xs
xsm
sm
md
lg

สตช.ปีแห่งการเปลี่ยนหัว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ปี 2551 นับเป็นปีแห่งการผันผวน เปลี่ยนหัว เปลี่ยนตัวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะเก้าอี้ผบ.ตร. เรียกได้ว่าในปีเดียวมีการเปลี่ยนตัวผู้นำหน่วยถึง 3 คน เฉกเช่นเดียวกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เริ่มกันที่ ”บิ๊กตู่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ถูกนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สั่งให้ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ก.พ.พร้อมตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง มีนายชัยเกษม นิติศิริ อัยการสูงสุดเป็นประธาน โดยได้ตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ1 รักษาราชการแทน

โดยในชั้นแรกพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถูกกล่าวหา 3 ข้อ ดังนี้ ทุจริตโครงการเช่ารถยนต์ขนาด 1 ตัน มูลค่าเฉียดหมื่นล้าน ,สั่งการด้วยถ้อยคำไม่บังควรในบันทึกขอจัดกีฬาภายในประจำปีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเสนอโดยกองสวัสดิการ และออกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับพ.ต.อ.ตำแหน่งผกก.ฝ่ายปฏิบัติการที่ 1-ที่ 10 ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในกองบังคับการต่างๆ โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ต่อมานายสมัครได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 9เม.ย.ให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ใน 3 ข้อหาเดิม และเพิ่มเติมอีก 4ข้อหา คือ 1.ทุจริตเงินงบประมาณสืบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดโครงการรับซื้อลำไยปี 2547 2.ทุจริตโครงการจัดซื้อรถจยย.สายตรวจ จำนวน 19,147 คัน 3.รีสอร์ตภูไพรธารน้ำ ของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้ทำการถมหินขนาดใหญ่ รุกแม่น้ำแควและ4.ใช้เฮลิคคอปเตอร์ราชการเดินทางไปพักผ่อนวันหยุด ซึ่งเหมือนเป็นการสั่งประหาร พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จากชีวิตราชการ แม้จะเหลืออายุราชการเพียง 8 เดือน ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังถือเป็นผบ.ตร.คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกให้ออกจากราชการ

แม้ว่าที่ผ่านมาอดีตอธิบดีกรมตำรวจ และผบ.ตร.แทบทุกคนจะมีชะตากรรมในบั้นปลายชีวิตราชการที่ไม่สวยสดงดงามนัก เพราะส่วนใหญ่ถูกเด้งไปช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผู้มีอำนาจในแต่ละยุค แต่ละสมัยมักให้เหตุผลที่แตกต่างกันไป อาทิ ไม่สนองนโยบายรัฐบาลบ้าง หรือไม่ก็ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน หรือแม้กระทั่งอยู่คนละขั้วกับรัฐบาล แต่กรณีของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ถือว่าหนักที่สุด

หากลองวิเคราะห์ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการสั่งเชือด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในครั้งนี้ เนื่องจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แม้จะเคยทำงานรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการปราบปรามผู้มีอิทธิพล แต่ในเบื้องลึกความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งคู่ ไม่ได้แนบสนิท อย่างที่หลายคนคิด แต่มีลักษณะความสัมพันธ์ของผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น ในทางกลับกับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กลับมีความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์คู่ปรับทางการเมืองที่สำคัญของพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้น

นอกจากนี้การเข้ามารับตำแหน่งเบอร์หนึ่งในรั้วปทุมวันของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เกิดขึ้นภายหลังรัฐบาลคมช.ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี สั่งเด้ง "บิ๊กโก”พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ มาช่วยราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เข้ามารับตำแหน่ง ได้ตั้งหน้าทำงานสนองนโยบายรัฐบาล และคมช.เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน พล.อ.สุรยุทธ์ เองก็ให้ความไว้วางใจ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ว่าจะขออะไร เสนอนโยบายใด ก็ได้รับไฟเขียว ซึ่งความสัมพันธ์อันดีที่เกิด ย่อมไม่พ้นสายตาของนักการเมืองพรรคพลังประชาชน เมื่อมีโอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาล การปล่อย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไว้เท่ากับมีหอกข้างแคร่ ที่จะคอยมาทิ่มแทงเอาภายหลังได้

ขณะที่อีกชนวนเหตุที่สำคัญ คือ ภายหลังการเข้ามารับตำแหน่งของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้มีการล้างบาง สั่งย้ายนายตำรวจที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคไทยรักไทยเด็กเส้นเด็กฝากของบรรดานักการเมืองหลายคน ไม่ว่าจะเป็น นายยงยุทธ ติยะไพรัช นายเนวิน ชิดชอบ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ พล.ต.ท.ชัจน์ กุลดิลก คีย์แมนคนสำคัญของพรรคพลังประชาชน ไม่เว้นแม้แต่นายตำรวจที่ใกล้ชิดกับ พล.ต.อ.โกวิท เรียกว่าไล่เช็คบิลกันรายตัว โดยส่วนใหญ่ถูกเตะโด่งลงไป 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือไม่ก็ถูกส่งไปประจำยังโรงพักชายแดนที่ห่างไกลปืนเที่ยง เมื่อลูกน้อง เด็กในสังกัดโดนรังแก จึงทำให้เกิดความแค้นที่รอวันสะสาง ฉะนั้น เมื่อการเมืองเปลี่ยน ก็ถึงคราวต้องคิดบัญชี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงมีอันต้องกระเด็นตกเก้าอี้ไป

พล.ต.อ.พัชรวาท เข้ามากุมบังเหียน ผู้นำหน่วยท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ตึงเครียด มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ขณะเดียวกันกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ปักหลักชุมนุมขับไล่รัฐบาลนอมินี่อย่างหนักหน่วง จนสามารถยึดทำเนียบรัฐบาลไว้ได้ จึงทำให้ตำรวจถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองอย่างหนัก เพื่อให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาด แต่พล.ต.อ.พัชรวาทเองกลับยังพยายามยึดแนวทางการเจรจาอะลุ่มอล่วยเป็นหลักทำให้ไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาล เพราะมองว่าอ่อนข้อให้กับม็อบมากเกินไป

แม้กระทั่งเหตุการณ์ตุลาเลือด วันที่ 7ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าพล.ต.อ.พัชรวาท จะอยู่ในข่ายที่จะต้องรับผิดชอบ ในฐานะผู้นำหน่วย แต่จากเหตุการณ์ในวันนั้นจะเห็นได้ว่า ผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรงที่แท้จริงไม่ใช่ พล.ต.อ.พัชรวาท ซึ่งจะเป็นใครต้องไปถาม นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.และพล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น.แต่ภายหลังเกิดเหตุมีผู้ต้องสังเวยชีวิต มีผู้ต้องสูญเสียอวัยวะ รัฐบาลถูกกระแสสังคมกดดัน จนมีข่าวลือหนาหูว่าจะมีการปลด พล.ต.อ.พัชรวาท เพื่อเบี่ยงเบนประเด็น แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม พล.ต.อ.พัชรวาท ก็สามารถรอดพ้นจากการถูกปลดมาได้ จนกระทั่งเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ สามารถยึดทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่รัฐบาลถูกกดดันจากหลายฝ่ายให้ยุบสภา เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นายสมชาย จึงมีคำสั่งย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท ช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.

การก้าวขึ้นมาของ พล.ต.อ.ปทีป ถูกมองว่าเข้ามา “รับงาน” จัดการกับกลุ่มพันธมิตรฯ โดยเฉพาะ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าขณะที่นายสมชายเซ็นต์คำสั่งย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท ที่จ.เชียงใหม่ พล.ต.อ.ปทีป บังเอิญอยู่ที่นั่นด้วย ซึ่งการเลือกใช้ พล.ต.อ.ปทีป ในครั้งนี้ มีนัยยะสำคัญที่ต้องพิจารณา กล่าวคือหากผลงานเข้าตา สามารถจัดการกลุ่มพันธมิตรฯได้จริง ตำแหน่งผบ.ตร.ตัวจริงจะไปไหนเสีย แต่ไม่ทันที่ พล.ต.อ.ปทีป จะได้แสดงผลงาน กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยอมสลายตัว พร้อมกับการล่มสลายไของพรรคพลังประชาชน ในวันรุ่งขึ้นหลังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ขณะที่ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์สามารถจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลได้

เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว พล.ต.อ.พัชรวาท ซึ่งเดิมทีมีสายสัมพันธ์อันดีกับพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ชายร่วมสายเลือด ก็ได้มานั่งเป็น รมว.กลาโหม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 สุดท้าย พล.ต.อ.พัชรวาท จึงหวนคืนสู่ตำแหน่ง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความไม่เหมาะสม กรณีติดบ่วงคดี 7 ตุลาเลือด และข้อกล่าวหาทุจริต งบใน สตช.
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์  เตมียาเวส
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น