xs
xsm
sm
md
lg

"ไม่ถือ ไม่โทร. ไม่ขับ" โหมโรงจับจริง 20 พ.ค.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

โดย วีรธิป  บุญบำรุงชัย

กฎหมายโทร.ไม่ขับ แม้ขณะรถติดไฟแดงก็ไม่สามารถพูดคุยมือถือได้ ขีดเส้น 20 พ.ค.เป็นต้นไป ขาเม้าท์ ขาจ้อโทร.ไม่หยุด อดเท่ เพราะตำรวจจับจริง แต่ช่วงนี้ถึง19 พ.ค. ถ้าตำรวจพบเจอซึ่งหน้าจะตักเตือนไปก่อน เพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน การจราจรคล่องตัวมากขึ้น ขอความร่วมมือทุกคนพร้อมใจกันปฏิบัติตามกฎหมายห้ามโทร.ขณะขับ อย่างเคร่งครัด ดั่งเช่นต่างประเทศปฏิบัติกันมานานและเกิดผลดีตามมามากมาย

เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับกฎหมายห้ามโทรศัพท์ขณะขับรถหลังใช้ความพยายามในการร่างและผ่านข้อกฎหมายที่ใช้เวลานานถึง 5 ปี ซึ่งสิ่งที่นำออกมาเพื่อบังคับใช้ทั้งหมดทั้งสิ้น เพียงเพราะความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่ยังยึดมั่นในอุดมคติ “กฎมีไว้แหก” ได้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งได้สร้างความหนักใจให้กับเจ้าหน้าที่ไปตามๆ กัน

แรกเริ่มเดิมทีสำหรับข้อกฎหมายนี้ได้เกิดขึ้นจากการอ้างสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในหลายๆ ประเทศเป็นตัววัด โดยกฎหมายที่ว่านี้ประเทศในแถบเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ ต่างก็มีใช้บังคับกันตั้งนานแล้ว และผลสถิติที่ได้ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ทันทีที่กฎหมายนี้ได้มีผลใช้บังคับ สถิติการเกิดอุบัติเหตุในประเทศนั้นๆ ต่างก็ลดลงได้รวดเร็ว ทั้งนี้เป็นเพราะการใช้งานโทรศัพท์มือถือในขณะขับรถนั้นจะทำให้ความสนใจและการตอบสนองสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในการขับรถลดลง โดยเฉพาะเรื่องของการมองเห็นจะถูกสมาธิจากการใช้โทรศัพท์แบ่งไปครึ่งหนึ่ง ทำให้สมาธิการขับขี่เหลือเพียงครึ่งเดียว ซึ่งบางครั้งก็อาจจะทำให้มองไม่เห็นสัญญาณไฟจราจร หรือมีการเบรกที่ช้าลง รวมถึงการเร่งความเร็วขณะขับรถก็ช้าตามไปด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้กฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์ขณะขับรถจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็เป็นเพียงการตักเตือนจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดยการลงโทษอย่างจริงจังนั้นจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.เป็นต้นไป ทั้งการปรับเงิน การตัดแต้มหรือทั้งสองอย่าง โดยแค่ก้าวแรกของการใช้ข้อกฎหมายนี้ก็ได้เกิดปัญหาขึ้นเสียแล้ว เมื่อกล้องถ่ายรูปดิจิตอลพยานปากเอกสำหรับชี้ตัวผู้กระทำผิดมีไม่เพียงพอกับทุกๆ ท้องที่ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานอย่างยากลำบาก ทั้งยังเจอข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นสารพัด ทั้ง “ยกขึ้นมาดูเฉยๆ ไม่ได้โทร” “ยังไม่รู้ข้อกฎหมาย” “มีเรื่องด่วน จำเป็นที่ต้องใช้โทรศัพท์” เป็นต้น

แม้ว่าข้อกฎหมายจะมีข้อละเว้นในเรื่องของการใช้อุปกรณ์เสริม แต่ก็ยังไม่วายเป็นปัญหาขึ้นมาอีกจนได้ เมื่อประชาชนส่วนหนึ่งมักจะอ้างว่า “โทรศัพท์รุ่นเก่าหาซื้ออุปกรณ์เสริมไม่ได้บ้าง” “ยังไม่ชินกับการใช้อุปกรณ์เสริมบ้าง” หรือ“อุปกรณ์เสริมชำรุดบ้าง” ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงระยะแรกที่พอจะอะลุ่มอล่วยให้อภัยกันได้ แต่เมื่อผ่านวันที่ 20 พ.ค.นี้ไปแล้ว ก็คงจะต้องเจอกับความเด็ดขาดของกฎหมายที่ข้ออ้างต่างๆ เหล่านี้จะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป (บ้านเมืองอื่นกว่า 40 ประเทศยังทำกันมาได้ตั้งนาน แล้วทำไมเราถึงจะทำในสิ่งที่ดีๆ ตามแบบเขาไม่ได้บ้าง)

และที่ได้กล่าวในข้างต้นว่าเจ้าหน้าที่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดีนั้นคงจะไม่ผิดนัก เพราะหากดูจากสถิติในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ายอดผู้ที่ถูกเรียกมากล่าวตักเตือนลดลง โดยในวันแรก (8 พ.ค.) มีผู้ถูกตักเตือนทั้งหมด 262 คน วันที่ 9 พ.ค. มีผู้ถูกเตือนทั้งหมด 207 คน วันที่ 10 พ.ค. มีผู้ถูกเตือนทั้งหมด 138 คน แต่ก็ยังคงปรากฏปัญหาเดิมๆ ซ้ำซากในทุกๆ วัน เช่น ผู้กระทำผิดไม่ยอมรับความผิด หรือรถติดฟิล์มดำทำให้ยากแก่การมองผู้กระทำผิด หรือไม่มีอุปกรณ์บันทึกภาพ เป็นต้น อีกทั้งการที่ยอดจำหน่ายอุปกรณ์เสริม (Small talk, Bluetooth) เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีต่อข้อกฎหมายนี้

โทรศัพท์มือถือ เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตด้านการสื่อสาร จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ประหนึ่ง “ขาดเธอฉันตายแน่” แต่หากเรารู้จักใช้ให้ถูกเวลาและรู้จักใช้ให้เป็นก็จะสร้างประโยชน์ให้แก่เราได้อย่างมหาศาล ขณะเดียวกัน เมื่อถึงวันเผาจริง คงต้องฝากความหวังกับตำรวจผู้ปฏิบัติว่าอย่าให้เป็นเพียงแค่ไฟใหม้ฟาง หรือจะให้คนมองเป็นการเปิดช่องว่างให้ถูกกล่าวหารับค่าตอบแทนจากประชาชนที่ทำผิด กฎหมายโทร.ไม่ขับจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ และประชาชนในประเทศให้ความร่วมมือกันเท่านั้น

ภาพ ที่กล้อง CCTV จับภาพได้เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่จนท.ตร.เริ่มใช้ก.ม.โทร.ไม่ขับ และอยู่ระหว่างว่ากล่าวตักเตือน ถึงวันที่ 19 พ.ค.

กำลังโหลดความคิดเห็น