าง บริษัท ลีเกิ้ลฯ มอบหมายให้ นายธรรมนัส พรหมเผ่า กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ กับ นางสุนิดา สกุลรัตนะ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการการท่าเรือฯ โดยสัญญาเช่าไม่ถึงพันล้านบาท เริ่มเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 51 ให้ผู้เช่าพื้นที่ประมาณ 10.18 ไร่ มีกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2551 ถึง 28 ตุลาคม 2561 หากผู้เช่าประสงค์ต่อสัญญาเช่าหลังจากครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าต้องแจ้งผู้ให้เช่าเป็นลายลักษณ์อักษรทราบก่อนไม่น้อยกว่า 2 ปี ผู้เช่าต้องแบ่งชำระค่าตอบแทนรายปีให้การท่าเรือฯ ทุก 3 เดือน ภายในวันที่ 10 ของทุกและเดือนแรกของแต่ละไตรมาส ผู้เช่าต้องพัฒนาพื้นที่ให้เสร็จตามเวลาที่กำหนดตามแผนที่นำเสนอการท่าเรือฯ ซึ่งตรงส่วนนี้เอง บริษัท ลีเกิ้ลฯ ผู้เช่า จึงต้องเข้าประชิดตัวพ่อค้า แม่ค้าให้ยินยอมพร้อมรีบร้อนต้องการเข้ามาบริหารจัดการตลาดคลองเตยแบบหักดิบ โดยมีกลุ่มคนมีสีอยู่เบื้องหลังผลประโยชน์หลายพันล้านที่ บริษัทฯจะได้รับจากการเข้าห่ำหั่นตลาดคลองเตย

บริษัท ลีเกิ้ลฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 43 จดทะเบียนด้วยทุน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 888 ถนนอโศก-ดินแดง แขวงและเขตดินแดง กทม.ประกอบธุรกิจการบริการทางด้านกฎหมาย ทางบัญชี ทางวิศวกรรม ทางสถาปัตยกรรม รวมทั้งการโฆษณา บริการ มีการเพิ่มทุนจากแรกตั้ง 1 ล้านบาท มาเป็น 5 ล้านบาท ในวันที่ 16 พ.ค. 2551 และล่าสุดวันที่ 12 มิ.ย. 2551 เพิ่มทุนเป็น 10 ล้านบาท ผู้มีอำนาจในบริษัท คือ นายกมลมิตร ธีระวัฒนศักดิ์ และนายธรรมนัส พรหมเผ่า มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 15 คน ซึ่งเพียงแค่ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท บริษัท ลีเกิ้ลฯ สามารถชนะการสัมปทานเข้าบริหารตลาดสดคลองเตยในมูลค่าเป็นพันล้านบาทได้ ทั้งที่ผลประกอบการปี 2550 บริษัท ลีเกิ้ล ขาดทุน 3.34 แสนบาท

ความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

ลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงในตลาดท่าเรือคลองเตย หลังเซ็นสัญญาร่วมเช่าพื้นที่ได้เพียง 1 วัน โดยในวันที่ 30 ต.ค. 2551 เวลา 13.30 น. นายสมควร สิทธิโชค นำกลุ่มชายฉกรรจ์ชุดดำ และชุด ส.ห. รวมทั้งชุดทหารครึ่งท่อน เข้ามาจับตัวคนงาน ทำร้ายพ่อค้า แม่ค้า และเวลา 17.30 น. นายวิรัตน์ สัพโส หัวหน้าคนงานกวาดขยะถูกอุ้มตัวไปที่บริษัท มหาโชคชัย และถูกขู่บังคับไม่ให้ทำงานกับผู้ประกอบการเดิมให้มาทำงานกับนายวิรัตน์แทน หากไม่ตกลงจะทำร้ายร่างกาย

