xs
xsm
sm
md
lg

คดีแรก! “คุกแสนปี” เครือข่ายแชร์ลูกโซ่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลอาญาพิพากษาคดีแชร์ลูกโซ่ “อดีตกรรมการบลิสเชอร์ และผู้ก่อตั้งบริษัท-พนักงาน 2 คน” จำคุก 120,945 ปี ฐานฉ้อโกง โฆษณาหลอกลวงชวนเชื่อให้สมัครบัตรสมาชิกท่องเที่ยวพักฟรี 4 วัน 4 คืน ตลอด 20 ปี

วันนี้ (4 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีแชร์ลูกโซ่ หมายเลขดำที่ ด.4756/2537 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท บลิสเชอร์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด, น.ส.อังสุนีย์ พัฒนานิธิ อดีตกรรมการบริษัท, น.ส.ปัรจวรรณ เบญจมาศมงคล อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น, นายแสงทอง แซ่กิม อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทและพนักงานฝ่ายขายอิสระ
และ นายอรรณพ หรือ อาร์ต กุลเสวตร์ อดีตผู้จัดการสาขาศูนย์สีลม เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และ 83 และความผิดตามพระราชกำหนดกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 12 และ 15

คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2537 และนำสืบว่า ระหว่างปี 2535-2536 บจก.บลิสเชอร์ ได้ประกอบธุรกิจจัดสรรวันพักผ่อน หรือ ไทม์แชริ่ง ซึ่งได้มีการโฆษณาชักชวนประชาชนให้สมัครบัตรสมาชิก ที่มี 2 ประเภท คือ บัตรเงิน จ่ายค่าสมาชิกปีละ 30,000 บาท พร้อมค่าบำรุงปีละ 2,500 บาท และบัตรทอง จ่ายค่าสมาชิก 60,000 บาท พร้อมค่าบำรุงปีละ 4,500 บาท โดยสมาชิกบัตรทั้ง 2 ประเภทจะได้รับสิทธิที่ใช้บริการที่พักฟรีตามสถานที่พักตากอากาศ หรือโรงแรม ที่บริษัทจัดไว้ เป็นเวลา 4 วัน 4 คืนต่อปี เป็นเวลานาน 20 ปี นอกจากนี้ สมาชิกบัตรเงิน ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์อื่นอีก 20 ข้อ และบัตรทอง 25 ข้อ โดยถ้าสมาชิกรายใด สมัครเป็นพนักงานฝ่ายขายอิสระด้วยเพื่อหาสมาชิกรายใหม่แล้วก็จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนนายหน้าในอัตรา 5,000 ต่อคน
หากหาสมาชิกได้ถึง 4 คน ก็จะได้รับค่าตอบแทน 20,000 บาท ตลอดเวลา 20 ปี โดยไม่ต้องหาสมาชิกใหม่อีก แต่เมื่อคิดคำนวณค่าตอบแทนอัตราสูงสุดต่อเดือนๆ ละ 11,500 บาท คิดค่านายหน้าเป็นร้อยละ 45 ต่อเดือน ซึ่งการสมัครเป็นพนักงานฝ่ายขายอิสระ สมาชิกยังต้องจ่ายเพิ่มอีกปีละ 1,500 บาท โดยบริษัทกำหนดเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทน สัญญาว่าจะจ่ายให้ทุกวันที่ 10, 20 และ 25 ของเดือน

โดยเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเกิน พ.ร.บ.ดอกเบี้ย เงินกู้ของสถาบันการ พ.ศ.2533 ที่ผู้ดำเนินกิจการสุจริตทั่วไปจะทำได้ ซึ่งศาลล้มละลายกลาง ได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บจก.บลิสเชอร์ และกรรมการบริหารแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2545 พร้อมทั้งมีคำสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2546

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า โจทก์มี นายวิจารณ์ แซ่เบ๊ สมาชิกผู้เสียหาย เบิกความยืนยันว่า เคยเข้าฟังการอบรมเพื่อสมัครเป็นสมาชิกรวมกับคนอื่นๆ อีก 40-50 คน เมื่อเดือน มิ.ย.2535 โดยจำเลย 4 และ 5 เป็นผู้ฝึกอบรมพูดชักชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกบัตรเงินต้องจ่าย 30,000 บาท และบัตรทอง 60,000 บาท เพียงแต่บอกว่าถ้าสมัครสมาชิกแล้วจะได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า เพราะตลอดเวลา 20 ปี สามารถพักฟรีตามโรงแรม หรือรีสอร์ตต่างๆ ที่จัดไว้ ปีละ 4 วัน 4 คืน รวม 80 วัน 80 คืน ขณะที่ราคาห้องพักโรงแรมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยก่อนสมัครจำเลยไม่ได้แจ้งให้ทราบว่าต้องชำระค่าบำรุงด้วยอีกปีละ 2,500 บาท และ 4,500 บาท แต่กลับมาแจ้งภายหลังเมื่อได้เป็นสมาชิกแล้ว หากไม่จ่ายก็ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ หรือได้รับผลตอบแทนต่างๆ ตามที่บอกไว้ได้ และหลังจากที่รู้ว่าถูกจำเลยร่วมกันหลอกลวง พยานได้แจ้งร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและการคลัง

นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียหายรายอื่น เบิกความอีกว่า บริษัทจำเลย ไม่เคยจ่ายเงินจำนวน 4,000 บาทคืนให้สมาชิก ในกรณีที่ไม่เคยเข้าใช้บริการที่พักตามเงื่อนไข 4 วัน 4 คืนต่อปี ตามที่มีการพูดชักชวนให้เข้ามาเป็นสมาชิก

ส่วนที่จำเลย อ้างว่า ได้มีการนำเงินของสมาชิกมาลงทุนประกอบกิจการของบริษัทในเครือจำเลยเพื่อให้บริการด้านที่พักนั้น เห็นว่า บริษัทในเครือล้วนจดทะเบียนชื่อใหม่และแยกดำเนินงานต่างหากจากบริษัทจำเลย ซึ่งหากจำเลยดำเนินงานโดยสุจริตก็น่าจะลงทุนในนามบริษัทจำเลยเอง ดังนั้นจึงเป็นเพียงข้ออ้างลอยๆ

เมื่อรับฟังคำเบิกความพยานโจทก์แล้ว โดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่าไม่ได้มีการจัดอบรมเพื่อชักชวนให้ประชาชนร่วมเป็นสมาชิกแล้ว ขณะที่จำเลยที่ 2 ก็ได้เบิกความถึงจำนวนสมาชิกว่า มีกว่า 20,000 คน แต่ไม่ยอมระบุตัวเลขที่แน่นอน ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้อย่างชัดเจนว่า มีประชาชนร่วมสมัครเป็นสมาชิกรวม 24,189 คนตามรายละเอียดเอกสารสมาชิกที่ได้มาจากบริษัทจำเลย ดังนั้นจึงฟังได้รับจำเลยร่วมกันพูดชักชวนโดยการหลอกลวงด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรรู้ให้ประชาชนจำนวน 24,189 คน ร่วมเป็นสมาชิก อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดตามพระราชกำหนดกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527

พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 2,4 และ 5 ซึ่งเป็นกรรมการที่มีอำนาจในบริษัท และเป็นผู้ดำเนินงานวางแผนนโยบาย การตลาดของบริษัทจำเลยที่ 1 มาโดยตลอด และเป็นผู้จัดการอบรมชักชวนให้มีการสมัครสมาชิก โดยความผิดนั้นเป็นผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด ฐานฉ้อโกงประชาชน จำคุกคนละ 24,189 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 2,4 และ 5 คนละ 120,945 ปี แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกจำเลยในคดีที่มีอัตราโทษสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ได้เพียง 20 ปีเท่านั้น ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 2, 4 และ 5 คนละ 20 ปี โดยให้นับโทษจำเลยที่ 5 ต่อจากคดีอาญา หมายดำที่ ย.8853/2544 หมายเลขแดงที่ ย.14433/2544 ด้วย ซึ่งศาลอาญาพิพากษาจำคุกนายอรรณพ จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 17 ปี ฐานมียาเสพติดประเภทที่ 3, 4 เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (ยาอี) จำนวน 92 เม็ด และคีตามีน (ยาเค) จำนวน 10 ขวด เพื่อจำหน่าย ตามความผิด พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ส่วนจำเลยที่ 3 นั้นแม้ว่าจะเป็นผู้เริ่มก่อตั้งและผู้ถือหุ้นในบริษัท แต่ทางนำสืบไม่เห็นว่าจำเลยที่ 3 เข้าไปเกี่ยวข้องในการวางแผนบริหาร กำหนดนโยบาย และแผนการตลาดของบริษัทจำเลย รวมทั้งไม่มีพยานโจทก์ปากใดระบุว่าจำเลยที่ 3 ร่วมเป็นผู้พูดในการจัดอบรมด้วย จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และ 3 ส่วนที่โจทก์ ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้คืนสมาชิกนั้น เห็นว่าศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งห้าเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2545 (ทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้แล้ว 163.252 ล้านบาท) และให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2546 จึงไม่อาจมีคำสั่งได้อีก
กำลังโหลดความคิดเห็น