“ดีเอสไอ” เรียกประชุมวางแผนช่วยลูกหนี้ ปรส.หลังผลสอบพบประมูลขายสินทรัพย์จาก 56 ไฟแนนซ์โดยมิชอบ ส่งผลให้ลูกหนี้ถูกฟ้องบังคับคดี-ล้มละลาย ถึงแสนราย
วันนี้ (11 ธ.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ เป็นประธานการประชุมหารือวางแนวทางช่วยเหลือ แก้ไข และเยียวยาลูกหนี้ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)
นางกัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ เปิดเผยว่า การขายหนี้มูลค่า 800,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนต่างๆ ในราคาที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการขาดทุนถึง 800,000 ล้านบาท มีลูกหนี้บางส่วนได้เข้าชำระหนี้ให้กับกองทุนต่างชาติ แต่ลูกหนี้ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ต่อมากองทุนผู้เข้าซื้อหนี้จาก ปรส.ได้ฟ้องร้องเรียกหนี้กับลูกหนี้ตั้งแต่ปี 2542-2543 เป็นต้นมา แต่ทางฝ่ายลูกหนี้ได้ต่อสู้คดีในเรื่องความไม่โปร่งใสของการขายหนี้ จนกระทั่งลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์และนำมาขายทอดตลาด ลูกหนี้จำนวนมากต้องสูญเสียบ้านพักอาศัยที่ทำกิน และบางส่วนกลายเป็นบุคคลล้มละลาย ทั้งนี้ จากการตรวจสอบไปยังศาลล้มละลายกลาง พบว่า มีลูกหนี้ซึ่งเป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ถูกฟ้องล้มละลายถึง 100,000 ราย
นางกัลยาณี กล่าวอีกว่า เมื่อปี 2550 ได้มีการชี้มูลความผิดในการซื้อขายหนี้ ปรส.จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำให้กองทุนต่างๆ ที่เข้าข่ายการซื้อขายที่มีปัญหาได้เร่งรัดดำเนินการกับลูกหนี้ มีการว่าจ้างบุคลากรภายนอกที่ไม่ใช้เป็นผู้ชำนาญการทางการเงินบีบคั้นเร่งรัดหนี้จากลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ต่อมาปี 2551 ดีเอสไอได้ดำเนินคดีกับผู้บริหาร ปรส.ในประเด็นการทำสัญญาที่ไม่ชอบ แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ จึงต้องร้องขอความช่วยเหลือจากดีเอสไอเพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางบรรเทา และเยียวยาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหน้า ปรส.ต่อไป
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอ ได้รับการประสานงานจาก เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ เพื่อขอข้อมูลและแนวทางการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาลูกหนี้ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการบังคับชำระหนี้อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งเกิดจากการที่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้จัดการขายสินทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงินให้กับกองทุนต่างๆ ภายหลังกองทุนเหล่านี้ได้ฟ้องร้องบังคับชำระหนี้กับลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้บางรายถูกยึดที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน ถูกบีบบังคับ กดดัน ข่มขู่ ทำให้ครอบครัวแตกแยก ข้าราชการบางรายฆ่าตัวตาย เพื่อหนีปัญหา และปัจจุบันเจ้าหนี้ได้นำประเด็นการฟ้องล้มละลายมาดำเนินการกับลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้เหล่านี้หลายรายเป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีจำนวนมากทำให้มีผลกระทบต่อสถานการณ์เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤตต่อสังคมไทยอย่างยิ่งในปัจจุบันและอนาคต