กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
แม้ว่าถนนในประเทศไทยจะมีสภาพดีบ้างไม่ดีบ้าง แล้วแต่การบำรุงรักษา แต่ก็กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต้องการเดินทางข้ามภูมิภาคโดยใช้ทางหลวงของไทยเป็นทางผ่าน
เริ่มจากประเทศมาเลเซีย นอกจากจะมีชาวมาเลเซียเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาแล้ว บนโซเชียลฯ มีการแชร์คลิปชาวมาเลเซียรายหนึ่ง ใช้เส้นทางประเทศไทยเพื่อเลี่ยงรถติด
ชาวมาเลเซียรายนี้ ขับรถจากเมืองอลอร์สตาร์ รัฐเคดะห์ ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตก เข้ามาทางจุดผ่านแดนถาวรบ้านประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา จากนั้นไปยังบ้านพรุหวา ไปออกอำเภอสะบ้าย้อย เข้าอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา
ถึงอำเภอยะหา ไปยังตัวเมืองยะลา จากนั้นเข้าเขตอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ออกถนนสาย 42 ไปจุดผ่านแดนถาวรสุไหงโก-ลก เข้าสู่ด่านรันเตาปันจัง ไปยังรัฐกลันตัน ระยะทาง 291 กิโลเมตร ใช้เวลาราว 5 ชั่วโมง
ชาวมาเลเซียรายนี้ระบุว่า เส้นทางผ่านประเทศไทยนี้ ใช้เวลาเดินทางเร็วกว่าเส้นทางปกติ ที่ต้องขึ้นภูเขาหลายลูก และรถติด อีกทั้งยังมีสถานที่น่าสนใจ ขับรถง่าย มีสินค้าหลายอย่างขายตามข้างถนน
คลิปดังกล่าวมีสื่อมวลชนในมาเลเซียนำไปลงเป็นข่าว แม้กระทั่งเพจข่าวในประเทศไทยก็นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ กลายเป็นที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซีย เพราะปกติก็มีชาวมาเลเซียส่วนหนึ่งใช้เส้นทางในประเทศไทย
เหตุผลหลักๆ ก็คือ นอกจากจะใกล้กว่าเส้นทางปกติแล้ว คุณภาพถนนในประเทศไทย เหมือนทางหลวงมาเลเซียแบบเสียเงิน แต่ประเทศไทยเป็นถนนฟรี ไม่เสียเงินค่าผ่านทาง เว้นทางด่วนกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ และใกล้เคียง
ความจริงมาเลเซียก็มีถนนฟรี แต่สภาพถ้าออกไปนอกเมือง ก็ยังเป็นถนนสองเลนสวนทาง ถ้าต้องการถนนดีๆ ทำเวลาได้เร็ว ก็ต้องเสียเงินค่าผ่านทาง ซึ่งปัจจุบันมีทางด่วนนับสิบเส้นทางกระจายไปทั่วประเทศ
หนึ่งในนั้นคือทางด่วนเหนือ-ใต้ สาย E1 จากด่านบูกิตบูกิตกายูฮีตัม ไปยังกัวลาลัมเปอร์ ระยะทาง 416 กิโลเมตร และสาย E2 จากกัวลาลัมเปอร์ ไปยังเมืองยะโฮร์บาห์รู ระยะทาง 312 กิโลเมตร
ส่วนตัวเคยนั่งรถทัวร์จากปีนังไปกัวลาลัมเปอร์ ใช้ทางด่วนสาย E1 ปรากฏว่าถ้าเป็นนอกเมืองมีแค่ 4 ช่องจราจร เวลาปิดช่องจราจรเพื่อซ่อมผิวทางที ก็ต้องเจอรถติดนานหลายนาที ดีอยู่อย่างหนึ่งคือรถจักรยานยนต์ผ่านทางได้
อีกประเทศหนึ่ง คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) คนที่อยู่ตัวเมืองอุดรธานีจะทราบดีว่า จะมีชาว สปป.ลาว เดินทางมาเที่ยว มาช้อปปิ้งที่ตัวเมืองอุดรธานีอย่างต่อเนื่อง
สังเกตได้จากรถยนต์ทะเบียน “กำแพงนะคอน” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของนครหลวงเวียงจันทน์ผ่านเข้ามา ส่วนมากเป็นป้ายสีเหลืองตัวหนังสือสีดำ คือรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ส่วนป้ายสีขาวตัวหนังสือสีฟ้า เป็นรถที่จดทะเบียนในนามบริษัท
ชาว สปป.ลาวนิยมไปเที่ยวศูนย์การค้าในอุดรธานี โดยเฉพาะเซ็นทรัลอุดร ยูดีทาวน์ เพื่อจับจ่ายซื้อของ ทานอาหารนอกบ้าน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัด ภายหลังห้างเซ็นทรัลอุดร ก็เริ่มมีสินค้าแบรนด์เนมมาลงบ้างแล้ว
อีกด้านหนึ่ง ยังมีชาว สปป.ลาวส่วนหนึ่ง ขับรถยนต์ส่วนตัวจากนครหลวงเวียงจันทน์ ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังเมืองทางภาคใต้ เช่น แขวงคำม่วน แขวงสะหวันนะเขต และเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก
โดยปกติแล้วเส้นทางระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ กับภาคใต้ของ สปป.ลาว จะเป็นทางหลวงหมายเลข 13 ใต้ ส่วนใหญ่เป็นถนน 2 ช่องจราจรสวนทาง บางช่วงได้รับการปรับปรุงแล้ว แต่บางช่วงถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ
อีกทั้งเมื่อคำนวณระยะทางแล้ว ทางหลวงของไทยใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่า ก็ทำให้ชาว สปป.ลาวส่วนหนึ่ง นิยมใช้ทางหลวงของไทยเป็นทางผ่าน แทนการใช้ทางหลวงหมายเลข 13 ใต้
จากการคำนวณระยะทางพบว่า จากด่านพรมแดนหนองคาย ไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จังหวัดนครพนม เพื่อข้ามพรมแดนไปยังเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน มีระยะทาง 267 กิโลเมตร ใช้เวลา 4 ชั่วโมงเศษ
จากด่านพรมแดนหนองคาย ไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จังหวัดมุกดาหาร เพื่อข้ามพรมแดนไปยังแขวงสะหวันนะเขต มีระยะทาง 329 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง
