xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อชาวเน็ตมาเลย์ฯ ชี้ ปิดสะพานลอยปาดังเบซาร์ “เอื้อผลประโยชน์กลุ่มแท็กซี่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อนมีข่าวกรอบเล็กๆ บนสื่อออนไลน์ในมาเลเซีย เมื่อสะพานลอยข้ามทางรถไฟ บริเวณด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย ตรงข้าม ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ถูกเลื่อนเปิดใช้มาแล้วหลายครั้ง

ใครที่ยังไม่เข้าใจขออธิบายดังนี้ ... ก่อนสถานการณ์โควิด-19 เดิมสะพานลอยตรงนี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เข้ามาเที่ยวมาเลเซีย และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่จะไปหาดใหญ่ จ.สงขลา เคยใช้สะพานลอยนี้ข้ามไปมา

โดยเชื่อมระหว่างด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ บริเวณ ศูนย์ ICQS (Immigration, Customs, Quarantine and Security) ที่มีตรวจคนเข้าเมือง กับ สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ ของ การรถไฟมาลายา (KTMB) รัฐวิสาหกิจของมาเลเซีย

เวลาที่เรานั่งรถตู้สายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ จากสถานีขนส่งผู้โดยสารหาดใหญ่ จ.สงขลา รถตู้จะไปส่งที่ด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ จากนั้นนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้าไปประทับตราหนังสือเดินทางที่ฝั่งประเทศไทยก่อน

ต่อมานั่งรถจักรยานยนต์ข้ามแดน ไปยังศูนย์ ICQS ปาดังเบซาร์ ระยะทางประมาณ 600 เมตร ประทับตราหนังสือเดินทางที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มาเลเซีย แล้วจักรยานยนต์รับจ้างไปส่งถึงบันไดสะพานลอย

ศูนย์ ICQS ปาดังเบซาร์ อยู่ฝั่งตะวันออกของทางรถไฟ สายชายฝั่งทะเลตะวันตก (KTM West Coast Railway Line) ส่วนสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ อยู่ฝั่งตะวันตกของทางรถไฟ และเมื่อทางรถไฟเป็นระบบปิด จึงต้องข้ามสะพานลอย

แต่นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อปี 2562 จักรยานยนต์รับจ้างขณะนั้นคิด 50 บาท


ต่อมาต้นปี 2563 เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 รถไฟชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ หยุดให้บริการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 2563 ก่อนที่จะมีการปิดด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ สะพานลอยดังกล่าวก็ปิดไปด้วย

กระทั่งผ่านไปกว่า 2 ปี สถานการณ์ดีขึ้นและกลับมาเดินรถอีกครั้งในวันที่ 15 ก.ค. 2565 แต่ก็พบว่าสะพานลอยข้ามทางรถไฟยังคงปิดปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องต่อรถแท็กซี่ หรือรถจักรยานยนต์รับจ้างอ้อมไปอีก 4.5 กิโลเมตร

จากศูนย์ ICQS ปาดังเบซาร์ ต้องตรงไปตามทาง ทางหลวงสหพันธรัฐหมายเลข 7 (ปาดังเบซาร์-อลอร์สตาร์) ข้ามสะพานข้ามทางรถไฟแล้ว เลี้ยวขวาเข้าไปยังถนนเลียบทางรถไฟเพื่อไปยังสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง

สำหรับคนที่เดินทางด้วยรถไฟ ยังมีขบวนรถพิเศษโดยสาร ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ออกจากสถานีชุมทางหาดใหญ่วันละ 2 ขบวน และขบวนรถด่วนพิเศษที่ 45 กรุงเทพอภิวัฒน์-ปาดังเบซาร์ จอดปลายทางสถานีฝั่งมาเลเซีย

ผู้โดยสารสามารถประทับตราหนังสือเดินทางที่ ตม.ไทย และ ตม.มาเลเซีย บริเวณชั้น 1 ของสถานี แล้วเดินขึ้นบันไดไปที่ชั้น 2 เพื่อซื้อตั๋วรถไฟที่เคาน์เตอร์ ซึ่งทางเข้าสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ ฝั่งมาเลเซียจะอยู่ที่ชั้น 2 เช่นเดียวกัน

