“คตส.” หอบสำนวนทุจริตกล้ายาง 114 แฟ้ม ให้อัยการแล้ว ฟัน “เนวิน” อดีต รมช.เกษตรฯ ข้าราชการและเอกชน รวม 45 ราย โดยระบุความผิด 3 ข้อหา คือ พนง.มีหน้าที่จัดซื้อใช้อำนาจตำแหน่งโดยทุจริต-ฮั้วประมูล-ฉ้อโกง
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด สนามหลวง วันนี้ (18 ก.พ.) นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวน ของ คตส.สำนวนคดีทุจริตการจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ได้นำสำนวนการไต่สวน พยานเอกสาร คำให้การผู้ถูกกล่าวหา พร้อมสำเนาจำนวน 12 ลัง รวม 114 แฟ้ม ส่งมอบให้นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูง เขต 8 ซึ่งเป็นคณะทำงานอัยการที่ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด แต่งตั้งให้รับผิดชอบสำนวนคดีทุจริตโครงการต่างๆ ของ คตส.เพื่อพิจารณาสั่งคดี
ภายหลังส่งมอบสำนวนแล้ว นายบรรเจิด ประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ กล่าวว่า คดีนี้ครั้งแรกมีผู้ถูกกล่าวในสำนวนรวม 90 ราย ประกอบด้วย กลุ่มคณะรัฐมนตรี (ครม.), กลุ่มคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อ ครม.คณะที่ 2, กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.), กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ (กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มบริษัทเอกชน ที่มี 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี, บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด
แต่อย่างไรก็ดีที่สุดแล้ว คตส.มีมติชี้มูลผู้ถูกกล่าวเพียง 45 เท่านั้น เฉพาะรัฐมนตรีผู้ดำเนินโครงการ ได้แก่ นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ, กลุ่ม คชก.ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คชก.ที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติใช้เงิน, กลุ่มข้าราชการ ที่เป็นคณะกรรมการบริหารโครงการ (กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา, กลุ่มเอกชน 18 ราย แยกเป็นนิติบุคคลบริษัท 3 แห่ง และกรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์, บจก.รีสอร์ทแลนด์ และ บจก.เอกเจริญการเกษตร จำนวน 15 ราย ในความผิดข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ที่โทษจำคุก 1-10 ปี หรือ ปรับ 2,000-20,000 บาท, เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151 ที่มีโทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000-40,000 บาท, ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท ประกอบมาตรา 83, 84 และ 86 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 10-14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11
นายบรรเจิด ประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ กล่าวว่า ส่วน ครม.และ คณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการ ต่อ ครม.จำนวน 45 ราย นั้น คตส.ยุติการสั่งฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความผิด เพราะ ครม.ไม่ได้มีมติตามที่กระทรวงเกษตรการและสหกรณ์เสนอดำเนินโครงการ เพียงแต่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินให้ผ่านการพิจารณาของ คชก.ของสำนักงานกองทุนการทำสัญญา ดังนั้น จึงไม่ใช่มติเด็ดขาดของ ครม.แต่เป็นมติที่ให้ผ่านกระบวนการ ซึ่ง คตส. มองว่าการกระทำลักษณะยังไม่เป็นความผิด
โดย นายบรรเจิด ยังกล่าวถึงการพิจารณาสำนวนเพื่อสั่งคดีของอัยการว่า ขณะนี้ยังคงพูดอะไรล่วงหน้าไม่ได้ว่าจะมีการเสนอความเห็นให้สอบสวนเพิ่มเติมเหมือนสำนวนคดีหวยบนดินหรือไม่ ซึ่งหากจะมีการเสนอให้สอบสวนเพิ่มเติมก็ต้องพิจารณาเหตุและผลว่าเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า คตส.ยังคงมีความเชื่อมั่นต่ออัยการในการสั่งคดีหรือไม่ นายบรรเจิด กล่าวว่า คงไม่ใช่ประเด็นความเชื่อมั่น หรือไม่เชื่อมั่น แต่เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ตามอำนาจที่มีอยู่ของแต่ละฝ่าย ซึ่งเรื่องกฎหมายถือเป็นเรื่องธรรมดาที่นักกฎหมายจะมีความเห็นแตกต่างกันได้โดยขึ้นอยู่กับเหตุผลในทางกฎหมายที่สมเหตุสมผลของแต่ละฝ่ายมากกว่า
ขณะที่ นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ในการพิจารณาสำนวนนั้น คณะทำงานอัยการที่จะเป็นผู้พิจารณายังคงคณะเดิมที่พิจารณาสำนวนคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 และ 2 ตัว (หวยบนดิน) ที่มี นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะทำงานฯ ซึ่งอัยการระดับอธิบดีฝ่ายต่างๆ 4-5 คน และอัยการชั้นผู้ใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญรวม 12 คน ร่วมเป็นคณะทำงาน
