จารบุรุษ
นับเป็นประวัติศาสตร์ของวงการสีกากี ซึ่งน่าจะนำไปใช้เป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคต เมื่อสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นสังกัดที่ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คืนความชอบธรรมให้กับพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ให้กลับไปทำงานยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ พร้อมอำนาจเต็มในการสั่งการดูแลตำรวจทั่วประเทศกว่า 2 แสนนาย
แม้คำสั่งดังกล่าวจะลงนามโดย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ตาม โดยคำสั่งดังกล่าวลงวันที่ 21 ต.ค.ซึ่งเป็นวันที่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และคณะรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว ส่วนสาเหตุที่ต้องลงนามในคำสั่งคืนความชอบธรรมให้กับ พล.ต.อ.พัชรวาท โดยนายชวรัตน์ นั้น มีเบื้องหลังอย่างไร คงต้องรอติดตามกันต่อไป แต่ทั้งนี้ ก็เชื่อว่า เบื้องหลังการคืนความชอบธรรมครั้งนี้ คงไม่ได้มาจากความคิดของ ครม.รักษาการของนายสมชายแน่
จะอย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ของกรมตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เคยมีอธิบดี และ ผบ.ตร.คนใด ที่ถูกเด้งไปแล้ว จะหวนกลับมาคืนสู่อำนาจในตำแหน่ง ผบ.ตร.ได้อีกครั้ง ตำแหน่ง ผบ.ตร.ของ พล.ต.อ.พัชรวาท จึงถือเป็นตำแหน่ง ผบ.ตร.ในประวัติศาสตร์ เพียงคนเดียว ที่สามารถกลับเข้ามาสู่อำนาจได้อีก แต่กระนั้นก็ตาม ต้องยอมรับว่า การคืนความชอบธรรมในครั้งนั้น ย่อมปฏิเสธอำนาจทางการเมืองไม่พ้น แต่ก็ยังถือว่า เป็นอำนาจที่เป็นไปในทางที่ดี และน่าจะนำมาเป็นบรรทัดฐานให้กับข้าราชการ หากผู้ที่ถูกการเมืองกลั่นแกล้ง ไม่มีความผิดจริง แต่ที่ต้องถูกเด้งถูกย้าย เพราะเพียงไม่สนองตอบตัณหาของฝ่ายการเมืองเท่านั้น
เชื่อว่า กรณีที่เกิดขึ้น น่าจะนำขวัญและกำลังใจมาสู่ตำรวจผู้ใต้บังคัญบัญชาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกัน น่าจะมีการดำเนินการ และกำจัด นายตำรวจที่คอยจ้องสนองตอบตัณหาของบรรดานักการเมืองที่ผ่านมา โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรม เพียงขอให้ได้สกัดกั้น เลื่อยขา เหยียบหัวรุ่นน้อง ข้ามหัวรุ่นพี่ ไปสู่ตำแหน่งที่ตนเองปรารถนา โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรมใดๆ อาศัยอำนาจของนักการเมืองที่ตัวเองเข้าไปประจบสอพลอ เพื่อกำขัดฝ่ายตรงข้าม โดยมิได้คำนึงว่า ตนเองนั้นก็สวมชุดผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อยู่เช่นกัน
เมื่อมองย้อนกลับไปดูอดีตอธิบดีกรมตำรวจ (อ.ตร.) และอดีต ผบ.ตร.ในหลายยุคที่ผ่านมา ไม่มี อ.ตร.และ ผบ.ตร.คนไหน ที่ถูกเด้งไปแล้ว จะหวนกลับคืนมาสู่อำนาจได้อีกครั้ง เหมือนพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เท่าที่พอจะจำความได้ นับตั้งแต่ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง อ.ตร.ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534-2536 ก็ต้องถูกเด้งเข้ากรุ ยังไม่ทันได้เกษียณอายุราชการ ส่งผลให้พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ รอง อ.ตร.ขึ้นมารักษาการ และเป็น อ.ตร.เต็มตัวระหว่าง พ.ศ. 2536-2537 พ้นจากตำแหน่ง อ.ตร.เพราะเกษียณอายุราชการ ปิดฉากความเป็น “ตำรวจอาชีพ” อย่างภาคภูมิใจ
ต่อมา พล.ต.อ.พจน์ บุณยจินดา ขึ้นเถลิงอำนาจเป็น อ.ตร.ตั้งแต่ พ.ศ.2537-2539 ก็ถูกเด้งไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน แม้ก่อนจะถูกเด้ง พล.ต.อ.พจน์ จะเพียรพยายามล็อบบี้นักการเมืองจนถึงที่สุดแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้อยู่เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง อ.ตร.ถัดจากพล.ต.อ.พจน์ เป็นพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ขึ้นมาเป็น อ.ตร.ระหว่าง พ.ศ.2539-16 ต.ค.2541 และกรมมตำรวจ ถูกยกฐานะขึ้นเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจถูกยกฐานะขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ประชา ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจคนสุดท้าย และได้เป็น ผบ.ตร.คนแรก ครองอำนาจในตำแหน่ง ผบ.ตร.ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2541-2543 รวมระยะเวลากว่า 5 ปี เกือบเทียบเท่าพล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น (2519-2524) และพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ (2494-2500) อดีต อ.ตร.ที่ครองตำแหน่งค่อนข้างยาวนานที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ พล.ต.อ.ประชา จะลาออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร.เพื่อก้าวลงสู่สนามการเมือง แต่ในครั้งนั้นก็เป็นที่น่าสังเกตว่า หาก พล.ต.อ.ประชา จะยังคิดอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ตร.ต่อไปนั้น หลายฝ่ายในขณะนั้น วิเคราะห์กันว่า ไม่น่าจะอยู่ถึงเกษียณอายุราชการ ทำให้ พล.ต.อ.ประชา ชิงลาออกเสียก่อน และเปิดทางในเพื่อนร่วมรุ่นอย่างพล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ขึ้นมาเสวยอำนาจในตำแหน่ง ผบ.ตร.แทนในระหว่างปี 2543-2544 แม้ พล.ต.อ.พรศักดิ์ จะอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ตร.จนครบอายุเกษียณราชการเป็นเกียรติประวัติ แต่ในยุคนั้น ก็ถือกันว่า พล.ต.อ.พรศักดิ์ เข้ามาเสวยสุขเท่านั้น ไม่ได้มีบทบาทในการพัฒนาองค์กรตำรวจเท่าไรนัก
สิ้นยุค พล.ต.อ.พรศักดิ์ นายพลที่สูงที่สุด และชอบบริโภคท่ออสุจิปลาวาฬเป็นชีวิตจิตใจ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างพล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ขึ้นมาเถลิงอำนาจระหว่าง พ.ศ.2544-2547 แม้จะมีหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หนุนหลังอยู่ แต่ก็ไม่ทำให้ พล.ต.อ.สันต์ สามารถรอดพ้น อยู่ในตำแหน่งจนเกษียณอายุราชการได้ เมื่อ พล.ต.อ.สันต์ สิ้นอำนาจลง ถึงคราวถึงคิวของ “บิ๊กโก” พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ระหว่าง พ.ศ.2547-2550 ที่ถือเป็นความหวังของตำรวจกว่า 2 แสนนาย ที่ “บิ๊กโก” จะนำพาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก้าวไปข้างหน้า แต่แล้ว กาลเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า พล.ต.อ.โกวิท “ไม่มีอะไรๆ” จริงๆ ในที่สุด ก็ถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ สั่งย้ายไปช่วยราชการยังสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.โกวิท ก็ไม่ยอมลาออก อยู่จนเกษียณราชการในตำแหน่ง “ผบ.ตร.ช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี”
ในระหว่าง พ.ศ.2550-2551 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.แม้จะเหลืออายุราชการอีกเพียงไม่กี่เดือน แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ไม่สามารถรอดพ้นอุ้มมือมารจากนักการเมืองไปได้ ถูกเด้งไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน จนกระทั่ง พล.ต.อ.พัชรวาท ขึ้นมานั่งรักษาราชการแทนตำแหน่ง ผบ.ตร.และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เกษียณอายุราชการไป พล.ต.อ.พัชรวาท จึงเข้านั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.อย่างเต็มตัว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่แล้ว “เก้าอี้อาถรรพ์” ก็หวนกลับมาปลิดตำแหน่ง ผบ.ตร.ของ พล.ต.อ.พัชรวาท อีก ในปลายสมัยของรัฐบาลนอมินีสมชาย ต้องไปนั่งตบยุง ที่สำนักนายกรัฐมนตรี
การถูกเด้งดังกล่าว ใครๆ ก็คาดการณ์กันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมี ผบ.ตร.คนใหม่อย่างแน่นอน (แม้แต่รอง ผบ.ตร.อันดับบ๊วยๆ ยังแอบแต่งตัวรอเสียด้วยซ้ำ) แต่แล้ว สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น ก็มาเกิดขึ้น เมื่อสำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งเลขที่ 325/2551 ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท กลับมาปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิม มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.2551 จึงนับว่า เป็นประวัติศาสตร์ของกรมตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อพล.ต.อ.พัชรวาท สามารถกลับมาสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร.ได้ ซึ่งคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2552 นี้ จะอยู่รอดในตำแหน่งและอำนาจเต็มในฐานะ ผบ.ตร.ได้หรือไม่ เพราะเก้าอี้ ผบ.ตร.ตัวนี้ มันอาถรรพ์จริงๆ