และจากด่านพรมแดนหนองคาย ไปยังจุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อไปยังเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก มีระยะทาง 533 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง
คนไทยส่วนหนึ่งได้ยินเรื่องนี้ก็ไม่สบายใจ เพราะมองว่าถนนในไทยสร้างด้วยงบประมาณแผ่นดิน แต่กลับให้คนต่างชาติใช้เป็นทางผ่าน เวลาถนนพังก็ใช้งบประมาณแผ่นดินของไทยซ่อม สุดท้ายคุ้มกันหรือไม่
แต่หากมองอีกแง่มุมหนึ่ง เมื่อชาว สปป.ลาวขับรถเข้ามาในประเทศไทย แวะกลางทางและมีการจับจ่ายใช้สอยก็สร้างรายได้ในประเทศไทยอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการท่องเที่ยวและช้อปปิ้งในประเทศไทย
เช่น แวะเติมน้ำมัน ก็ได้ภาษีสรรพสามิต และภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อถึงเวลาแวะรับประทานอาหาร ซื้อของที่ร้านค้า ก็สร้างรายได้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ซื้อของห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ก็ได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือเข้าพักค้างคืนที่โรงแรม ก็ได้ภาษีบำรุง อบจ. อีกทางหนึ่ง
และความจริงยานพาหนะที่สร้างความเสียหายแก่ถนนตัวจริง คือ รถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ละปีรัฐจะต้องเสียงบประมาณซ่อมแซมมหาศาล โดยที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่มีใครรับผิดชอบ
แต่ที่รู้สึกไม่เห็นด้วยก็คือ ก่อนหน้านี้มีแก๊งรถตู้รับ-ส่งผู้โดยสารใน สปป.ลาว ที่ต้องการเดินทางระหว่างภาคกลางและภาคใต้ของ สปป.ลาว โดยอ้างว่าใช้ทางหลวงของไทย เดินทางได้รวดเร็วกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายไทย
ชาว สปป.ลาวที่ไม่เห็นด้วยมองว่า เป็นการแย่งอาชีพสงวนของคนไทย แต่ความจริงมีมากกว่านั้น เพราะเป็น “รถผี” ใช้รถผิดประเภท หากเกิดอุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ประกันไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่ประเทศไทย ใครจะรับผิดชอบ
หลังจากที่ยูทูบเบอร์ชาว สปป.ลาวตีแผ่เรื่องนี้ ทราบว่าตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เริ่มตรวจสอบรถตู้ที่มาจาก สปป.ลาวอย่างเข้มงวด ตรวจสอบคนขับรถตู้และผู้โดยสาร สอบถามถึงวัตถุประสงค์เข้าประเทศไทย
นอกจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ก็เริ่มมีตำรวจทางหลวงโบกรถตู้ป้ายทะเบียน สปป.ลาว เพื่อตรวจสอบเอกสารของคนขับและผู้โดยสาร หากพบว่ามีความผิดจะถูกดำเนินคดี ทำให้ในระยะหลังๆ แก๊งรถตู้ดังกล่าวก็เงียบลง
โดยส่วนตัวสนับสนุนให้ใช้บริการรถโดยสารระหว่างประเทศ จากนครหลวงเวียงจันทน์ แล้วต่อรถโดยสารหรือรถตู้ รถมินิบัสที่ถูกกฎหมายจากหนองคายหรืออุดรธานี เพราะมีความคุ้มครองอุบัติเหตุตามกฎหมายของไทยอยู่
แต่ปัญหาของรถโดยสารเหล่านี้ก็คือ การเดินทางจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่งไม่ได้เร็วกว่าแก๊งรถตู้ เพราะต้องใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด และต้องแวะจุดจอดหลายจุด ทำให้ไปถึงปลายทางล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น
โดยปกติรถยนต์ต่างประเทศที่จะเข้ามายังประเทศไทย จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการนำรถเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว กรณีเพื่อการท่องเที่ยว 500 บาทต่อครั้ง ส่วนกรณีอื่นๆ 2,000 บาทต่อครั้ง และค่าเครื่องหมายแสดงการใช้รถยนต์ 500 บาทต่อแผ่น
แต่สำหรับประเทศที่มีความตกลงด้านการขนส่งทางถนนกับรัฐบาลไทย เช่น สปป.ลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะได้รับการยกเว้น แต่อาจจะมีเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอื่นๆ ตามที่แต่ละด่านกำหนด
ประเด็นที่รถยนต์ส่วนตัวจากต่างประเทศ อาศัยประเทศไทยเป็นทางผ่าน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ภาครัฐควรพิจารณา เพราะส่งผลไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
ที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งก็คือ ความคุ้มครองของรถยนต์ต่างประเทศ เมื่อเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยใครจะรับผิดชอบ รวมไปถึงเรื่องของการปฎิบัติตามกฎจราจรที่แตกต่างกัน และความเสี่ยงต่อปัญหาความมั่นคง
ภาครัฐควรเปิดรับฟังความคิดเห็น และนำความเห็นมากำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน สำหรับรถยนต์ทะเบียนต่างประเทศ ที่เข้า-ออกด่านต่างกันตามสมควร เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน.