ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ TOT ฟ้อง “สพรั่ง กับพวก” ปลดออกจากตำแหน่งมิชอบ ระบุเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย
วันนี้ (20 พ.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 806 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ อ.1757/2551 นายสมควร บรูมินเหนทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตประธานคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ
นายกิตติ ตีรเศรษฐ นายชวลิต เศษฐเมธีกุล หรือ เศรษฐเมธีกุล นางสาวสุภา ปิยะจิตติ นายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายชิต เหล่าวัฒนา พ.อ.กรัตนพันธุ์ โรจนะภิรมย์ นายวีรพล ปานะบุตร นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท และ ม.ล.อนุพร เกษมสันต์ เป็นจำเลยที่ 1-14 ในความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
จากกรณีเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2550 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 มีตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกัน มีมติเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของโจทก์ ในการเลิกจ้าง และแต่งตั้ง นายกิตติพงศ์ เตมียะประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่แทนตน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานจากการนำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าในขณะเกิดเหตุโจทก์ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่พิจารณา การลดและคืนค่าปรับ ให้กับ บ.อัลคาเทล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญา แต่โจทก์ได้ใช้ดุลพินิจส่วนตัว ในลดและคืนค่าปรับให้กับ บริษัท อัลคาเทล จำกัด เป็นเงินจำนวน 125 ล้านบาท โดยที่ไม่นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม บอร์ด อันเป็นการจงใจทำให้ บริษัท ทีโอที ในฐานะผู้ว่าจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ไม่รักษาผลประโยชน์ของบริษัท
ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าโจทก์ทำให้ บ.ทีโอที ได้รับความเสียหาย 125 ล้านบาท ตีความข้อสัญญาผิดอย่างร้ายแรงลดค่าปรับให้บริษัทเอกชน อันเป็นความผิดร้ายแรง จึงเห็นควรให้เลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2550 เป็นต้นไป
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำ ไปตามข้อบังคับของ บริษัท ทีโอที เมื่อพบความเสียหายเกิดขึ้น ในเรื่องของคู่สัญญา จึงต้องสอบสวนหาคนผิด และเมื่อปรากฏ ว่า โจทก์ มีความผิดก็ต้องเลิกจ้าง อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้ง 14 คน จึงไม่เป็นความผิด คดีไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง