xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสะพานลอยปาดังเบซาร์ ส่งผลดีต่อการเดินทางไทย-มาเลเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ภาพ : Railway Assets Corporation
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

สัปดาห์ที่แล้ว กล่าวถึงไวรัลของชาวเน็ตมาเลเซีย เกี่ยวกับการเลื่อนเปิดใช้สะพานลอยข้ามทางรถไฟ สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซียโดยไม่มีกำหนด ว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มแท็กซี่

ผ่านไปไม่ทันไร 14 กุมภาฯ วันวาเลนไทน์ บรรษัทสินทรัพย์การรถไฟมาเลเซีย หรือ Railway Assets Corporation (RAC) ได้เปิดใช้สะพานลอยเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ กับศูนย์ ICQs ปาดังเบซาร์แล้ว

ศูนย์ ICQs คือ ศูนย์ตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร ด่านกักกันสัตว์ และความมั่นคงปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นจุดลงตราประทับหนังสือเดินทาง เพื่อไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ ฝั่งประเทศไทย ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา

สะพานลอยแห่งนี้เปิดตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึง 22.00 น. ตามเวลามาเลเซีย (หรือเวลา 05.00 น. ถึง 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) และปิดเวลา 22.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

หลังการเปิดสะพานลอยดังกล่าว นอกจากชาวมาเลเซียจะแสดงความชื่นชม ที่ต่อไปนี้ไม่ต้องเสียเงินให้กับแท็กซี่ที่ขูดรีดประชาชนสูงถึง 10 ริงกิตแล้ว ยังแซวอีกด้วยว่า ต้องให้เกิดไวรัลบนโซเชียลฯ ถึงจะดำเนินการ


อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะเปิดสะพานลอยดังกล่าว ฝ่ายจัดการของการรถไฟมาลายา (KTMB) ติดประกาศถึงบรรดารถแท็กซี่ แกร็บ และรถรับจ้างทุกชนิด ห้ามเข้าไปเรียกผู้โดยสารภายในล็อบบี้ของสถานี

เป็นผลสืบเนื่องมาจากไวรัลบนโซเชียลฯ ที่ชาวเน็ตมาเลเซียรายหนึ่งวิจารณ์ว่า การปิดสะพานลอยดังกล่าว “เอื้อประโยชน์” ให้บรรดาผู้ประกอบการรถแท็กซี่หรือไม่ และไม่คิดว่าสะพานลอยจะเปิดในเร็ววันนี้

แม้การรถไฟมาลายาจะกล่าวว่า สะพานลอยดังกล่าวอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟมาลายา แต่สำหรับประเด็นรถแท็กซี่และรถรับจ้างที่เรียกผู้โดยสารภายในสถานี ก็แก้ไขปัญหากันไป

เว็บไซต์ Astro AWANI
สื่อออนไลน์ของมาเลเซีย รายงานว่า สะพานลอยความยาว 350 เมตร ถูกปิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 โดยกรมตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย (JIM) รัฐปะลิส ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

หลังพบว่าที่ผ่านมามีการลักลอบเข้าประเทศมาเลเซียโดยผิดกฎหมายหลายครั้ง โดยเข้าไปในพื้นที่ความมั่นคงก่อนอาศัยสะพานลอยดังกล่าวขึ้นไป และถือโอกาสปรับปรุงทางเดินเท้าเชื่อมจากสะพานลอยไปยังวงเวียนปาดังเบซาร์

(วงเวียนปาดังเบซาร์จะอยู่หน้าทางเข้าศูนย์ ICQs ปาดังเบซาร์ เป็นทางแยกไปยังย่านการค้า Arked Niaga ศูนย์การค้าปาดังแวร์มาร์ท รวมทั้งเป็นท่ารถเมล์สาย T11 ไปยังกางาร์ (Kangar) เมืองหลวงรัฐปะลิส อีก 34 กิโลเมตร)


