“สุเทพ” ถกย้ายล้างบางขั้วเก่าตำรวจ บอร์ดกลั่นกรองวุ่นถกตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ไม่จบ ชิงดำ “วัชรพล-วิเชียร” ขณะที่สามีแม่เลี้ยงติ๊ก “ไถง ปราศจากศัตรู” ผงาดนั่ง น.1 “สถาพร” เพื่อนแม้วขึ้นผู้ช่วย ผบ.ตร. เด้งผู้การเชียงใหม่เข้ากรุ
วันนี้ (6 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติผู้ได้รับการแต่งตั้งโยกย้าย (บอร์ดกลั่นกรอง) ข้าราชการตำรวจระดับรอง ผบ.ตร.-ผบก.จำนวน 106 ตำแหน่ง โดยมีรอง ผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติเข้าร่วมประชุมกลั่นกรองที่สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชั้น 7 โดยใช้เวลาในการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โบรรยากาศในห้องประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด มีการถกเถียงในตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่งโดยเฉพาะตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.พยายามผลักดัน พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ขึ้นนั่งในตำแหน่งรอง ผบ.ตร. แต่มีรอง ผบ.ตร.หลายคนไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าไม่ถูกต้อง ควรให้ตำแหน่งนี้กับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โยกมานั่งในตำแหน่งนี้แทน เพราะมีคำสั่งอนุ ก.ตร.อุทธรณ์ฯ ให้ พล.ต.อ.วิเชียร ได้รับการแต่งตั่งเข้าตำแหน่งหลักในโอกาสแรกที่มีการแต่งตั้ง นอกจากนั้นยังมีตำแหน่ง ผบช.น.ที่เป็นประเด็นมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ที่มีชื่อ พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ประชุมยังไม่ได้สรุปต้องไปถกเถียงกันในที่ประชุม ก.ตร.ต่อ
สำหรับตำแหน่งที่ผ่านการอนุมัติจากบอร์ดกลั่นกรอง ได้แก่ พล.ต.ท.สถาพร ดวงแก้ว ผบช.ภ.5 เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. ซึ่งเคยมีปัญหาคดีซาอุฯ และเป็นน้องชาย พล.อ.สมเจตต์ บุญถนอม เป็น ผบช.ภ.5 เพื่อให้มาคุมพื้นที่ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู จเรตำรวจ (สบ 8) สามีนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู หรือแม่เลี้ยงติ๊ก ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็น ผบช.น. โดยโยก พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. เป็น ผบช.ภ.4 พล.ต.ท.อัศวิน ณรงค์พันธ์ ผบช.ภ.4 เป็น ผบช.ภ.2 พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ ผบช.ภ.2 คนสนิท นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจเรตำรวจ (สบ 8)
พล.ต.ท.รชต เย็นทรวง ผบช.ภ.6 เป็น จเรตำรวจ (สบ 8) พล.ต.ท.สุรสีห์ สุนทรศาลทูล จเรตำรวจ (สบ 8) เป็น ผบช.ภ.6 พล.ต.ต.วรเวทย์ วินิตเนตยานนท์ รอง ผบช.ภ.8 คนสนิท นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธาน ก.ตร. ขยับเป็นผู้บัญชาการประจำ สง.ผบ.ตร. พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพรหมณกุล ผบก.ตปพ. ขยับเป็น รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต ผบก.ภ.จ.กาญจนบุรี คนสนิท พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. สไลด์เป็น ผบก.ตปพ. พล.ต.ต.เรวัช กลิ่นเกษร ผบก.ประจำ ตร. ได้กลับไปเป็นผบก.ภ.จว. กาญจนบุรี พล.ต.ต.อนันต์ ศรีหิรัญ ผบก.น.1 เป็น รอง ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.3 เป็น ผบก.น.1 พล.ต.ต.ณธนนต์ สิงหรา ณ อยุธยา ผบก.ภ.จ.ลำพูน พี่ชาย พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็น ผบก.น.3 พล.ต.ต.สุเทพ เดชรักษา ผบก.ภ.จ.เชียงใหม่ ถูกย้ายเข้ากรุ เป็น ผบก.ประจำ จเรตำรวจ พล.ต.ต.อรรถกฤษร์ ธารีฉัตร ผบก.ทท. อดีตทีม รปภ.พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น ผบก.ภ.จ.เลย พล.ต.ต.อดิศร งามจิตต์สุขศรี ผบก.อก.จเรตำรวจ เป็น ผบก.ทท. พล.ต.ต.นเรศ นันทโชติ ผบก.จ.พระนครศรีอยุธยา โยกเป็น ผบก.นครนายก พล.ต.ต. ชินทัต มีศุข ผบก.ภ.จ.ชัยนาท เป็น ผบก.ภ.จ.พระนครศรีอยุธยา
พล.ต.ต.เดชา บุตรน้ำเพชร ผบก.อก.บช.ภ.8 คนสนิทนายสุเทพ เป็นรอง ผบช.ภ.8 พล.ต.ต.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล รอง ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. คนสนิท นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ เป็น รอง ผบช.ส. พล.ต.ต.วินัย ทองสอง รอง ผบช.ส. หลานเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็น รอง ผบช.สง.ผบ.ตร.
ขณะที่ตำแหน่งในศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.ต.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ รอง ผบช.ภ.9 ทำหน้าที่ รอง ผบ.ศปก.ตร.สน. นรต. 30 ขึ้นเป็น ผบช.ศปก.จชต.คนแรก โดยมี พล.ต.ต.ยงยุทธ เจริญวานิช พล.ต.ต.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ พล.ต.ต.ธีระศักดิ์ กลิ่นพงษา รอง ผบช.ภ.9 โยกมาเป็นรอง ผบช.ศปก.จชต. พล.ต.ต.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รองจเรตำรวจเป็น รอง ผบช.ศปก.จชต. ขณะที่ ระดับผู้บังคับการมี พ.ต.อ.สันติ มะลิขาว รอง ผบก.กำลังพล ช่วยราชการ ศปก.ตร.สน. ขยับขึ้นเป็น ผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรม พ.ต.อ.สมควร คัมภีระ รอง ผบก.หัวหน้าศูนย์ความมั่นคง ภ.9 ขึ้นเป็น ผบก.สืบสวนสอบสวน พ.ต.อ.วันชาติ คำเครือคง รอง ผบก.ประจำศ ปก.ตร.สน. ขึ้นเป็น ผบก.อก.
ต่อมาเวลา 14.00 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ได้เดินทางมาเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการประชุมเป็นเวลานาน เพราะมีหลายตำแหน่งที่มีปัญหาต้องถกเถียงกันในที่ประชุม