31 ต.ค. 2551 ชายฉกรรจ์ตัดสายลำโพง โทรทัศน์วงจรปิดของตลาด และสร้างความวุ่นวาย เดือดร้อน ทำต่อเนื่องทุกวันจนถึง 9 พ.ย. 51 โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ 100 คน ได้จับตัว ทำร้ายคนงานชาย-หญิง ประกาศทางลำโพงข่มขู่แม่ค้า หากไม่จ่ายเงินก็ไม่ให้ขายในตลาดนี้ เข้ารื้อเต้นท์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆมีการเข้าแจ้งความเอาผิดต่อกันมากถึง 13 คดี จนมีการส่งตัวแทนแม่ค้า พ่อค้าเข้าร้องเรียน และให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ 5 คณะ ทั้ง คณะกรรมาธิการคมนาคม คณะกรรมาธิการยุติธรรมและการตำรวจ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล

จี้รัฐสางปัญหา-ล้างอิทธิพลเถื่อน

โดย นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สรรหา) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ในทุกครั้งที่คณะกรรมาธิการของแต่ละคณะลงตรวจพื้นที่ตลาด และชาวชุมนุมคลองเตยกลุ่มแม่ค้า พ่อค้าเข้ามาให้ข้อมูล หรือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ เมื่อกลับไปในพื้นที่ตลาดสดท่าเรือคลองเตย ก็จะมีเหตุความรุนแรงทุกครั้ง มีทั้งเหตุระเบิด การมุ่งทำร้ายเอาชีวิต ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชัดเจน เพราะชาวตลาดใช้สิทธิชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 "การที่ชายฉกรรจ์ บุกรุกเข้าพื้นที่ตลาดคลองเตยกลายเป็นเรื่องอิทธิพล ขนาดหนัก เป็นการท้าทายกัน ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแรง " ซึ่งคณะกรรมาธิการที่ได้รับเรื่องร้องเรียนได้แบ่งงานกันทำตรวจสอบว่ามีการทุจริตหรือไม่ ดำเนินคดีอย่างไรเรื่องไปถึงไหนแล้ว การท่าเรือทำสัญญาถูกต้องหรือเปล่า เนื่องจากมีข้อสงสัยในสัญญาเดิมพันกว่าล้าน แต่เมื่อเปิดประมูลโครงการกลับไม่ถึงพันล้าน ซึ่งในสัญญา เนื้อหาก็เป็นการให้อำนาจผู้ชนะการประมูลไปไล่รื้อ ไล่ที่กันเอาเอง เช่น สมัยก่อนผู้ชนะสัมปทานได้รับสัญญาเสร็จก็เป็นภาระของผู้ได้รับสัญญาเช่า ต้องไปเผาสลัม ซึ่งถือเป็นหลักการเดียวกันกับกรณีคลองเตย

นายสมชาย ชี้ชัดว่า ปัญหาตลาดคลองเตยรัฐบาลต้องเข้ามากำกับดูแลอย่างชัดเจนขึ้น "ในเรื่องนี้รัฐบาลต้องคิดให้หนัก จะแก้ไขปัญหากลุ่มผู้มีอิทธิพลในเมืองหลวงอย่างไร ไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ฆ่ากันตายในเมืองหลวง กลางวันแสก ๆ มีทั้งภาพถ่ายวีดีโอทั้งเช้า เย็น เป็นหลักฐาน" โดยนโยบายรัฐบาลภายใต้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้เอกชนเช่าพื้นที่ เกิดปัญหามาหลายแห่งแล้ว เช่น ที่ดินการรถไฟฯ ที่ตลาดนัดซันเดย์ ก็ใช้วิธีเดียวกันเป็นนโยบายไล่ที่ ซึ่งต้องตรวจสอบเหตุการณ์หลายครั้งมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ กลุ่มชายฉกรรจ์เป็นกลุ่มเดียวกันหรือเปล่า ซึ่งรัฐบาลควรเน้นนโยบายไม่ทำให้หน่วยงานรัฐ หาประโยชน์เข้าองค์กรด้วยวิธีที่ส่อไปในทางรุนแรง ควรมีภาระกิจหลักที่เป็นประโยชน์ เช่น การท่าเรือฯ ก็ควรขนส่งสินค้า ไม่ใช่มาทำหน้าที่ตลาดนัดขายของ หรือถ้าให้เช่าที่ก็ต้องทำให้ชัดเจน ซึ่งตำรวจก็ไม่ควรปล่อยวางในการแก้ปัญหาเช่นกัน