การก่อสร้างทางเดินที่มีรั้วกั้นใช้งบลงทุนราว 250,000 ริงกิต (หรือประมาณ 1.89 ล้านบาท) โดยได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ซึ่งจะมีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
อิซิแซม อิบราฮิม (Izizam Ibrahim) สภาบริหารรัฐปะลิส ด้านโครงสร้างพื้นฐานและขนส่งสาธารณะ ระบุว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นพ้องที่จะเปิดสะพานลอยอีกครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่จะไปย่านการค้า (Arked Niaga)

เขากล่าวว่า หลังปิดให้บริการกว่า 4 ปี ความจริงจะเปิดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 แต่ต้องเลื่อนออกไปหลายครั้งด้วยเหตุผลบางประการ การเปิดสะพานลอยช่วยแก้ไขปัญหาได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังต้องปรับปรุงอีกหลายอย่าง

โดยเฉพาะสิ่งอำนายความสะดวกสำหรับผู้พิการที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ เพราะสะพานลอยแห่งนี้มีเพียงบันได ปัจจุบันยังคงต้องใช้บริการรถแท็กซี่ หรือรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น Grab) เป็นต้น

อิบราฮิมยอมรับว่า การเปิดสะพานลอยส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนขับรถแท็กซี่ และรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้พบกับบรรดาคนขับรถแท็กซี่และรถรับจ้างผ่านแอปฯ เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าต้องหาทางพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ เช่น สร้างที่พักชั่วคราว (Transit House) สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงสถานีก่อนเวลาเปิดด่าน มีนักลงทุน 2-3 รายสนใจพัฒนาพื้นที่ แต่อยู่ในขั้นตอนการหารือ

ขณะที่การปิดสะพานลอย ทำให้การจับกุมผู้ลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมายลดลง ปี 2561 มีผู้ถูกจับกุม 12 ราย ได้แก่ อินเดีย 8 คน คนไทย 3 คน ชาวลาว 1 คน ปี 2562 มีผู้ถูกจับกุม 7 ราย ได้แก่ เวียดนาม 6 คน และคนไทย 1 คน

ภาพ : Railway Assets Corporation
ความน่าสนใจของการเปิดสะพานลอยปาดังเบซาร์ก็คือ ที่นี่มี รถไฟชานเมืองสายเหนือ (KTM Komuter Utara) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าชานเมือง ระหว่างสถานีปาดังเบซาร์ ถึงสถานีบัตเตอร์เวิร์ธ ไปยังเกาะปีนัง

ปัจจุบันมีรถไฟให้บริการวันละ 18 เที่ยว โดยเที่ยวแรกออกจากสถานีปาดังเบซาร์ เวลา 05.20 น. เที่ยวสุดท้ายออกเวลา 21.35 น. ส่วนขบวนรถขาเข้าสถานีปาดังเบซาร์ เที่ยวแรกมาถึงเวลา 07.11 น. เที่ยวสุดท้ายมาถึงเวลา 23.26 น.

ขณะที่ รถไฟทางไกล ETS ไปยังสถานี KL Sentral กรุงกัวลาลัมเปอร์ ให้บริการวันละ 4 เที่ยว ออกจากสถานีปาดังเบซาร์เวลา 07.30, 09.35, 13.40 และ 16.45 น. ส่วนขบวนรถไปยังสถานีเกอมัส (Gemas) รถออกเวลา 15.50 น.

