ปลัดยุติธรรมเผยนักค้ารายย่อยแฝงตัวเป็นผู้เสพเข้าระบบบำบัดถึง 50% ทำให้ไม่ถูกดำเนินคดี หนุนรัฐรณรงค์ให้ผู้ติดยาเสพติดเข้าโครงการสมัครใจบำบัดแทนระบบบังคับบำบัด
วันนี้ (15 ก.ค.) ที่เมืองทองธานี นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกระบวนการบำบัดรักษายาเสพติด ในงานประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ในเรือนจำ ร้อยละ 70 เป็นผู้เสพยาเสพติด ทำให้มีกฎหมายการคัดแยกผู้เสพยาเสพติดออกจากผู้กระทำผิดในคดีอื่น ด้วยระบบสมัครใจบำบัด และระบบบังคับบำบัด ซึ่งเริ่มแยกผู้เสพยาเสพติดไปบำบัดตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2546 -ปัจจุบัน มีผู้เสพที่เข้ารับการบำบัดทั้งสมัครใจและระบบบังคับบำบัด 220,000 คน โดยล่าสุดในปี 2550 มีผู้เข้ารับการบำบัด กว่า 50,000 ราย อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรเน้นการรณรงค์ให้ผู้เสพยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดในระบบสมัครใจมากกว่าการบังคับบำบัด เนื่องจาก ระบบบังคับบำบัด ทำให้มีผู้ค้ายาเสพติดแฝงตัวปะปนเข้ามามากถึงร้อยละ 50 เพื่อให้ไม่ถูกส่งดำเนินคดี ซึ่งหน่วยราชการต้องคัดกรองอย่างระมัดระวัง
นายกิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า ผู้เสพยาที่เข้ารับการบำบัดโดยระบบสมัครใจจะสามารถเลิกยาเสพติดได้มากกว่า และสูญเสียงบประมาณของภาครัฐน้อยกว่า แต่ปัจจุบันผู้เสพที่เข้ารับการบำบัดด้วยความสมัครใจมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นระบบบังคับบำบัด ซึ่งต้องใช้งบประมาณเข้าไปจับกุมตัว และนำมาบำบัดสถานที่จำกัด
นายกิตติพงษ์ ยังกล่าวถึงปัญหายาเสพติดในเรือนจำว่า กระทรวงยุติธรรมมีนโยบายเคร่งครัด ในการออกระเบียบ กฎเกณฑ์ ไม่ให้มีการนำโทรศัพท์เข้าไปใช้ในเรือนจำได้ และพยายามหาเทคโนโลยีใหม่ในการตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครื่องตรวจค้นสิ่งของต้องห้าม เพื่อนำมาใช้ในเรือนจำ ซึ่งอาจจะกระทบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของนักโทษที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายนักค้ายาเสพติดบ้าง อย่างไรก็ตาม นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีนโยบาย ที่จะแก้กฎหมาย ให้มีการใช้เครื่องมืออิเลคโทรนิกส์ในการจำกัดเสรีภาพผู้ต้องขังบางประเภทซึ่งมีโทษจำคุกไม่มากภายนอกเรือนจำได้ ทั้งนี้เพื่อให้เรือนจำเป็นสถานที่กักขังอาชญากรที่ต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด