กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ที่ประเทศมาเลเซีย ทางด่วนสายชายฝั่งทะเลตะวันตก หรือ The West Coast Expressway (WCE) หมายเลข E32 ตอน 11 ช่วงไทปิง เซลาตัน (Taiping Selatan) ถึงเบรูวัส (Beruas) รัฐเปรัก (Perak) ระยะทาง 35.5 กิโลเมตร เปิดให้สัญจรอย่างเป็นทางการไปแล้ว เมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ ดับบลิวซีอี โฮลดิ้งส์ (WCE Holdings) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางด่วนสายดังกล่าว ยังได้ยกเว้นค่าผ่านทาง ช่วงไทปิง เซลาตัน ถึงเบรูวัส เป็นเวลา 2 เดือน ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 หลังจากนั้นจะคิดค่าผ่านทางในอัตรา 0.16 ริงกิตมาเลเซีย หรือประมาณ 1.22 บาทต่อกิโลเมตร นับเป็นการเปิดใช้ทางด่วนตลอดช่วงที่ผ่านรัฐเปรักเลยทีเดียว
อธิบายสำหรับคนที่ขับรถจาก ทางด่วนเหนือ-ใต้ (North-South Expressway หรือ NSE) หมายเลข E1 จากด่านพรมแดนสะเดา จ.สงขลา ออกด่านบูกิตกายูฮีตัม รัฐเคดาห์แล้ว ตรงไปเรื่อยๆ เสียเงินด่านแรกที่ ด่านจิตรา (Jitra) จากนั้นตรงไปอีก 191 กิโลเมตร มีทางออก 146 เสียเงินอีกครั้งที่ ด่านจังกัต เจอริง (Changkat Jering หรือ Cgpt. Jering)
เมื่อออกจากด่านแล้วตรงไป ก็เป็นทางด่วนที่สร้างขึ้นมาใหม่ ตรงนั้นแหละคือทางด่วนดับบลิวซีอี หมายเลข E32 ซึ่งข้ามสะพานแล้วตรงไปทางทิศใต้ เข้า ด่านไทปิง เซลาตัน (Taiping Selatan) เส้นทางนี้สามารถตรงไปยังเมืองฮูตัง เมลินตัง (Hutang Melintang) และท่าเรือลูมุต (Lumut Port) ในเมืองซีเตียวัน (Sitiawan) ของรัฐเปรักได้
แต่ช่วงที่ให้ใช้ฟรี 2 เดือน คือช่วงที่ผ่านด่านไทปิง เซลาตัน ออกด่านเบรูวัสเท่านั้น ถ้าตรงไปยังช่วงอื่นๆ ที่เปิดให้บริการก่อนหน้านี้ ต้องเสียเงินค่าผ่านทางที่ทางออกอีกครั้ง อาทิ ออกด่านจังกัต เซอร์มิน (Cgangkat Cermin) 3.60 ริงกิต หรือประมาณ 27.39 บาท, ออกด่านซิเตียวัน อุตารา (Sitiawan Utara) 5.80 ริงกิต หรือประมาณ 44.26 บาท
ออกด่านซิเตียวัน (Sitiawan) 7.30 ริงกิต หรือประมาณ 55.54 บาท และ ออกด่านเลกีร์ (Lekir) 7.90 ริงกิต หรือประมาณ 60.12 บาท เป็นต้น โดยรับชำระเฉพาะบัตรทัชแอนด์โก (Touch N’Go) และ My RFID เท่านั้น ซึ่งคนที่ขับรถมาจากด่านสะเดา ข้ามฝั่งมาเลเซีย สามารถซื้อได้ที่ด่านจิตรา ราคาบัตร 10 ริงกิต เติมเงินขั้นต่ำ 10 ริงกิต รวม 20 ริงกิต
อันนี้เป็นราคาที่ให้ขึ้นฟรีช่วงไทปิง เซลาตัน ถึงเบรูวัสเท่านั้น หลังวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 จะมีการเก็บค่าผ่านทาง
สำหรับทางด่วนสายดับบลิวซีอี ของมาเลเซีย สร้างขึ้นเพื่อแบ่งเบาการจราจรทางด่วนเหนือ-ใต้ สาย E1 ที่เป็นทางด่วนสายหลักของมาเลเซีย เชื่อมต่อท่าเรือหลักฝั่งตะวันตก ได้แก่ ท่าเรือกลัง (Port Klang) รัฐสลังงอร์ ท่าเรือลูมุต รัฐเปรัก ท่าเรือปีนัง (Penang Port) รัฐปีนัง และท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์
โครงการนี้มีระยะทางรวม 314.5 กิโลเมตร มีทางเข้า-ออก 21 จุด เริ่มต้นจาก ด่านบันติ้ง (Banting) รัฐสลังงอร์ ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ ประมาณ 27 กิโลเมตร ขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านเมืองชาห์ อลัม (Shah Alam) เมืองหลวงของรัฐสลังงอร์ ตามด้วยเมืองตันจุงการัง (Tanjung Karang) เข้าสู่รัฐเปรักที่เมืองฮูตัง เมลินตัง
