ตำรวจเรียกประชุมฝ่ายกฏหมาย หารือการแบ่งโครงสร้างใหม่ของ บช.ก.หลังไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้จะไม่สามารถรับทำคดีความได้
วันนี้ (27 ก.พ.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.เจตน์ มงคลหัตถี ผบช.กมส.ได้มีบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ 0013/316 ลงวันที่ 26 ก.พ.2551 เรื่องขอเชิญประชุมกรณีหนังสือพิมพ์ลงข่าวโครงสร้างใหม่ บช.ก.ส่อเค้าวุ่น โดยเรียน ผบช.ก. ผบช.สง.ก.ตร.ผู้บังคับการกำลังพลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บังคับการในสังกัด บช.ก.ตามที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า “โครงสร้าง บช.ก.ส่อเค้าวุ่น” เหตุตั้งกองกำกับการใหม่ “กองปราบฯ-ท่องเที่ยว-ป่าไม้-ทางหลวง-ปดส.-ปศท.” ไม่มีกฎหมายรองรับ ล่าสุด ผบก.ป.แจงการทำงานก่อนสรุปไม่รับคดีทุกประเภทที่ชาวบ้านร้องเรียน เกรงไม่มีอำนาจ เสี่ยงติดคุก ส่วนคดีสำคัญขออนุมัติตั้งคณะพนักงานสอบสวนนั้น
ผู้ช่วย ผบ.ตร.(สส 1) (พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ 001 (สส 1)/184 ลงวันที่ 26 ก.พ.51 ให้ ผบช.กมส.เป็นเจ้าของเรื่องกรณีดังกล่าว โดยให้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องไปร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาในวันพุธที่ 27 ก.พ.2551 เวลา 15.30 น.และให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมข้อมูลมานำเสนอต่อที่ประชุมด้วย กมส.จึงขอเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ในวันพุธที่ 27 ก.พ.2551 เวลา 15.30 น.ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 2 อาคาร 1 ตร.โดยพร้องเพรียงกัน
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมแก้ไขการแบ่งส่วนราชการหน่วยงานสังกัด บช.ก.เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 10 ได้กำหนดว่า การแบ่งส่วนราชการตามวรรค 1 เป็นกองบัญชาการ หรือการจัดตั้งกองบัญชาการตามวรรค 2 ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และการแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่น ให้ออกเป็นกฎกระทรวง และให้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในพระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงนั้นแล้วแต่กรณี ซึ่งกฎกระทรวงการแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการ หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 ในสมัย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีต ผบ.ตร.ได้มีการแบ่งส่วนราชการในส่วนของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในส่วนของกองบังคับการปราบปรามได้แบ่งเป็น 9 กองกำกับการ โดยเพิ่มกองกำกับการ 6 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยตรง แสดงให้เห็นว่า การแบ่งส่วนราชการตามกฎหมายที่ถูกต้อง นอกจากผ่านมติของ ก.ตร.แล้ว ยังต้องออกเป็นกฎกระทรวงตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด แต่การแบ่งส่วนราชการใน บช.ก.ปี 2551 ที่เพิ่มกองกำกับการ และใช้คำว่าฝ่ายปฏิบัติการขึ้นมาหลายหน่วย ผ่านแค่มติ ก.ตร.ไม่ได้ออกเป็นกฎกระทรวง ทำให้กองกำกับการไม่มีหน้าที่และอำนาจในการทำงานตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ กม.ส ต้องแก้ปัญหาดังกล่าว