(ปัจจุบัน ทางการมาเลเซียกำหนดให้ชาวต่างชาติ รวมทั้งคนไทยที่เข้าประเทศ ต้องกรอกข้อมูลใน Malaysia Digital Arrival Card (MDAC) ที่เว็บไซต์ https://imigresen-online.imi.gov.my/mdac/main ก่อนเข้าประเทศใน 3 วัน)

แต่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้งของทางการไทย และตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย ไม่ได้เปิดตลอดเวลา โดยมีประตูกรงเหล็กกั้นอยู่บริเวณชั้น 2 ในช่วงที่ยังไม่มีรถไฟจากสถานีชุมทางหาดใหญ่เข้ามา ก็ต้องไปใช้ศูนย์ ICQS ด้านนอก


อีกทั้งคนที่ไม่ได้มารถไฟจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ แต่เลือกเดินทางด้วยรถตู้หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เมื่อสะพานลอยปิดปรับปรุง และเลื่อนเปิดให้บริการโดยไม่มีกำหนด นักท่องเที่ยวทั้งสองประเทศก็เดือดร้อน

เพราะปัจจุบันสถานีปาดังเบซาร์มีรถไฟชานเมือง KTM Komuter ปลายทางสถานีบัตเตอร์เวิร์ธ รัฐปีนัง ให้บริการไป-กลับรวม 36 ขบวน และรถไฟ ETS ปลายทางสถานี KL Sentral กรุงกัวลาลัมเปอร์ ไป-กลับรวม 8 ขบวน

รวมทั้งรถไฟ ETS Gold ปลายทางสถานีเกอมัส (Gemas) รัฐเนกรีเซมบีลัน ไป-กลับรวม 2 ขบวน เชื่อมต่อรถไฟ KTM Intercity ปลายทางสถานี JB Sentral รัฐยะโฮร์บาห์รู ตรงข้ามประเทศสิงคโปร์

ขณะที่รถไฟไปสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ให้บริการวันละ 3 ขบวน (รวมขบวนด่วนพิเศษไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) นอกช่วงเวลาจึงต้องข้ามแดนผ่านศูนย์ ICQS ปาดังเบซาร์ แล้วต่อรถตู้ไปหาดใหญ่ เที่ยวสุดท้าย 17.30 น.

ถึงกระนั้น ยังมีด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ ประเทศไทย เปิด 05.00-21.00 น. เวลาประเทศไทย และศูนย์ ICQS ปาดังเบซาร์ เปิด 06.00-22.00 น. เวลามาเลเซีย ก็ย่อมมีคนที่เดินทางด้วยรถไฟไปมาหาสู่กันเป็นประจำ

โดยเฉพาะย่านตลาด Arked Niaga ซึ่งเป็นตลาดการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ใกล้กับศูนย์ ICQS มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวมาเลเซียและชาวไทย เข้ามาจับจ่ายซื้อของอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะสินค้าผลิตในประเทศมาเลเซีย

จากข้อมูลจากด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ประเทศไทย พบว่า แต่ละปีมีคนเข้า-ออกด่านปาดังเบซาร์ มากกว่า 1,300,000 คน หรือหากคิดเป็นรายเดือน ตกเดือนละ 100,000 - 140,000 คนต่อเดือน

ที่มา : ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์

ที่มา : ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์


ปัญหาก็คือ เมื่อสะพานลอยปิด นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและมาเลเซีย จำใจต้องใช้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งคิดค่าโดยสารสูงถึง 15 ริงกิต (ประมาณ 112 บาท) ทั้งที่หากเปิดสะพานลอย ก็จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้

แม้กระทั่งมี รถตู้ป้ายดำ ถือป้ายเชิญชวนขึ้นรถตู้ไปหาดใหญ่ ต้องเสียเงินคนละ 30 ริงกิต หรือคิดเป็นเงินไทย 240 บาท ทั้งที่มีรถตู้หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ฝั่งไทย แบบถูกกฎหมาย ค่าโดยสารเพียง 60 บาทเท่านั้น

