xs
xsm
sm
md
lg

“ปทีป” เร่งสปีดเอาผิดผู้ชุมนุม สั่งลูกน้องระวังการให้ข่าว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร.
รักษาการ ผบ.ตร.มีคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเร่งรัดดำเนินคดีการชุมนุมทุกคดีตามที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมเร่งรวบรวบหลักฐานที่จะพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาให้ครบถ้วนเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เน้นข้าราชการในสังกัดทุกนายระมัดระวังการให้ข่าวเป็นพิเศษ เพราะอาจให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน

วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผบ.ตร.รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ในภาพรวมของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อติดตามสถานการณ์ (ศปก.ตร.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร.ในฐานะ ผอ.ศปก.ตร.ได้มีคำสั่งที่ 0014.21/34 ลงวันที่ 12 ธ.ค.ถึง จตช. รอง ผบ.ตร. หรือตำแหน่งเทียบเท่า รอง จตช. ผู้ช่วย ผบ.ตร. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า รอง ผบช. และ ผบก.ประจำ สง.ผบ.ตร. และผบก.ในสังกัด สง.ผบ.ตร. เรื่องกำชับการปฎิบัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีและการให้ข่าว แถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ โดยสั่งการให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือปฎิบัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีและการให้ข่าว ดังนี้ 1.การดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้อง ให้เร่งรัดการดำเนินคดีทุกคดีกับทุกข์ฝ่ายที่มีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และให้รวบรวมหลักฐานทุกชนิดที่จะพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาให้ครบถ้วนและพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ตลอดจนมีความเห็นทางคดีไปตามข้อเท็จจริงของพยานหลักฐานในแต่ละคดี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคำครหาว่าตำรวจเลือกปฎิบัติ

2.การปฎิบัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีและการให้ข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ให้ทุกหน่วยกำชับข้าราชการตำรวจทุกนายในสังกัด ดำเนินการให้ถูกต้องตามนัยคำสั่ง ตร.ที่ 855/2548 ลงวันที่ 16 พ.ย. 2548 เรื่องการปฎิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ รวมทั้งระเบียบ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้หรือให้สัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับคดีที่สืบเนื่องจาการชุมนุม ให้พึงระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
กำลังโหลดความคิดเห็น