xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอส่งฟ้องคดีแชร์ลอตเตอรี่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้อำนวยการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
สำนักคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งสำนวนคดีแชร์ลอตเตอรี่ให้อัยการสำนักคดีพิเศษ ดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีผู้เสียหาย 12 คน หลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ต้องหา รวมทั้งสิ้น 46,369,800 บาท

วันนี้ (26 มี.ค.) เวลา 09.00 น. พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ มอบหมายให้ นายจุฑาธุช จงเสถียร พ.ต.ท.กฤชณัท จันทร์เขียว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 7ว นายพรภัทร เพ็ญพาส พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 6ว สำนักคดีอาญาพิเศษ นำตัว นายทินกร งามเมืองปัก อายุ 47 ปี ผู้ต้องหาในคดีแชร์ล็อตเตอรี่ ถูกดำเนินคดีในข้อหา ฉ้อโกง และกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พร้อมสำนวนการสอบสวนรวม 420 แผ่น รวม 30 รายการ ไปส่งให้พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาสั่งคดีเพื่อส่งฟ้องต่อศาล โดยพนักงานอัยการมีคำสั่งนัดให้นายทินกร มาฟังการสั่งคดีในวันที่ 23 เม.ย.52 เวลา 10.00 น.

สำหรับพฤติการณ์แห่งคดีของแชร์ลอตเตอรี่นี้ “ดีเอสไอ” ได้รับสำนวนจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.51 การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณต้นเดือน พ.ค.49 เป็นต้นมา นายทินกร ผู้ต้องหาได้ชักชวนผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยบอกว่ารู้จักกับพนักงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พนักงานดังกล่าวได้รับโควต้าจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยให้ร่วมลงทุนซื้อสลากกินแบ่ง เล่มละ 3,720 บาท แต่จะต้องลงทุนครั้งละ 50 เล่ม เป็นอย่างต่ำ และจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้เล่มละ 135 บาทต่อเล่ม/ต่องวด โดยจะโอนผลประโยชน์ตอบแทนให้ทุกวันที่ 5 และ 20 ของทุกเดือน มีผู้เสียหายจำนวน 12 คน หลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีของนายทินกร งามเมืองปัก ผู้ต้องหารวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 46,369,800 บาท

โดยมีผู้เสียหายคนหนึ่งหลงเชื่อโอนเงินให้เป็นจำนวนมากถึง 7,998,000 บาท แต่เมื่อไปติดตามทวงถามเงินที่ลงทุนไป กลุ่มผู้ต้องหาไม่ยอมคืนให้ จึงทราบว่าถูกหลอกลวง และได้นำเรื่องเข้าร้องเรียนกับ ปศท. พนักงานเจ้าหน้าที่กลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ได้คำนวณผลประโยชน์ตอบแทนแล้ว คิดเป็นร้อยละ 84.097 ต่อปี ซึ่งการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ซึ่งขณะเกิดเหตุอยู่ในอัตราร้อยละ 6.25 ต่อปี พฤติการณ์ของนายทินกร งามเมืองปัก ผู้ต้องหา เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4,5,12 และฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ กล่าวว่า จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธขอให้การในชั้นศาล พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหลังผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษด้วยตัวเองและไม่มีพฤติการณ์ข่มขู่พยาน ส่วนการติดตามเงินผู้เสียหายได้ประสานกับธนาคารทุกแห่งให้ตรวจสอบ แต่ยังไม่สามารถตามอายัดได้ เพราะผู้ต้องหาได้ถอนเงินออกไปทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น