ขณะที่รถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชันอย่าง แกร็บ (Grab) ในมาเลเซีย เมื่อ 2 ปีก่อนจ่ายไป 4 ริงกิต (ประมาณ 30 บาทเศษ) แต่ทราบมาว่าปัจจุบันต้องจ่ายสูงถึง 11 ริงกิต (ประมาณ 83 บาท) ราคาแทบไม่ต่างไปจากแท็กซี่เหล่านี้เลย

ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับ นักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT (Free Independent Travelers) หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเอง ซึ่งมีความเป็นส่วนตัวสูง ต้องการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จำต้องถูกบังคับให้เดินทางแบบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


สื่อออนไลน์ของมาเลเซีย WORLD OF BUZZ (WOB) รายงานข่าวว่า ชาวเน็ตมาเลเซียวิจารณ์การเลื่อนเปิดใช้สะพานลอยระหว่างสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ กับชายแดนไทย-มาเลเซียว่า “เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มรถแท็กซี่”

รายงานข่าวแจ้งว่า สะพานลอยดังกล่าวปิดบริการชั่วคราวเมื่อปี 2563 เพื่อความปลอดภัย แต่ยังคงปิดต่อไป โดยเลื่อนวันเปิดให้บริการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีประกาศเปิดสะพานลอยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาก็ตาม

มีชาวมาเลเซียโพสต์ข้อความลงในแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์เดิม) ถึงการปิดสะพานลอยดังกล่าวว่า ไม่ใช่แค่เพียง 1-2 ครั้ง แต่เป็น 5 ครั้ง ที่การรถไฟมาลายา (KTM Berhad) เปลี่ยนวันเปิดใช้สะพานลอย

ชาวมาเลเซียรายหนึ่ง เห็นว่า "เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มรถแท็กซี่ ไม่คิดว่าจะเปิดในเร็ววันนี้"

ผู้ใช้แพลตฟอร์ม X คนอื่น ต่างก็วิจารณ์ว่า การปิดสะพานลอย ทำให้นักท่องเที่ยวลำบากขึ้น เพราะถูกบังคับให้ต้องใช้บริการรถแท็กซี่เพิ่มเติม เพื่อไปยังศูนย์ ICQS เนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่น

ส่วนอีกรายหนึ่งเหน็บแนมว่า “ถ้าไม่คิดจะเปิดสะพานลอยอีกครั้ง ให้สร้างกำแพงเพื่อปิดทางเดินไปยังศูนย์ ICQS ซะ” และหลายคนแท็กไปยัง นายแอนโทนี่ ลก เซียว ฟุก รมว.คมนาคมมาเลเซีย เพื่อให้ลงมาแก้ปัญหานี้

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ดาตุ๊ก เสรี ไซฟุดดิน นาซูเตียน อิสมาล รมว.มหาดไทยมาเลเซีย ประกาศว่า รัฐบาลกำลังสร้างสะพานลอยแห่งใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

ก่อสร้างโดย บรรษัทสินทรัพย์การรถไฟมาเลเซีย หรือ Railway Assets Corporation (RAC) ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย 3 ล้านริงกิต หรือประมาณ 22.35 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ถึงขณะนี้สะพานลอยแห่งใหม่ยังคงใช้งานไม่ได้ต่อไป


เมื่อมีชาวเน็ตสอบถามไปยังการรถไฟมาลายาว่า ทำไมยังไม่เปิด ได้รับคำตอบว่า “สะพานลอยไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ KTM Berhad แต่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย” หากมีข้อสงสัยให้ไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ก่อนหน้านี้เมื่อ เดือนสิงหาคม 2566 เลขาธิการรัฐบาลท้องถิ่นรัฐปะลิส เยี่ยมชมศูนย์ ICQS ปาดังเบซาร์ ท่าเรือบกปาดังเบซาร์ และทางเดินเข้าสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ ซึ่งจากภาพประชาสัมพันธ์ พบว่าทางเดินใกล้จะแล้วเสร็จ