นอกจากนี้ นายสมชาย ได้แนะว่า ควรปลดอาวุธตำรวจหน่วยคอมมานโดไม่ควรให้ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งมีอาวุธที่จะสร้างความรุนแรงได้ ที่สำคัญการโยกย้ายนายตำรวจระดับสูง ที่ดูแลปัญหาในพื้นที่ตลาดคลองเตยออกนอกพื้นที่ไม่ได้เป็นทางออกของปัญหา ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง และทำให้ปัญหายุติได้ ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมต้องมีนโยบายชัดเจน ห้ามลูกน้องรับงานนอกราชการ ซึ่งรัฐต้องแก้ไขจุดนี้ด้วย

คลองเตยปัญหาความมั่นคงในเมืองหลวง

ทางด้าน นางรสนา โตสิตระกูล สว.กทม. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล กล่าวว่า ได้ร้องเรียนผ่านนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ตลาดคลองเตยอย่างจริงจัง ต้องดูตั้งแต่ต้นเหตุของปัญหาจนส่งผลให้ทวีความรุนแรง เนื่องจากตลาดคลองเตยมีผลประโยชน์อย่างมหาศาล ดังนั้นการท่าเรือฯ ต้องเข้ามาชี้แจงโดยตรงกับแม่ค้า พ่อค้า หากยังเพิกเฉยปัญหาก็ไม่สามารถยุติได้ ซึ่งที่ผ่านมาส่วนตัวได้พูดคุยถึงปัญหาเบื้องต้นให้นายกรัฐมนตรีรับทราบบ้างแล้ว ซึ่งก็ได้ขอให้นายกรัฐมนตรีเข้ามากำกับดูแลให้ปัญหาจบโดยเร็ว โดยเฉพาะในประเด็นการเปิดประมูลให้มีการรับสัมปทาน โดยที่ผ่านมาเราไม่รู้ฝ่ายไหน เป็นฝ่ายไหน และชาวบ้านที่เข้าร้องเรียนกับชุดกรรมาธิการฯ ที่ตนดูแลอยู่ก็มีจุดยืนชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องเงินทอง แต่ต้องการมีพื้นที่ทำมาหากินโดยไม่ถูกรุกราน ข่มขู่ ทำร้าย ซึ่งในสัญญาสัมปทานถูกผิดอย่างไร หน่วยงานรัฐต้องชี้แจง "ชาวบ้านถูกทำร้าย โดนปาระเบิดได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกตี ปัญหาคงไม่หยุดทันที จนกว่าการแก้ปัญหาจะตรงจุดที่ต้นเหตุ ซึ่งปัญหาความขัดแย้งทั้งประมูลเก่า ประมูลใหม่ ไม่รู้ใครเป็นใคร ได้รับผลประโยชน์จากพื้นที่ ไม่มีการยอมกัน "

นางรสนา กล่าวต่อไปว่า ปัญหาอยู่ที่ต้นเหตุการท่าเรือฯซึ่งรัฐบาลต้องมองด้วยว่า ปัญหาความรุนแรงตลาดคลองเตยเป็นปัญหากระทบความมั่นคงในเมืองหลวง ความมั่นคงของรัฐ เป็นปัญหาสังคมที่บ้านเมืองไม่มีความปลอดภัย หากยังไม่สามารถดูแลความปลอดภัยในเมืองหลวงได้ ก็ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกประชาชนไปด้วย

เจาะลึกประวัติ "ธรรมนัส พรหมเผ่า"