ผ่านเมืองเตลุก อินตาน (Teluk Intan) เซริมันจุง (Seri Manjung) เบรูวัส และไทปิง โดยแนวเส้นทางบางส่วนขนานไปกับทางหลวงสหพันธ์มาเลเซียหมายเลข 5 เดิมเป็นถนน 2 ช่องจราจร ก็พัฒนาเป็น 4 ช่องจราจร สิ้นสุดที่ทางด่วนเหนือ-ใต้ ด่านไทปิง เซลาตัน ไปออกทางด่วนเหนือ-ใต้หมายเลข E1 ที่มี พลัส (PLUS) เป็นผู้ให้บริการ
เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2557 แต่การก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า นับถึงตอนนี้ช่วงที่ผ่านรัฐเปรัก ช่วงฮูตัง เมลินตัง ถึงไทปิง เซลาตัน รวม 99.2 กิโลเมตร เสร็จหมดแล้ว แต่ช่วงที่ผ่านรัฐสลังงอร์ ตั้งแต่บันติ้ง ถึงตันจุง การัง รวม 93.8 กิโลเมตร เปิดให้สัญจรแล้ว 2 ตอน แต่อีก 5 ตอนกำลังก่อสร้าง ช้าที่สุดคือตอน 7 คืบหน้า 69% เท่านั้น
ประโยชน์ของทางด่วนสายใหม่ คือ เป็นทางเลี่ยงเมืองหลวงอย่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ทางด่วนเหนือ-ใต้ หมายเลข E1 ช่วงระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ ถึงรัฐปีนังแบกรับกันมานาน การจราจรหนาแน่นช่วงเวลาเร่งด่วน ช่วงเทศกาล ช่วงปิดเทอม ขณะที่ทางด่วนช่วงออกนอกเมืองมีเพียงแค่ 4 ช่องจราจรไป-กลับเท่านั้น
อีกอย่างหนึ่ง คือ ช่วงที่ทางด่วนเหนือ-ใต้ ระหว่าง กัวลากังซาร์ (Kuala Kangsar) ไปยัง เมืองอิโปห์ (Ipoh) ช่วงกิโลเมตรที่ 252 เป็นต้นไป ต้องพบกับเส้นทางลัดเลาะไปตามภูเขา ลอดอุโมงค์เมโนรา (Terowong Menora) และทางลาดชัน ก่อนถึงทางออกด่านอิโปห์ หากเกิดอุบัติเหตุหรือรถเสีย การจราจรยิ่งติดขัด เพราะแต่ละทิศทางมีเพียง 2-3 ช่องจราจร
การเปิดใช้ทางด่วนสายดับบลิวซีอี หมายเลข E32 ทางบริษัท ดับบลิวซีอีฯ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ คาดว่าจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ใช้เส้นทางมุ่งหน้าไปยังหุบเขากลัง (Klang Valley) และรัฐชายฝั่งตะวันตก เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาทางอิโปห์ การจราจรติดขัด รวมทั้งลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ที่ต้องเสียเวลาผ่านเส้นทางดังกล่าว
คาดว่าช่วยลดระยะเวลาเดินทางจากเมืองจังกัต เจอริง ไปยังเบรูวัส จากเดิมใช้ทางหลวงสหพันธ์มาเลเซียหมายเลข 60 ใช้เวลา 55 นาที หากใช้ทางด่วนดับบลิวซีอี หมายเลข E32 ใช้เวลาเหลือ 20 นาทีเท่านั้น
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของทางด่วนดับบลิวซีอีสายนี้ก็คือ เส้นทางลาดชันน้อยกว่า เมื่อเทียบกับทางด่วนเหนือ-ใต้ ช่วงที่ผ่านอุโมงค์เมโนราไปทางเมืองอิโปห์ เหมาะกับรถบรรทุกที่ขนส่งสินค้าจากท่าเรือลูมุต ท่าเรือกลัง และท่าเรือเวสต์พอร์ต หากก่อสร้างแล้วเสร็จตลอดเส้นทาง รถบรรทุกสามารถเลี่ยงเมืองอิโปห์ไปใช้ทางด่วนสายใหม่ได้ ช่วยประหยัดน้ำมัน
นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทปิงและรัฐเปรัก อาทิ สวนสัตว์ไทปิง (Taiping Zoo) สวนทะเลสาบไทปิง (Taman Tasik Taiping) สวนป่าชายเลนมาตัง (Hutan Paya Bakau Matang) พิพิธภัณฑ์เมืองเปรัก (Muzium Perak) หาดเรมิส (Pantai Remis) เกาะปังกอร์ (Pulau Pangkor) เป็นต้น
ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐเปรัก จากแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว Visit Perak Year 2024 การเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี เมืองไทปิง และสร้างเศรษฐกิจชุมชนตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันตก ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องอาหารทะเลและอุตสาหกรรมอาหารทะเลของมาเลเซียอีกด้วย
สิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย ป้าย VMS โทรศัพท์ฉุกเฉินทุก 2 กิโลเมตร ลานพักรถบริเวณด่านเก็บเงิน ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ ที่หลบฝนสำหรับรถจักรยานยนต์ กล้องวงจรปิดตลอดเส้นทาง ระบบบริการจัดการการจราจร ตู้เติมเงินบัตร Touch N'Go และบริการฉุกเฉินทางรถยนต์ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ กำลังพัฒนาจุดพักรถ (Rest and Relax Area) รวม 12 แห่ง ประกอบด้วย สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ห้องละหมาด (Surau) สำหรับชาวมุสลิม และร้านสะดวกซื้อ เช่นเดียวกับทางด่วนสายหลักอื่นๆ
ปัจจุบันการก่อสร้างทางด่วนอีก 4 ตอน เชื่อมทางด่วนหุบเขากลังใต้ (SKVE) ทางด่วนชาห์ อลัม (SAE) ทางด่วนหุบเขากลังสายใหม่ (NKVE) และทางด่วนบายพาสหุบเขากลังตอนเหนือสายใหม่ (NNKSB) คืบหน้าไปแล้วประมาณ 85-99% โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการบางส่วนกลางปี 2567 ยังเหลือตอน 7 ที่ยังคืบหน้าเพียง 69%
สำหรับทางด่วนสายแรกในประเทศมาเลเซีย คือ ถนนเก็บค่าผ่านทางช่วงเมืองตันจุงมาลิม ถึงแม่น้ำสลิม บนทางหลวงสหพันธ์มาเลเซียหมายเลข 1 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2509 ระยะทาง 20 กิโลเมตร ก่อนที่จะพัฒนาทางด่วนเหนือ-ใต้ (NSE) หมายเลข E1 และ E2 จากบูกิตกายูฮีตัม ถึงยะโฮร์บาห์รู ระยะทาง 772 กิโลเมตร เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2537
ปัจจุบันเครือข่ายทางด่วนมาเลเซีย มีระยะทางรวมกันกว่า 2,000 กิโลเมตร โดยมีเอกชนสร้างและให้บริการ ภายใต้การกำกับดูแลของการทางหลวงมาเลเซีย (Malaysian Highway Authority) หรือตัวย่อภาษามลายู คือ LLM
ความก้าวหน้าของทางด่วนมาเลเซีย มีตั้งแต่สร้างสะพานข้ามทะเล 4 แห่ง ได้แก่ สะพานปีนัง และสะพานปีนังแห่งที่ 2 ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยระยะทาง 24 กิโลเมตร สะพานเชื่อมระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ 2 แห่งที่ยะโฮร์บาห์รู รวมทั้งการสร้างทางด่วนที่เรียกว่า SMART Tunnel ระบบอุโมงค์บริหารจัดการน้ำท่วมที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นต้น
แม้มาเลเซียจะมีทางด่วนมากมายก็ตาม แต่สำหรับทางหลวงที่สัญจรไปมาได้ฟรี ส่วนใหญ่ยังเป็นถนนสองเลน ทำให้ชาวมาเลเซียที่อยู่รัฐทางตอนเหนือ ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน กล่าวชมเชยว่าคุณภาพถนนในประเทศไทย เหมือนทางหลวงมาเลเซียแบบเสียเงิน แต่ประเทศไทยเป็นถนนฟรี กลายเป็นไวรัลในโซเชียลฯ มาแล้ว
อ่านประกอบ : เมื่อประเทศเพื่อนบ้าน ใช้ทางหลวงของไทยเป็นทางผ่าน