ที่มา : Pejabat SUK Perlis


การปิดสะพานลอยข้ามทางรถไฟปาดังเบซาร์ สวนทางกับแคมเปญการท่องเที่ยว Perlis 2024-2025 ของรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย ส่งเสริมให้ชาวมาเลเซียและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนไทยเข้าไปเที่ยวที่นั่น

โดยที่ก่อนหน้านี้ กองการท่องเที่ยวของรัฐปะลิส ก็เคยไปจัดโรดโชว์โปรโมตการท่องเที่ยว ในงาน Malaysia Festival 2023 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล หาดใหญ่ เมื่อปลายปีที่ 2566 และเพิ่งไปโปรโมตที่จังหวัดสตูลเมื่อต้นปี 2567

เท่าที่อ่านรายงานข่าวจาก เว็บไซต์นิวสเตรทไทมส์ (NST) ของมาเลเซีย พบว่ามีการเปิดตัวแคมเปญการท่องเที่ยวไปเมื่อช่วงปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำจืด ติมะห์ ตาเซาะห์ (Timah Tasoh) ในแขวงเบเซรี เมืองกันการ์

รัฐปะลิสนำเสนอว่า นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวได้ด้วยงบต่ำกว่า 500 ริงกิต (ประมาณ 3,800 บาท) ซึ่งมีที่พักราคาต่ำกว่า 200 ริงกิต (ประมาณ 1,500 บาทเศษ) และสถานที่ท่องเที่ยวเยี่ยมชมได้โดยเก็บค่าธรรมเนียมเล็กน้อย

เมื่อเปรียบเทียบกับมาเที่ยวหาดใหญ่ จ.สงขลา ที่ต้องใช้งบ 1,000 ริงกิต (ประมาณ 7,500 บาทเศษ) สำหรับรัฐปะลิสถือว่าเกินพอแล้ว โดยรัฐปะลิสตั้งเป้าว่า จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากกว่า 3.5 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว

เมืองหลวงของรัฐปะลิส คือ เมืองกางาร์ (Kangar) ห่างจากด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ประมาณ 35 กิโลเมตร ที่นี่ไม่มีรถไฟผ่าน แต่มีรถประจำทาง สาย T11 กางาร์-ปาดังเบซาร์ จอดที่วงเวียนปาดังเบซาร์ 

ส่วนรถไฟ KTM Komuter จากสถานีปาดังเบซาร์ ลงที่ สถานีอาเรา (ARAU) ใช้เวลา 20 นาที แล้วต้องไปต่อรถประจำทาง สาย T10 กางาร์-ชางลูน ที่บริเวณ HUB BAS ARAU ด้านหน้าสถานีรถไฟ เพื่อต่อไปยังเมืองกันการ์อีก 11 กิโลเมตร

ขอเสริมเพียงเล็กน้อย รัฐปะลิสยังไม่มีข้อมูลท่องเที่ยวภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่เคยมีบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวแล้วกลับมาเขียนรีวิว หากใช้โอกาสนี้ทำข้อมูลสนับสนุนนักท่องเที่ยวชาวไทยถือว่าเป็นเรื่องที่ดี


แต่ปัญหาก็คือ สะพานลอยข้ามทางรถไฟปาดังเบซาร์ยังไม่เปิด นักท่องเที่ยวชาวไทยลงจากรถไฟแล้วจะไปรัฐกันการ์ยังไง? ทั้งที่ป้ายหยุดรถประจำทาง ออกจากสะพานลอยเพียงเล็กน้อยก็ถึงแล้ว

หากต้องเหมารถแท็กซี่ หรือเรียกแกร็บ เพียงแค่ไปต่อรถเมล์ ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายขนาดไหน? เอาแค่อ้อมจากสถานีรถไฟไปศูนย์ ICQS ก็เสียค่าแท็กซี่ไปแล้ว 15 ริงกิต เห็นแบบนี้ใครเขาจะอยากมาเที่ยว

