ชี้หาก “ทักษิณ-หญิงอ้อ” ขอลี้ภัยต่างประเทศ ไม่กระทบการไต่สวนคดีที่ทุจริตซื้อที่ดินรัชดาฯ เพราะแม้ตัวจำเลยไม่อยู่ องค์คณะผู้พิพากษายังสามารถพิจารณาคดีลับหลังได้แต่จำเลยอาจถูกออกหมายจับ หรือสั่งปรับนายประกัน ถ้าไม่มารายงานตัวตามนัด 11 ส.ค.นี้
วันนี้ (8 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา จำเลยที่ 1-2 คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก อาจขอลี้ภัยยังต่างประเทศ และอาจไม่เข้ารายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ ตามที่ศาลกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้ทั้งสองเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งมีข้อสงสัยตามมาว่ากระบวนการพิจารณาคดีจะต้องหยุดชะงักไปหรือไม่นั้น
แหล่งข่าวจากศาลฎีกาฯ ระบุว่า หากทั้งสองคนไม่เดินทางกลับมารายงานตัวต่อองค์คณะ ฯ ตามกำหนดนัด องค์คณะฯ อาจจะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสองมาดำเนินคดี และสั่งปรับนายประกัน ขณะที่องค์คณะฯ สามารถดำเนินกระบวนการพิจารณาไต่สวนพยานและพิพากษาคดีได้ ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ พ.ศ.2543 ข้อ 10 ที่ระบุว่า ศาลมีอำนาจพิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานลับหลังจำเลยได้ ซึ่งแม้ว่าจำเลยจะหลบหนีไปแล้วแต่ยังมีทนายความจำเลยทำหน้าที่แก้ต่างคดีให้อยู่ โดยทนายความอาจนำพยานจำเลยปากอื่นเข้าให้องค์คณะไต่สวนได้
“ที่จริงแล้วคำให้การจำเลยไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับคดีมากนัก เพราะคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ต้น ที่สำคัญอยู่ที่พยานหลักฐานและเอกสารที่ใช้นำสืบข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำผิดตามที่ถูกฟ้องหรือไม่ต่างหาก” แหล่งข่าวผู้พิพากษากล่าว
เมื่อถามว่า หากจำเลยหลบหนีแต่ประสงค์จะให้การ โดยอาจมอบหมายให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลขอให้การเป็นลายลักษณ์อักษรได้หรือไม่ แหล่งข่าวผู้พิพากษา กล่าวว่า สามารถทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจขององค์คณะฯ พิจารณาว่าจะอนุญาตจำเลย ให้การเป็นลายลักษณ์อักษรได้หรือไม่ และองค์คณะจะรับไว้พิจารณาหรือไม่