รองโฆษก ตร.แจงข่าวรูปปั้นท้าวสุรนารีถูกคนใจบาปลักลอบเจาะศีรษะรูปปั้นดูดเอาทองคำออกไปไม่เป็นความจริง ตรวจสอบไม่พบร่องรอยการลักลอบเจาะศีรษะรูปปั้นเพื่อดูดทองคำ ระบุข่าวที่เกิดขึ้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง พร้อมวางมาตรการป้องกันการโจรกรรมพระพุทธรูปและวัตถุโบราณตามสถานที่ต่างๆ
วันนี้ (8 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รอง ผบช.ก. ในฐานะรองโฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีศีรษะท้าวสุรนารี ถูกคนใจบาปลักลอบเจาะศีรษะรูปปั้นเพื่อดูดเอาทองคำออกไปว่า กรณีนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการประสานสอบถามเรื่องนี้ไปยังตำรวจภูธรภาค 3 ซึ่งได้รับรายงานจาก พล.ต.ต.อำนาจ อันอาตมงาม รอง ผบช.ภ.3 ว่าข่าวที่เกิดขึ้นมีความคลาดเคลื่อน โดยไม่มีเหตุการณ์อย่างที่เป็นข่าวแต่อย่างใด รายละเอียดของข่าวสืบเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ดำริว่าจะมีการบูรณะซ่อมแซมท้าวสุรนารี เพราะว่ามีการชำรุดไปตามสภาพจึงได้มีการบูรณะเกิดขึ้น
พล.ต.ต.สุรพล กล่าวต่อว่า เมื่อได้มีการตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ภายในจังหวัดนครราชสีมาในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณรอบลานสักการะของท้าวสุรนารีและบริเวณข้างเคียง ก็ไม่ปรากฏว่ามีภาพหรือร่องรอยการกระทำลักลอบเจาะศีรษะรูปปั้นเพื่อดูดทองคำดังกล่าวตามที่มีการนำเสนอข่าวแต่อย่างใด จึงขอยืนยันว่าข่าวที่เกิดขึ้นเป็นความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ด้าน พล.ต.ต.เรืองศักดิ์ จริตเอก รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเสริมในเรื่องมาตรการป้องกันปราบปรามการโจรกรรมพระพุทธรูปและวัตถุโบราณว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดมาตรการในการป้องกันไว้ 2 มาตรการหลักด้วยกัน คือ 1.มาตรการป้องกัน และ 2.มาตรการปราบปราม โดยได้มอบหมายให้ทางรอง ผบ.ตร. ผบช.น. ผบช.ก. และ ภ.1-9 ในการเข้มงวดกวดขัน เพื่อให้การปราบปรามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดผลอย่างรูปธรรม
พล.ต.ต.เรืองศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของมาตรการป้องกันนั้น ได้แบ่งออกเป็น 8 ขั้นตอนการดำเนินการคือ 1.ให้หน่วยปฏิบัติการจัดทำข้อมูล รูปพรรณ และภาพถ่ายพระพุทธรูปสำคัญ วัตถุโบราณทุกชิ้น โดยประสานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ในแต่ละพื้นที่ 2.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของสถานที่เก็บรักษาพระพุทธรูปหรือวัตถุโบราณ และให้คำ แนะนำวิธีการป้องกันการโจรกรรมแก่สถานที่ที่มีไว้ครอบครอง 3.ให้ประสานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และผู้ดูแลสถานที่ครอบครองพระพุทธรูปหรือวัตถุโบราณ ให้ทราบถึงแผนประทุษกรรมของคนร้าย และขอความร่วมมือในการระมัดระวังป้องกันทรัพย์สิน 4.ให้แต่ละหน่วยกำชับสายตรวจประจำหมู่บ้าน ให้เน้นการตรวจสถานที่ที่มีพระพุทธรูปสำคัญหรือมีวัตถุโบราณเก็บรักษาไว้ โดยเฉพาะตามแหล่งโบราณสถานซึ่งไม่มีคนดูแล
5.ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อาสาสมัครในพื้นที่ออกตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเพิ่มความเข้มในการตรวจ 6.จัดทำสมุด หรือแฟ้มประวัติของบุคคลที่มีอาชีพจำหน่ายพระพุทธรูปหรือของเก่าให้เป็นปัจจุบัน และติดตามพฤติการณ์บุคคลที่ต้องสงสัยอย่างใกล้ชิด 7.ตรวจสอบแหล่งรับซื้อ ขาย พระพุทธรูปหรือร้านของเก่า เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสนับสนุนคนร้ายในการโจรกรรม 8.ใช้มาตรการในด้านการประชาสัมพันธ์ โดยขอความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งข้อมูลข่าวสารพฤติการณ์ที่น่าสงสัย หรือเบาะแสคนร้ายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
พล.ต.ต.เรืองศักดิ์ กล่าวต่อว่า ด้านมาตรการปราบปราม ได้แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1.เมื่อเกิดเหตุโจรกรรม ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งไปถึงที่เกิดเหตุคนแรก รีบรวบรวมรายละเอียดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วแจ้งให้ศูนย์วิทยุทราบ เพื่อกระจายข่าวไปยังสายตรวจหน่วยข้างเคียง 2.เมื่อได้รับแจ้งเหตุให้ทุกหน่วยเร่งรัดสืบสวนหาตัวคนร้าย และให้พนักงานสอบสวนรีบจัดทำแผนประทุษกรรมของคนร้ายแล้วส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ 3.เมื่อจับกุมคนร้ายได้ ให้พนักงานสอบสวนพยายามขยายผลการสอบสวนเพื่อให้ทราบถึงขบวนการคนร้าย แหล้งจำหน่าย หรือรับซื้อ และแผนประทุษกรรมของคนร้ายเพื่อผลในการป้องกันปราบปรามต่อไป