ที่มา : กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ที่ผ่านมา ชาวมาเลเซียนิยมมาเที่ยวประเทศไทยอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทำให้สถิตินักท่องเที่ยวปี 2566 ที่ผ่านมา ชาวมาเลเซียครองแชมป์มากที่สุดถึง 4,563,020 คน จากทั้งหมด 28,042,131 คน

สอดคล้องกับกระแสชาวเน็ตมาเลเซีย ต่างวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการปิดสะพานลอย และเลื่อนการเปิดใช้สะพานลอยอย่างมาก โดยเฉพาะเสียงวิจารณ์ที่ว่าเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มรถแท็กซี่ อย่างน้อยทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้

ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทย ที่แลกเปลี่ยนข้อมูลการเที่ยวมาเลเซียด้วยตัวเองผ่านสื่อโซเชียลฯ ก็วิจารณ์เรื่องนี้ไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการเลื่อนเปิดใช้สะพานลอยครั้งล่าสุด ไปเป็นวันที่ 30 เมษายน 2567 ซึ่งพ้นช่วงการท่องเที่ยวฤดูร้อนพอดี

บางคนถึงกับกล่าวว่า “ถ้าจะเลื่อนบ่อยขนาดนี้ก็ไม่ต้องเปิดก็ได้”หรือต่างวิจารณ์ว่า มีผลประโยชน์จำนวนมากในสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ โดยเฉพาะรถแท็กซี่ รถรับจ้าง หรือรถตู้ป้ายดำที่ดักรอผู้โดยสารทางเข้า-ออกสถานี


หนำซ้ำ ยังมีคำบอกเล่าว่า กลุ่มรถแท็กซี่เหล่านี้ยังหว่านล้อมกับนักท่องเที่ยวชาวไทย อ้างว่า "ต้องออกไปประทับตราหนังสือเดินทางที่ด้านนอกสถานี" ก่อนให้ขึ้นรถแท็กซี่ขับอ้อมไปที่ศูนย์ ICQS แล้วไล่ให้ไปขึ้นจักรยานยนต์รับจ้าง

จากนั้นไปประทับตราหนังสือเดินทางกับตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย และตรวจคนเข้าเมืองประเทศไทย ก่อนส่งที่ สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ (ฝั่งไทย) กว่าจะรู้ตัวเจ้าหน้าที่รถไฟไทยแจ้งว่า "ประทับตราที่สถานีปาดังเบซาร์ฝั่งมาเลเซียก็ได้"

สรุปว่านักท่องเที่ยวที่ถูกหว่านล้อมต้องเสียเงินค่าแท็กซี่ และค่ารถจักรยานยนต์รับจ้างสองต่อ รวมกัน 200-300 บาท

กลุ่มคนเหล่านี้อาศัยช่วงที่รถไฟขาเข้าจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ยังไม่มาถึง ซึ่งเป็นช่วงเวลาบ่ายเข้ามาหลอกลวงนักท่องเที่ยว ทั้งที่ประตูกั้นบันไดเพื่อลงไปยังชานชาลาสถานี ต้องรอเวลาประตูเปิดคือช่วงรถไฟจากสถานีชุมทางหาดใหญ่มาถึงสถานี

ซึ่งหากนักท่องเที่ยวที่มีความอดทนพอ ก็จะรับประทานอาหารหรือนั่งพักคอย รอเวลาประตูเปิดอีกครั้ง แต่นักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็จะถูกชักชวนให้ไปขึ้นรถแท็กซี่แบบนี้

นี่คือผลประโยชน์มหาศาลที่ดักรอนักท่องเที่ยวมาเลเซีย รวมทั้งคนไทยที่จะกลับบ้าน หากมีการเปิดสะพานลอยแล้ว นักท่องเที่ยวเข้า-ออกสถานีรถไฟกับศูนย์ ICQS ปาดังเบซาร์ ได้สะดวก ผลประโยชน์ตรงนี้จะหายไปกับตา

โดยมารยาทคงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศอื่นได้ แต่ในฐานะเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ทำได้แค่สะท้อนปัญหาออกมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามารับฟัง

โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย ในฐานะผู้รับผิดชอบสะพานลอยตรงนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น