ในความเป็นมา เป็นไป นายธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท ลีเกิ้ลฯ ให้เป็นผู้เซ็นต์สัญญาเช่า เพื่อเข้าพัฒนาตลาดนัดคลองเตย โดยขณะนี้ความวุ่นวาย รุนแรงเลือดตกยางออกเซ่นชีวิตกับโปรเจ็กต์ชิ้นปลามัน ที่ผู้มีเบื้องหลังม่านสีเทามุ่งทำร้าย แก่งแย่งกันเป็นใหญ่ครอบครอง กับคำว่าเพื่อเข้าไปบุกเบิกให้ตลาดสดคลองเตยเป็นตลาดที่ทันสมัย อุดมไปด้วยธุรกิจที่จะทำให้แม่ค้า พ่อค้ามีกำไรมีเงินมีทอง กับเลือดเนื้อที่ใช้ล้างตลาด เพื่อปูทางให้ผู้ชนะสัมปทานเข้ามาดำเนินการให้ได้ ไปเจาะลึกในประวัติ "ธรรมนัส พรหมเผ่า" กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ลีเกิ้ล กับ นางสุนิดา สกุลรัตนะ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ก่อนมาถึงวันนี้ เดิมที ธรรมนัส พรหมเผ่า มีชื่อยศว่า ร.อ.พัชร หรือ มนัส พรหมเผ่า ฉายา "ผู้กองตุ๋ย"

นอกจากนี้ "ธรรมนัส" ยังเป็นอดีตทหารองครักษ์ และถูกออกจากราชการทหาร เพราะต้องคดีฆ่า "ดร.ไฮไซ" ดร.พูลสวัสดิ์ จิราภรณ์ เมื่อปี 2541 หลังออกจากราชการเปิดบริษัท ทำธุรกิจเกี่ยวกับบริษัทรักษาความปลอดภัย(รปภ.) ได้รับสัมปทานให้เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเวลา 10 ปี เป็นหัวหน้าทีมคุมสถานบันเทิงย่านรัชดาฯ ซอย 4 รับจ้างทวงหนี้ โดยมีทหารร่วมแก๊งประมาณ 50 นาย ได้รับมอบหมายจาก "เสธไอซ์" พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต นายทหารคนสนิทของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและเป็นเพื่อน ตท. รุ่น 10 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ไปดูแลธุรกิจของ "เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์

จากความเหิมเกริมของกลุ่มชายฉกรรจ์ อิทธิพลเถื่อนกลางกรุง ที่จ้องสร้างความรุนแรง ความหายนะ คงไม่หยุดลงเพียงเท่านี้ โดยเป้าหมายต้องการล้างตลาดสดคลองเตยให้พ่อค้า แม่ค้า ยอมสิโรราบก้มหน้ารับสภาพกับความที่ต้องเสียเปรียบ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพต่อการทำมาหากิน ซึ่งผลประโยชน์โคตรมหาศาลที่บริษัท ลีเกิ้ลฯ ผู้ได้รับสัมปทานจะได้เป็นเม็ดเงิน หลังเคลียร์พื้นที่ตลาดคลองเตยได้สำเร็จ จะทำให้ชาวตลาดคลองเตยต้องสังเวยชีวิตอีกกี่ศพ

สภาพศพ 2 พ่อค้าที่ถูกยิงตายกลางถนน
พ่อค้า แม่ค้าตลาดคลองเตยเข้าแจ้งความ
นายศราวุธ สายประสม รปภ.บริษัทลิเกิ้ล โปรเฟสชั่นแนล จำกัด ที่เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ส.ท.อินทร แสนภิบาล อายุ 51 ปี หัวหน้า รปภ. ก่อเหตุยิงพ่อค้าดับกลางตลาดคลองเตย
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. (สรรหา) ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.(สรรหา) ชี้ รัฐบาลต้องเข้ามากำกับแก้ปัญหาตลาดคลองเตยจริงจัง
นางรสนา โตสิตระกูล สว.กทม. และประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น