“การที่คณะทำงานพิจารณาสำนวนกล้ายาง เป็นชุดเดียวกับสำนวนคดีหวยบนดิน คงไม่ใช่ปัญหาในการสั่งคดี เพราะอัยการพิจารณาไปตามพยานหลักฐาน ซึ่งเราทำตามหน้าที่ที่จะพิจารณาหลักฐานที่ดีที่สุด ถ้ายังไม่ครบถ้วนก็ต้องแสวงหาพยานหลักฐานมาจนครบเพื่อพิจารณาสั่งคดี” โฆษกอัยการสูงสุด กล่าวและว่า ส่วนที่จะเกิดการโต้แย้งกันเหมือนสำนวนคดีหวยบนดินอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับขั้นตอนนั้นๆ ว่า อยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายใดที่ต้องปฏิบัติ เมื่อการพิจารณาสั่งคดีอยู่ในขั้นตอนของอัยการ อัยการต้องพิจารณาให้ดีที่สุด เพราะอัยการคือผู้ที่จะนำสำนวนขึ้นสู่ศาลเราก็ต้องการพยานหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดในมุมมองของอัยการ
ด้าน นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ในฐานะเลขานุการคณะทำงานอัยการ กล่าวว่า การพิจารณาสำนวนคณะทำงานจะเรียกประชุมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ซึ่งน่าจะเป็นภายในสัปดาห์นี้ โดยการพิจารณาสำนวน คตส.ที่มีเอกสารจำนวนมาก ซึ่งอัยการจะต้องมีความระมัดระวังในการจัดเก็บพยานเอกสารนั้นจะได้มีการแต่งตั้งคณะอนุฯ ขึ้นมาดโยเฉพาะเพื่อดูแลรักษาจัดเก็บเอกสารทั้งหมดซึ่งเกสารทุกชิ้นจะจัดเก็บไว้ในตู้เซฟอย่างดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว จำนวน 45 คน แยกตามฐานความผิด ได้ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตร (คชก.) ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการกลั่นกรอง และประธาน คชก.นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการ คชก.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการ คชก.นายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกรรมการ คชก.นายพิศิษฐ เศรษฐวงศ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายปริญญา อุดมทรัพย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ น.ส.บุญมี เลิศพิเชษฐ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเงินนอกงบประมาณ นางเสริมสุข ชลวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน นายกรณรงค์ ฤทธิ์ฤาชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง และ น.ส.สุชาดา วราภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทั้งหมดมีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 151 และ 157 ส่วน น.ส.สุกัญญา โตวิวิชญ์ ผู้บริหารส่วนวิเคราะห์ สาขาเศรษฐกิจ และ นายพิทยาพล นาถธราดล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา
2.นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11
3.นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายจิรากร โกศัยเสวี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ นายจำนง คงศิลป์ กรรมการบริหารโครงการและกรรมการพิจารณาโครงการประกวดราคา นายสุจินต์ แม้นเหมือน นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการบริหารโครงการ นายสมบัติ ยิ่งยืน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล กรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11, 12 และมาตรา 83, 157 และ 341 ตามประมวลกฎหมายอาญา
4.นายสกล บุญชูดวง ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด นายญาณกร สิงห์ชุม ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด นายสำราญ ชัยชนะ ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ในฐานะผู้เสนอราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 4, 10, 11, 12, 13 และประมวลกฎหมายอาญา 86, 157, 341
5.นายวัลลภ เจียรวนนท์ นายมิน เธียรวร นายประเสริฐ พุ่งกุมาร นายธีรยุทธ พิทยาอิสรกุล นายพงษ์เทพ เจียรวนนท์ นายเอี่ยม งามดำรง นายบุญเลิศ ประภากมล กรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด นายวรวิทย์ เจนธนากุล นางวิไลลักขณ์ รัตนสวัสดิ์ กรรมการบริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด น.ส.พัชรี ชินรักษ์ นางอนงนุช ภรณวลัย นางเจริญศรี ลือพัฒนสุข กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐมาตรา 4, 9, 10, 11, 12, 13 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86, 157, 341
6.นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ฐานเป็นผู้ริเริ่มโครงการมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 11, 12 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 84, 157, 341
7.นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 13 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 157, 341