“ประธานกรรมการมรรยาททนายความ” เตรียมประชุมคณะกรรมการ 23 ธ.ค.นี้ หารือกรณี “3 ทนายทักษิณ” ร้องขอชี้แจงด้วยวาจา หลังพ้นโทษคุก 6 เดือนละเมิดอำนาจศาลคดีถุงขนม 2 ล้าน ชี้โทษหนักถึงขั้นลบชื่อออกจากบัญชีทนาย ต้องให้โอกาสชี้แจงอย่างเป็นธรรม ป้องกันถูกฟ้องกลับคดีปกครอง ย้ำเดินหน้าสอบมรรยาท ไม่ต้องรออัยการสั่งคดีสินบน
วันนี้ (21 ธ.ค.) นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานกรรมการมรรยาท สภาทนายความ เปิดเผยถึง กรณีที่ นายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา, น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ เสมียนทนายความ และนายธนา ตันศิริ ผู้ประสานงานคดี ผู้ต้องขังคดีละเมิดอำนาจศาล กรณีนำเงินถุงขนมสอดไส้ 2 ล้านบาทติดสินบนเจ้าหน้าที่ธุรการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการมรรยาท สภาทนายความ เพื่อขอโอกาสเข้าชี้แจงให้ถ้อยคำด้วยตนเอง หลังจากพ้นโทษจำคุก 6 เดือน ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ว่า คณะกรรมมรรยาทฯ จะนำเรื่องนี้เข้าหารือกันในที่ประชุมวันที่ 23 ธ.ค.นี้ เวลา 16.30 น.เพื่อจะพิจารณาว่าจะให้ทนายความทั้งสาม เข้าชี้แจงจะเป็นวัน-เวลาใด ซึ่งแม้ว่าก่อนหน้านี้ทนายความทั้งสาม ได้เคยส่งคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการมรรยาทฯ เมื่อประมาณเดือน ต.ค.ระหว่างถูกคุมขัง ตามที่คณะกรรมการมรรยาทฯ มีหนังสือแจ้งให้ทั้งสามทราบการตั้งข้อกล่าวหาและเปิดโอกาสให้ชี้แจงตามขั้นตอนกฎหมายแล้วก็ตาม
แต่เมื่อทนายความทั้งสาม ผู้ถูกกล่าวต้องการบอกเล่าเรื่องราว เพื่อให้เห็นว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร คณะกรรมการมรรยาทฯ ในฐานะผู้ดูแล ตรวจสอบ ควบคุมความประพฤติของทนายความ ก็จะต้องดำเนินการต่างๆ ที่จะให้มีชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างเป็นธรรม และป้องกันกรณีที่จะมีการนำคดีไปฟ้องศาลปกครองภายหลังว่าการสอบสวนมรรยาทนั้นดำเนินการโดยมิชอบ ตัดโอกาสการชี้แจง ซึ่งโทษของการทำผิดมรรยาท คือ ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความเป็นเวลา 5 ปี
ส่วนที่การสอบสวนมรรยาทจะต้องรอฟังการสั่งคดีของอัยการ สำนวนคดีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้อง ทนายความทั้งสาม ข้อหาให้สินบนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือไม่ นายสิทธิโชค กล่าวว่า ไม่ต้องรอฟังการสั่งคดีดังกล่าว เนื่องจากความคดีนั้น แยกส่วนจากความผิดที่ศาลฎีกามีบทลงโทษทนายความทั้งสามแล้วฐานประพฤติตนไม่เหมาะสมอันเป็นการละเมิดอำนาจศาล ขณะที่ข้อหาการให้สินบนนั้นผลการดำเนินยังไม่ถึงที่สุด จะต้องมีการพิจารณาพฤติการณ์และเจตนาว่า เข้าข่ายการกระทำผิดหรือไม่ และถ้าแม้อัยการจะสั่งฟ้องก็ยังต้องรอฟังคำวินิจฉัยคดีในชั้นศาลด้วยว่าจะเป็นอย่างไร