xs
xsm
sm
md
lg

กลัวไม่คล่อง! ตร.ทางหลวงซ้อมเขียนใบสั่งช่วงเทศกาลปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“เดอะแมว” โฆษกตำรวจทางหลวง เผยช่วง 15-24 ธ.ค.นี้ ตำรวจทางหลวงจะซักซ้อมการตั้งด่าน และแจกใบเตือนเสมือนใบสั่ง สำหรับผู้ที่กระทำผิดกฎจราจรเล็กๆ น้อยๆ โดยด้านหลังใบเตือนจะมีคำอวยพรปีใหม่แถมให้ด้วย

วันนี้ (17 ธ.ค.) พ.ต.อ.พินิต มณีรัตน์ รองผบก.ทล. ในฐานะโฆษกกองบังคับการตำรวจทางหลวง เปิดเผยมาตรการดูแลความปลอดภัยของประชานที่ใช้เส้นทางหลวงในการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 ว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายป้องกันเหตุร้ายต่างๆ เพื่อป้องกันชีวิตทรัพย์สินและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ในช่วง 7 วันอันตราย ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2551 – 5 มกราคม 2552 ซึ่งทุกปีจะเกิดอุบัติเหตุทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอุบัติเหตุจราจร ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อขาดจิตสำนึกของผู้ขับขี่ เช่น เมาสุรา, ง่วงนอน, อุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบ, ไม่คุ้นเคยเส้นทาง, ขับรถเร็วเกินอัตรา, บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

พ.ต.อ.พินิต กล่าวต่อว่า ในส่วนของตำรวจทางหลวง พ.ต.อ.สมยศ พรหมนิ่ม รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง สั่งการให้ตำรวจทางหลวงทั้ง 37 สถานีทั่วประเทศระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์ทุกชนิด รวมทั้งได้ขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกและให้การบริการพี่น้องประชาชนที่ใช้เส้นทางหลวงเดินทางไกลสัญจรไปมาในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ให้มีความปลอดภัยและอบอุ่นใจ, ร่วมมือร่วมใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นให้มากที่สุด โดยเฉพาะในด้านการเร่งระบายกระแสการจราจรเพื่อออกจากกรุงเทพฯ ไปยังภูมิภาคต่างๆ ให้ประชาชนเดินทางใช้เวลาอันรวดเร็วไม่ให้มีการติดขัด และเดินทางไกลอย่างสะดวกสบาย พร้อมกับให้บริการด้านอื่นๆ ตามจุดบริการต่างๆ ของสถานีตำรวจทางหลวงทั่วประเทศอย่างเต็มที่

โฆษกตำรวจทางหลวง ยังกล่าวอีกว่า ส่วนนี้ยังมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงทุกหน่วยระดมเตรียมความพร้อมโดยซักซ้อมเพื่อทราบปัญหาและจุดอ่อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่ 15 – 24 ธันวาคม 2551 นี้ โดยให้มีการตรวจจับขึ้นตามจุดต่าง ๆ และในช่วงดังกล่าวจะให้โอกาสพี่น้องประชาชนที่กระทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ว่ากล่าวตักเตือนได้ จะได้รับใบสั่งใบเตือน (เตือนไว้เป็นที่ระลึก) โดยเอกสารดังกล่าวเป็นคล้ายๆ ใบสั่ง แต่ด้านหลังจะมีคำอวยพร และปฏิทินปีใหม่ (ส.ค.ส. 2552) จากตำรวจทางหลวง และเอกสารคู่มือเตือนใจเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกผู้ใช้รถใช้ถนนถือเป็นการซักซ้อมการปฏิบัติ เพื่อนำมาประยุกต์และปรับปรุงให้เหมาะสมกับช่วงระดมตามแผนฯ ในช่วง 7 วันอันตราย อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ กองบังคับการตำรวจทางหลวงได้รวบรวมเส้นทางเลี่ยงกรุงเทพฯ จากภาคต่างๆ ไปสู่ภาคต่างๆ เพื่อสามารถหลบหลีกสภาพการจราจรที่ติดขัดได้ ดังนี้ 1.ภาคใต้ ไปภาคเหนือ ใช้ถนนเพชรเกษม - นครปฐม เข้าสู่ถนนวงแหวนตะวันตก (ถนนกาญจนาภิเษก) เข้าถนนตลิ่งชัน- สุพรรณบุรี (อ.ศรีประจันต์) มุ่งสู่ อ.หันคา จ.ชัยนาท – จ.นครสวรรค์ หรือ ถนนเพชรเกษม เข้าสู่ถนนวงแหวนตะวันตก ถึง อ.บางบัวทอง เลี้ยวขวาเข้าถนนรัตนาธิเบศร์ ผ่านถนนงามวงศ์วาน ขึ้นทางด่วน อุดรรัตยา (ทางด่วนไปธรรมศาสตร์) ลงบางประหัน (ทล.347) ผ่านทางแยกเข้า อ.บางปะอิน แยกเสนา เลี้ยวขวา ทางหลวงสายเอเชีย ที่ กม.88 ต่างระดับบางประหัน มุ่งสู่ จ.อ่างทองผ่าน จ.ชัยนาท, จ.อุทัยธานี และ จ.นครสวรรค์