ส่วนขบวนรถขาเข้าสถานีปาดังเบซาร์ จะเข้าสู่สถานีเวลา 00.04, 04.18, 12.41, 15.23 ต้นทางสถานี KL Sentral และ 16.33 น. ต้นทางสถานีเกอมัส ซี่งมีชบวนรถไฟไปยังสถานีชุมทางหาดใหญ่ และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

ไม่นับรวม ขบวนรถ MY SAWASDEE จากสถานี KL Sentral ถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่ ที่มีเฉพาะช่วงเทศกาล


เมื่อรถไฟมาเลเซียเข้าสู่สถานีปาดังเบซาร์มากถึงวันละ 23 ขบวน แต่รถไฟจากประเทศไทย ออกจากสถานีปาดังเบซาร์เพียงวันละ 3 ขบวน นอกช่วงเวลา ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางมายังประเทศไทยต้องหาตัวเลือกอื่น

หนึ่งในนั้นคือ รถตู้สายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เที่ยวสุดท้ายออกจากท่ารถปาดังเบซาร์ (ฝั่งไทย) ประมาณ 17.30 น. แต่ปัญหาก็คือ ช่วงที่ปิดสะพานลอย ต้องจ่ายค่าแท็กซี่อย่างน้อย 10 ริงกิต เพียงเพื่ออ้อมข้ามทางรถไฟ 4.5 กิโลเมตร

การขูดรีดค่าโดยสารของรถแท็กซี่ ถูกวิจารณ์ในหมู่นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียบ่อยครั้ง และว่ากันว่าช่วงสถานการณ์โควิด-19 และการปิดสะพานลอย ทำให้ธุรกิจรถแท็กซี่และรถรับจ้างเติบโตขึ้น

จากสถิติที่เคยกล่าวไว้ว่า ปีที่แล้ว 2566 มีคนเดินทางเข้า-ออกด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ มากกว่า 1.3 ล้านคน หรือเฉลี่ยประมาณ 100,000-140,000 คนต่อเดือน ถูกแท็กซี่ขูดรีดสัก 10,000 คน ก็มีรายได้กว่า 7 แสนบาทแล้ว

การเปิดสะพานลอยปาดังเบซาร์ จึงเป็นการนับถอยหลังแท็กซี่ที่ขูดรีดนักท่องเที่ยวบนสถานีให้ค่อยๆ ลดลง เหลือแต่ผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการแท็กซี่ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง หรือผู้ที่มีสัมภาระจำนวนมากเท่านั้น

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่จะเดินทางด้วยรถไฟไปยังเกาะปีนัง และกรุงกัวลาลัมเปอร์ หากไม่ทันรถไฟ ก็มีตัวเลือกอย่าง รถตู้สายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารหาดใหญ่ จ.สงขลา เที่ยวแรก 07.30 น.

เมื่อรถตู้ส่งถึงด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ สามารถต่อรถจักรยานยนต์รับจ้าง ผ่านด่าน ตม.ทั้งสองประเทศ แล้วส่งตรงถึงสะพานลอยได้เลย หรือถ้าจะเดินเท้าก็ทนร้อนเอา ระยะทางประมาณ 500-600 เมตร มีดิวตี้ฟรีระหว่างทาง






นึกสงสัยว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ หรือไม่?

เพราะก่อนหน้านี้ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรระบบรถไฟทางคู่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าช่วงหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ แจ้งเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ขณะนี้อีไอเอมีอายุเกิน 5 ปีไปแล้ว

กระทรวงคมนาคม ต้องสอบถามไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่ารายงาน EIA ฉบับเก่ายังใช้ได้หรือไม่ เพราะยังมีประเด็นที่สภาพัฒน์ฯ ไม่เห็นชอบให้มีระบบไฟฟ้า เสนอให้ถอดออกอีก

แต่อย่าเพิ่งถามหาถึงโครงการในอนาคตเลย เอาแค่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังคงล่าช้า อีกทั้งรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ยังคงให้ความสนใจนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทมากกว่า

ฝั่งมาเลเซียแก้ปัญหาเรื่องคาราคาซังอย่างสะพานลอยไปแล้ว แถมกำลังคุยกันเรื่องพัฒนาพื้นที่สถานี ส่วนฝั่งไทย แค่โครงการที่มีมาหลายปี รถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ถึงวันนี้ยังมองไม่เห็นอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น