xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ"ถังสังฆทาน" กลายเป็น"บุญเปื้อนบาป"

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

จารบุรุษ
กำลังกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาอยู่ในขณะนี้ ก็คือ"การถวายสังฆทาน" โดย"ถังสังฆทาน"ที่พุทธศาสนิกชนนำไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์นั้น เครื่องอุปโภคบริโภคในถังสังฆทาน พระภิกษุไม่สามารถนำไปใช้ได้ เนื่องจากสิ่งของในถังบางอย่างหมดอายุ หรือผู้ประกอบการจงใจหลอกผู้ซื้อ เช่น ธูปในกล่องก็มีเพียงแค่ 3 ดอก แทนที่จะบรรจุเต็มกล่อง หรือก้นถัง ก็ยัดหนังสือพิมพ์ให้ดูปะหนึ่งว่า มีสิ่งของบรรจุเต็มถัง ผ้าสบง หรือผ้านุ่งของพระ ก็ตัดเหลืองเพียงแค่ครึ่งผืน พระสงฆ์องคเจ้าก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้ ต้องกลายเป็นผ้าขี้ริ้วไปโดยปริยาย

การหลอกลวงผู้บริโภคเช่นนี้ ก็จัดว่าเป็นอาชญากรรมชนิดหนึ่ง ที่สังคมจะต้องช่วยกันกำจัด แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะไม่สามารถดำเนินการเข้าไปเอาผิดกับผู้ประกอบการได้โดยตรง เพราะหลักฐานไม่ปรากฏชัด แต่หากผู้บริโภคได้ตรวจสอบ"ถังสังฆทาน"แล้วเห็นว่า น่าจะเข้าข่ายฉ้อโกง หรือหลอกลวง ก็สามารถที่จะแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนได้ หรือจะแจ้งโดยตรงที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)ก็ได้

ในข้อเท็จจริงตามหลักพุทธศาสนาแล้ว "สังฆทาน" พระพุทธองค์ไม่ได้มีการบัญญัติไว้ว่า จะต้องเป็นถังสีเหลือง ใส่เครื่องอุปโภคบริโภคลงไปแล้วนำไปถวายพระ แต่เป็นอะไรก็ได้ ที่นำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ หรือคณะสงฆ์โดยมิได้เจาะจงพระรูปหนึ่งรูปใด ซึ่งบุญชนิดนี้ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญไว้ว่า จะมีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานแม้แต่กับพระพุทธเจ้าเสียด้วยซ้ำ แต่ที่เป็นถังสีเหลืองมาทุกวันนี้ อนุมานได้ว่า น่าจะเป็นเพื่อการอำนวยความสะดวกให้กับพุทธศาสนิกชนที่พ่อค้าจัดทำขึ้น และก็มีพ่อค้าขี้โกงบางคนดำเนินการประหยัดต้นทุนอย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้น

ถังสังฆทานสีเหลืองที่ว่า เมื่อลองไปสำรวจดูตามวัดวาอารามต่างๆแล้วจะเห็นว่า พระท่านใช้เพียงไม่กี่ใบไม่กี่ลูก ที่เหลือ ก็เก็บซ้อนๆกันไว้กองพะเนิน ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร จนบางครั้งถังพลาสติกกรอบแตกนำมาใช้การไม่ได้อีก แต่บางวัดก็ผ่องถ่ายไปให้พระภิกษุตามชนบทไว้ใช้ ซึ่งก็มากเกินความจำเป็นไปเสียแล้วเช่นกัน

การจัดทำ"ถังสังฆทาน"นั้น ไม่ยากอย่างที่คิด ไม่ต้องไปหาซื้อถังสีเหลือง เราจะใช้อะไรก็ได้ เช่นอาจใช้เป็นกระเช้าผลไม้ที่มีอยู่ที่บ้าน แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ อีกทั้งไม่ต้องซื้อหาให้เปลืองเงินเปลืองทอง โดยอย่าไปคิดว่า นำสิ่งที่ใช้แล้วไปถวายพระ แต่จงคิดเสียใหม่ว่า จะใช้สิ่งของอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เมื่อได้ภาชนะที่ต้องการใส่เครื่องอุปโภคบริโภคที่จะไปถวายพระแล้ว คราวนี้ ในการจัดซื้อสิ่งของต่างๆ โดยให้คำนึงอย่างนี้ไว้เสมอว่า "เราใช้อย่างไร พระก็ใช้อย่างนั้น" เช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน เราใช้ยี่ห้ออะไร ก็ซื้อไปถวายพระยี่ห้อนั้น ไม่ใช้เราใช้เกรดเอ แต่ซื้อเกรดบี เกรดซี ไปถวาย (ในถังสังฆทานบางถัง เกรดแซดเสียด้วยซ้ำ) นอกจากนี้ก็มีข้าวสารอาหารแห้ง ข้าวสารก็ใช้ที่บ้านนั่นแหละ บรรจุถุง รัดยางให้เรียบร้อย รวมทั้งสิ่งอื่นๆที่เราคิดและเชื่อว่าจำเป็นสำหรับพระสงฆ์ แค่นี้ ก็ได้"ถังสังฆทาน"ที่สมบูรณ์แบบ และขอรับรองว่า พอถวายไปปุ๊ป พระท่านจะแกะใช้ทันที ก็ด้วยเป็นของดีที่เราใช้อยู่ที่บ้านนั่นเอง

สุดท้ายแล้ว ในเทศกาลบุญเช่นนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ประกอบการจะมีสำนึกในบาปบุญคุณโทษ เพราะการนำเอาผลประโยชน์เล็กๆน้อยๆจากถังสังฆทานเช่นนี้ คงไม่ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในผู้ส่งเสริมให้เกิดบุญกับผู้บริโภค แต่คงจะกลายเป็น "บุญที่เปื้อนบาป" มากกว่า !
ถังสังฆทานรุ่นดั่งเดิม
ถังสังฆทานจำนวนมากตามวัดวาอารามต่างๆ
ถังสังฆทานเริ่มเปลี่ยนรูปโฉม โดยใช้กระติกแทนถังเหลือง
พัฒนาการของรูปแบบถังสังฆทาน
กล่องสังฆทาน
ถุงสังฆทาน
กำลังโหลดความคิดเห็น