xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส...ตามหานักการเมืองสั่งฆ่าประชาชน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

1.วันนั้นทำไมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายชุด และหลายเครื่องแบบ โดยหนึ่งในนั้นคือ ตำรวจตระเวนชายแดน
2.อาวุธและแก๊สน้ำตาเบิกมาจากหน่วยใด
3.ผู้ปฏิบัติการในวันนั้นเคยผ่านการฝึกหรือไม่
4.ผู้ใหญ่บางคนในที่ประชุมวันนั้น (7 ต.ค.) ตั้งข้อสังเกตว่าวันนั้นยิงเพียง 3 นัดก็พอ แต่ทำไมยิงเป็นร้อยนัดแบบนั้น
5.คำสั่งในวันนั้นใครสั่ง
6.เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในวันนั้นทำไมประเมินว่าสลายการชุมนุมช่วงเช้าแล้ว ทำไมต้องสลายต่อในช่วงเย็นด้วย

นั่นคือ ข้อสรุปที่ "พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์" ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ออกมาตั้งคำถาม ต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยคุณหญิงหมอ ออกมาระบุ ว่า"ระดับรองนายกฯ 2 คน ออกไปแล้ว 1 สวมบท "มาสเตอร์มายด์"บีบตำรวจใหญ่ลุยม็อบ"

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี(ในขณะนั้น) และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือ 2 บุคคลที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย

โดยในส่วนของ พล.อ.ชวลิต ได้ลาออกไปแล้ว จึงขอถอดรหัสเฉพาะ พล.ต.อ.โกวิท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าความน่าจะเป็นสูงหรือไม่ ที่ พล.ต.อ.โกวิท คือผู้สั่งฆ่าประชาชน?

ขณะที่การแถลงข่าวของ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน ผู้ใกล้ชิด พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อ้างว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เวลา 02.00 น.หลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม. พล.อ.ชวลิต ไปมอบนโยบายและให้กำลังใจตำรวจใน บช.น. พร้อมพูดคุยกับ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. โดยให้ใช้วิธีการที่ละมุนละม่อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมให้มากที่สุด จากนั้น ผบช.น.ได้ประสานกันภายในกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และมีการหารือกันอย่างเคร่งเครียด โดยมีการระบุว่าอย่างไรก็แล้วแต่จะต้องใช้รัฐสภาเป็นสถานที่ประชุมให้ได้ ก่อนที่จะมีการต่อสายไปยัง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย ซึ่ง พล.ต.อ.โกวิทได้ระบุว่า "สามารถจัดการสลายการชุมนุมได้"

หลักฐานสำคัญอีกชิ้น ที่จะใช้ยืนยันพฤติกรรมอันโหดเหี้ยมของ "พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ"คือครั้งปฎิบัติการ 64 ชั่วโมง"โกวิท"สั่งทำร้ายประชาชน ในวันที่ พันธมิตรฯบุกเข้ายึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และ ทำเนียบรัฐบาล หลังจากที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น มอบอำนาจเต็มให้กับ “พล.ต.อ.โกวิท ”เป็นแม่ทัพปราบปรามกองทัพประชาชนผู้บริสุทธิ์

ย้อนไป 26 ส.ค.2551 เวลาประมาณ 05.30 น.พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปฏิบัติการดาวกระจายขั้นเด็ดขาดบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และยึดสถานที่ราชการสำคัญ ได้สำเร็จ

เวลา 15.10 น.นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เปิดแถลงข่าวที่กองทัพไทย แต่งตั้ง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองนายกรัฐมนตรี โดยมอบอำนาจเต็มให้เดินหน้าปราบพันธมิตรฯที่ทำเนียบ โดยมอบดาบให้ปฏิบัติหน้าที่สั่งราชการงานตำรวจ ในการปฏิบัติงานของตำรวจทั้งหมด และราชการมหาดไทยที่รับผิดชอบอยู่ ให้ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาพปกติ

เวลา 15.40 น. พล.ต.อ.โกวิท เรียก นายตำรวจระดับสูง และข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ประชุมที่ห้องปารุสกวัน 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมจัดตั้งศูนย์บัญชาการรบตลอด 24 ชั่วโมง

เวลา 16.20 น. พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง ผู้ช่วย ผบ.ตร.และรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาแถลงข่าวว่า ให้พันธมิตร ออกจากทำเนียบรัฐบาลภายใน 18.00 น.หากไม่ปฎิบัติตามจะดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด

เวลา 17.45 น.ตำรวจสันติบาล ได้ส่งตำรวจหญิงนอกเครื่องแบบ ใส่เสื้อเหลืองจำนวน 200 นาย เข้าปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล ถึงขั้นที่ผู้กำกับ สันติบาล ปลอมตัวเป็นคนเก็บขยะ

