xs
xsm
sm
md
lg

พรรคเพื่อแม้วร้องศาลฎีกาเอาผิดนายกฯ-ประธานสภา ย้ายที่ประชุมขัดรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ
2 ส.ส.โคราช พรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตั้งผู้ไต่สวนอิสระให้เอาผิด “ชัย-อภิสิทธิ์-กษิต” ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ สั่งย้ายที่ประชุมสภาวันแถลงนโยบายรัฐบาลอ้างขัดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับประชุมสภา

วันนี้ (7 ม.ค.) เมื่อเวลา 15.30 น.ที่ศาลฎีกา สนามหลวง พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ และ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.เขต 2 และ 3 จ.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นคำร้องขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 275 และ 276 ให้ไต่สวนนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ผู้ถูกร้องที่ 1-3 กระทำผิดต่อหน้าที่

โดยคำร้องระบุว่า หลังจากที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 176 ซึ่งบัญญัติให้ ครม. แถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่เข้ารับหน้าที่ โดยเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.51 ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ทำหนังสือถึงผู้ถูกร้องที่ 1 เรื่องการแถลงนโยบายของครม.ต่อรัฐสภา แจ้งว่า มีความพร้อมที่จะแถลงในวันที่ 29 ธ.ค.51 และเมื่อผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับหนังสือแล้วมีคำสั่งให้นายพิฑูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภา ฯ ทำหนังสือแจ้ง ส.ส.และ ส.ว.นัดให้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว แต่เมื่อถึงวันนัดประชุมปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 แจ้งไปยัง ส.ส.และ ส.ว.สั่งให้เลื่อนประชุมไปเป็นเวลา 14.00 น.และ 17.00 น.ตามลำดับ โดยอ้างเหตุมีประชาชนจำนวนหนึ่งมาชุมนุมปิดล้อมนอกอาคารรัฐสภา ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตาม รธน.และไม่มีการปิดกั้นขวางการประชุมในการแถลงนโยบาย ขณะที่ พ.ต.ท.สมชาย และนายประเสริฐ ผู้ร้องที่ 1-2 สามารถเดินเข้าไปได้ภายในรัฐสภาโดยไม่มีอันตราย แล้วต่อมาภายหลังก็ให้เลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 30 ธ.ค.51 อีก ซึ่งการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท โดยผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ตาม รธน. และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มีเจตนาจงใจที่จะเปลี่ยนแปลงที่ประชุมโดยขัดต่อ รธน. ข้อบังคับ และปราศจากเหตุผล ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 1 มีคำสั่งไปยังส.ส. และ ส.ว.ผ่านโทรศัพท์มือถือ และการส่งข้อความ SMS ว่าเปลี่ยนสถานที่ประชุมจากอาคารรัฐสภา ไปที่กระทรวงการต่างประเทศของผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 2 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้ร่วมกระทำความผิดกับผู้ถูกร้องที่ 1 และที่ 3 โดยสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 3 จัดสถานที่กระทรวงการต่างประเทศให้พร้อมเพื่อใช้เป็นสถานที่การประชุมของรัฐบาล ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 3 ได้ยินยอมร่วมมือสั่งการให้ข่าราชการและเจ้าหน้าที่จัดสถานที่ประชุม การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติ รธน. และขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2551

โดยการเปลี่ยนสถานที่ที่ประชุมจากอาคารรัฐสภาไปประชุมสถานที่อื่นไม่อาจทำได้ เพราะต้องห้ามตาม รธน.และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งก่อนหน้านี้ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 7 ต.ค.51 ในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และในวันดังกล่าวก็มีประชาชนมาชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภาจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 1 ในฐานะประธานรัฐสภา ย่อมทราบดีว่า ครม.ของผู้ถูกร้องที่ 2 สามารถแถลงนโยบายได้ภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง ดังนั้นในวันสุดท้ายที่ ครม.จะแถลงนโยบายได้จึงไม่ใช่วันที่ 30 ธ.ค.51 แต่สามารถเลื่อนระยะเวลาออกไปได้อีก การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ยินยอมให้เปลี่ยนแปลงสถานที่ประชุม โดยผู้ถูกร้องที่ 2 และที่ 3 ยินยอม ทำให้ผู้ร้องทั้งสอง ซึ่งมีความตั้งใจในการอภิปรายท้วงติงและแสดงความคิดเห็นต่อ นโยบายของรัฐบาลอันเป็นการทำหน้าที่ ตามรธน.ของผู้ร้องทั้งสองได้รับความเสียหาย ซึ่งการประชุมรัฐสภาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกร้องทั้งสามจะเป็นการสร้างประเพณีปฏิบัติที่ก่อเกิดความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การที่ผู้ถูกร้องที่ 1-3 แบ่งหน้าที่กันทำในการเปลี่ยนแปลงสถานที่ประชุม ย่อมทำให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลขัดต่อ รธน. ขาดความชอบธรรมตามกฎหมาย ทำให้ประชาชน ข้าราชการไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งหรือนโยบายของรัฐบาลได้ เพราะการเข้าสู่ตำแหน่งไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่อาจดำเนินไปได้ ซึ่งผู้ร้องทั้งสอง เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตาม รธน.มาตรา 275 จึงขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ตามบทบัญญัติ รธน.มาตรา 276 เพื่อให้ไต่สวนข้อเท็จจริง และถ้าคดีมีมูลแล้ว ขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาส่งเรื่องให้มีการถอดถอนผู้ถูกร้องที่ 1-3 ออกจากตำแหน่ง และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาอาญานักการเมืองเพื่อมีคำพิพากษาต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ศาลฎีการับคำร้องไว้เพื่อเสนอที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาว่าจะมีคำสั่งรับคำร้องและแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระหรือไม่ โดยศาลฎีกาจะกำหนดวันนัดประชุมใหญ่ศาลฎีกาต่อไป

ภายหลัง นายพร้อมพงษ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การยื่นคำร้องครั้งนี้เป็นไปตามมติพรรคเพื่อไทย ที่เห็นว่า นายชัย ชิดชอบ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกษิต ภิรมย์ สมคบกันเพื่อหลบหลีกเปลี่ยนแปลงสถานที่ประชุม ซึ่งการส่ง SMS ผ่านโทรศัพท์มือถือ ส.ส.และส.ว.บางคนไม่ได้รับ ทำให้ไม่มีโอกาสได้เข้าประชุมเพี่ออภิปรายและการเปลี่ยนสถานที่ ก็เป็นการปฏิบัติไม่ชอบตามกฎหมาย หากปล่อยให้ดำเนินการต่อไปจะเป็นกรณีตัวอย่างที่จะสามารถจัดประชุมที่ไหนก็ได้ตามใจชอบ ซึ่งการประชุมดังกล่าวสามารถเลื่อนออกไปได้อีกหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งการยื่นคำร้องให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ เพราะเห็นว่าเป็นว่าเป็นช่องทางแรกที่จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคดีได้ แต่หากถูกปฏิเสธ ก็ยังสามารถยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้อีก
กำลังโหลดความคิดเห็น