2.ภาคใต้ ไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ใช้เส้นทาง ถนนวงแหวนตะวันออก (ทางหลวงพิเศษฯ) ลงต่างระดับธัญบุรี ผ่าน อ.องครักษ์ (จ.นครนายก) ถึงทางแยกเข้า อ.บ้านนา ใช้เส้นทาง บ้านนา – แก่งคอย วิ่งถึงต่างระดับ แก่งคอย ใช้เส้นทางถนนมิตรภาพ ผ่าน อ.มวกเหล็ก ,อ.กลางดง ,อ.ปากช่อง มุ่งสู่ จ.นครราชสีมา, จ.ขอนแก่น 3.เส้นกรุงเทพฯ ไปภาคใต้ ใช้ได้ 2 เส้นทาง คือ ถนนบรมราชชนนี มุ่งหน้าถนนพุทธมณฑล – ถนนเพชรเกษม เลี้ยวขวาแยกนครชัยศรี ใช้ถนนเพชรเกษม สู่ภาคใต้ และเส้นทางด่วนลงดาวคะนอง ใช้เส้นทางถนนธนบุรี – ปากท่อ (พระราม 2) มุ่งหน้าสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สุดทาง (แยกปากท่อ) เลี้ยวซ้ายขึ้นถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ และ 4.เส้นกรุงเทพ – ภาคตะวันออก สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือใช้ทางด่วนไปบางนา ขึ้นยกระดับบูรพาวิถี ผ่าน อ.บางพลี – อ.บางประกง มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออก – ผ่าน จ.ชลบุรี, จ.ระยอง, จ.จันทบุรี,จ.ตราด หรือเส้นทางด่วนศรีนครินทร์ – ขึ้นถนนมอเตอร์เวย์(ทางหลวงพิเศษกรุงเทพ-ชลบุรี)มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออก

นอกจากนี้ จะได้แนะนำเส้นทางพิเศษที่สามารถใช้หลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานครได้ จำนวน 4 เส้นทาง คือ 1.ถนนรังสิต – นครนายก ผ่านทางต่างระดับรังสิต สู่ อ.ธัญบุรี อ.องครักษ์ วิ่งตรง อ.ปากพลี (จ.นครนายก) ผ่าน อ.ประจันตคาม, อ.กบินทร์บุรี (จ.ปราจีนบุรี) ตรงสี่แยกเลี้ยวซ้าย ถนนกบินทร์บุรี- นครราชสีมา ผ่าน อ.วังน้ำเขียว มุ่งสู่ จ.นครราชสีมา หรือ ใช้เส้นทางสีคิ้ว – อุบลราชธานี เดินทางไปยัง จ.บุรีรัมย์ 2.ถนนสุขุมวิท – ผ่าน อ.บางบ่อ, อ.บางประกง ใช้เส้นทางถนน กบินทร์บุรี – นครราชสีมา ผ่าน อ.พนมสารคาม (จ.ฉะเชิงเทรา) วิ่งตรงไปจนถึง 4 แยกกบินทร์บุรี วิ่งตรงมุ่งสู่ อ.วังน้ำเขียว – อ.ปักธงชัย (จ.นครราชสีมา) หรือใช้เส้นทางสีคิ้ว- อุบลราชธานี เดินทางไปยัง จ.ศรีสระเกษ , จ.สุรินทร์

3. ถนนพหลโยธิน – วิ่งตรงไปบายพาส จ.สระบุรี – ถนนพุแค – หล่มสัก มุ่งหน้าชัยภูมิ ต่อไปออกพิษณุโลก ขึ้นภาคเหนือได้ 4. วิ่งจากชลบุรี ใช้ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันออก) ต่อด้วยถนนสุขุมวิท(สาย 3) เลี้ยวซ้ายขึ้นวงแหวนตะวันตก ข้ามสะพานกาญจนาภิเษก อ.พระประแดง (แม่น้ำเจ้าพระยา) มุ่งหน้าถนนพระราม 2 – เข้าถนนธนบุรี – ปากท่อ ถึงแยกวังมะนาวเลี้ยวซ้ายขึ้นถนนเพชรเกษม - สู่ภาคใต้


กำลังโหลดความคิดเห็น