วันที่ 27 ส.ค.2551 เวลา 16.00 น.พล.ต.อ.โกวิท แถลงหลังประชุมกับตำรวจที่ศูนย์นครบาล โดยเรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรฯเคลื่อนขบวนออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยอ้างว่า ตนเอง และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ได้รับมอบหมายจาก นายสมัคร สุนทรเวช ให้ดูแลความสงบเรียบร้อย โดยย้ำว่าการยึดทำเนียบเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษทางอาญาอย่างสูง เพราะทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ราชการสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยยกหมายวันที่ 30 ส.ค.2551 รัฐบาลมีพิธีพระราชทานธงสัญลักษณ์ ในงานจากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี โดยจะมีพระราชพิธีที่สำคัญ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้ทำเนียบ

วันที่ 28 ส.ค. 2551 เวลา 09.45 น. พล.ต.อ.โกวิท ประชุมประเมินสถานการณ์ โดยตอบคำถามผู้สื่อข่าวสั้นๆก่อนประชุม เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงกางเต้นท์อยู่ภายในทำเนียบ ตำรวจจะดำเนินการอย่างไร โดย พล.ต.อ.โกวิท ตอบว่า “เลอะ เลอะ ไม่เป็นไร คนไทยด้วยกัน ตำรวจมีวิธีจัดการ เดี๋ยวคอยดู”

เวลา 14.00 น.พล.ต.อ.โกวิท ประชุมประเมินสถานการณ์ หลังประชุมเสร็จ พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง แถลงขอให้พันธมิตรออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยใช้หมายจับและคำสั่งศาลแพ่งที่คุ้มชั่วคราว ขับไล่พันธมิตรออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยมีผลทันที

วันที่ 29 ส.ค.2551 พล.ต.อ.โกวิท ประชุมที่ศูนย์บัญชาการนครบาล เวลา 09.30 น.มอบหมาย นายศุภชัย ใจสมุทร เลขานุการ รมว.มหาดไทย ในฐานะตัวแทนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้รับแต่งตั้งโดยศาลแพ่ง ได้ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้แทนโจทก์ ถึงเรื่องการนำประกาศจากศาลแพ่งที่สั่งคุ้มครองชั่วคราว ไปปิดประกาศบริเวณทำเนียบรัฐบาล โดยจะนำไปปิดทั้งหมดรวม 5 จุด ประกอบด้วย สะพานมรุยเชฐ สะพานมัฆวานรังสรรค์ แยกสวนมิสกวัน ลานพระบรมรูปทรงม้า และสะพานอรทัย

เวลา 10.00 น.เจ้าพนักงานบังคับคดี กองกำลังตำรวจพร้อมอาวุธครบมือ ออกปิดหมายศาล ขณะที่เวลา 10.15 น.ปฏิบัติการทำร้ายประชาชน รื้อค้นสิ่งของ เต็นท์ และสิ่งกีดขวางออกจากพื้นที่ เกิดขึ้น เหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะท่ามกลางแสงแดดที่แผดจ้า ภาพป่าเถื่อนปรากฎต่อประชาชนคนไทยทั่วประเทศ และสายตาชาวโลก ขณะที่ พล.ต.อ.โกวิท ยังบัญชาการอยู่ที่ศูนย์ นครบาล

คำตอบ ประมาณเวลา 13.30 น.พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รอง ผบช.น.ตอบคำถาม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน ว่าได้รับสั่งการ พล.ต.อ.โกวิท จากรองนายกรัฐมนตรี

สำหรับ“พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หลังหวนคืนสู่อำนาจ มารับตำแหน่งใหญ่ ในรัฐบาลนอมินี หลายคนเคยสงสัยว่า เขามีดีอะไร ใครคือบุคคลหนุนอยู่เบื้องหลัง และตำแหน่ง รมว.มหาดไทย เป็นแค่ความฝัน...ในช่วงชีวิตอันสั้น ของอดีตแม่ทัพสีกากี ผู้นี้...(ที่ตาเหม่อลอย ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่โวยวาย และปฏิบัติตามทำตามนายสั่งอย่างเคร่งครัด)...

ส่วนบทสรุปสุดท้าย เหตุการณ์นองเลือด 7 ตุลาคม ฝ่ายการเมือง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย รวมทั้ง บรรดาตำรวจที่รับใช้นักการเมือง จะมีใครต้องชดใช้กรรม ด้วยการติดคุกติดตะราง หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป...


ภาพเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551



ภาพเหตุการณ์วันที่ 26-29 สิงหาคม 2551
ภาพเหตุการณ์วันที่ 26-29 สิงหาคม 2551


กำลังโหลดความคิดเห็น