xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยไปเมืองนอก หรือต่างชาติเที่ยวไทย สแกนจ่ายเหมือนอยู่ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ภาพ : ธนาคารกรุงไทย
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

คราวก่อนเล่าถึง ประสบการณ์สแกนจ่ายที่ประเทศจีน โดยใช้แอปพลิเคชัน K PLUS ธนาคารกสิกรไทย สแกนจ่ายร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ ยูเนี่ยนเพย์ (UnionPay) ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน

มีคนสงสัยว่า ยังต้องแลกเงินหรือทำบัตรเครดิตอีกไหม ในเมื่อสแกนจ่ายได้ ขอตอบว่า แม้จะสแกนจ่ายได้ แต่ที่คุนหมิง ร้านค้าที่รับคิวอาร์โค้ดของยูเนี่ยนเพย์ไม่แพร่หลายเมื่อเทียบกับอาลีเพย์ (Alipay) หรือวีแชตเพย์ (WechatPay)

เพื่อนร่วมทริปที่ไปด้วยกัน ส่วนใหญ่ใช้วิธีนำบัตร Truemoney Mastercard ที่อยู่ในแอปฯ ทรูมันนี่วอลเล็ต ไปผูกกับอาลีเพย์ แล้วสแกนจ่ายโดยการตัดบัตร เหตุผลก็เพื่อความปลอดภัย เมื่อเทียบกับผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตโดยตรง

ทางที่ดี มีหลายเครื่องมือเอาไว้ดีกว่า เวลาผ่านร้านค้า เห็นอันไหนสะดวกที่สุดก็นำมาใช้ ส่วนตัวพกเงินไปแค่ 100 หยวน คิดเป็นเงินไทยไม่ถึง 500 บาทเท่านั้น แต่ก็ต้องใช้ให้หมด ไม่อย่างนั้นต้องแลกคืนในอัตราที่ต่ำมาก

ส่วนคำถามที่ว่าใช้ซิมการ์ดต่างประเทศสแกนจ่ายผ่าน K PLUS ได้ไหม ส่วนตัวใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ (โรมมิ่ง) แต่โดยปกติแล้วเปลี่ยนซิมการ์ดต่างประเทศ ถ้าขณะทำรายการไม่ได้พึ่งไว-ไฟ จะไม่สามารถใช้งาน K PLUS ได้

ปัจจุบัน แอปฯ K PLUS สามารถสแกนจ่ายที่จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ รวม 40 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก ที่ใช้มาตรฐานคิวอาร์โค้ดของยูเนี่ยนเพย์

แต่อีกด้านหนึ่ง พบว่ายังมีธนาคารของไทย ร่วมกับธนาคารและสถาบันการเงินต่างประเทศ ให้บริการชำระเงินข้ามประเทศด้วย QR Cross-Border Payment โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุน

เมื่อวันก่อนมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนที่ไปเที่ยวสิงคโปร์กลับมา เขาเล่าว่าแลกเงินมาจากเมืองไทย 550 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพราะกลัวว่าจะสแกนจ่ายไม่ได้ ปรากฏว่าที่ร้านค้าต่างๆ ติดป้ายรับคิวอาร์โค้ดเต็มไปหมดเลย

เขากล่าวว่า ตามร้านค้าต่างๆ ติดป้ายที่มีสัญลักษณ์ NETS กรอบสีน้ำเงินกับสีแดง สามารถใช้แอปฯ Krungthai NEXT ของธนาคารกรุงไทย สแกนจ่ายได้เหมือนอยู่เมืองไทยเลย

แต่เพื่อนอีกคนที่ไปสิงคโปร์มาเหมือนกัน กล่าวกับผู้เขียนว่า แม้จะสแกนจ่ายได้ แต่อัตราแลกเปลี่ยนไม่ดีนัก ถือเป็นอีกเสียงสะท้อนหนึ่งที่นำมาพิจารณา เมื่อเทียบกับความสะดวกสบาย ไม่ต้องแลกเงิน และไม่ต้องกลัวเงินสูญหาย




อีกเรื่องหนึ่งที่นำมาเล่าสู่กันฟังก็คือ ที่ประเทศมาเลเซีย ท่าเรือเฟอร์รี่ระหว่างฝั่งบัตเตอร์เวิร์ธ กับจอร์จทาวน์ ของรัฐปีนัง ประกาศไม่รับเงินสดมาตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยให้ซื้อตั๋วออนไลน์ล่วงหน้าแบบวันต่อวัน

โดยเมื่อเข้าไปที่เว็บไซต์ ferry.penangport.com.my ให้กรอกจำนวนคน อีเมลสำหรับซื้อตั๋ว (เบอร์โทร.ใส่ตัวเลขอื่นก็ได้) แล้วชำระเงิน หนึ่งในนั้นมีตัวเลือก DuitNow QR สามารถใช้แอปฯ Krungthai NEXT ธนาคารกรุงไทยชำระเงินได้

คนไทยที่มีแอปฯ ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ สามารถสแกนจ่ายได้ที่ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา และญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่จะให้บริการได้เร็วๆ นี้ ได้แก่ ลาว อินเดีย และฮ่องกง

เริ่มจากประเทศญี่ปุ่น มีธนาคารกรุงศรีอยุธยา ร่วมกับ NTT DATA และ StarPay ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีร้านค้าให้บริการราว 400 แห่ง ก่อนที่จะมีธนาคารกรุงไทย ให้บริการตามมา

แต่ที่ญี่ปุ่นจะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ตรงที่จะใช้วิธีให้เราสร้างคิวอาร์โค้ดแบบใช้ครั้งเดียว ผ่านแอปฯ KMA ธนาคารกรุงศรีฯ หรือ Krungthai NEXT ธนาคารกรุงไทย แล้วให้ร้านค้าสแกนก่อน หน้าจอเปลี่ยนถึงจะให้กดยืนยัน

ภาพ : nets.com.sg
ส่วนประเทศอื่นๆ ใช้วิธีสแกนจ่ายคิวอาร์โค้ดเหมือนที่ประเทศไทย ได้แก่

ประเทศสิงคโปร์ แอปฯ Krungthai NEXT ธนาคารกรุงไทย, Bangkok Bank ธนาคารกรุงเทพ และ KMA ธนาคารกรุงศรีฯ สามารถสแกนจ่ายคิวอาร์โค้ดของ NETS QR

ประเทศมาเลเซีย แอปฯ Krungthai NEXT ธนาคารกรุงไทย, Bangkok Bank ธนาคารกรุงเทพ, KMA ธนาคารกรุงศรีฯ และ CIMB THAI ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย สามารถสแกนจ่ายคิวอาร์โค้ดของ DuitNow QR

แต่ก็พบว่ามีเข้าร่วมบางธนาคาร อาทิ Ambank, Boost, CIMB, Hong Leong Bank, Maybank, Public Bank, Razer Merchant Services, Touch and Go, และ UOB Malaysia สังเกตได้จากสัญลักษณ์ Merchant Partner ด้านล่าง

ประเทศอินโดนีเซีย แอปฯ Krungthai NEXT ธนาคารกรุงไทย, Bangkok Bank ธนาคารกรุงเทพ, KMA ธนาคารกรุงศรีฯ และ CIMB THAI ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย สามารถสแกนจ่ายคิวอาร์โค้ดของ QRIS

ประเทศเวียดนาม แอปฯ Krungthai NEXT ธนาคารกรุงไทย, Bangkok Bank ธนาคารกรุงเทพ และ KMA ธนาคารกรุงศรีฯ สามารถสแกนจ่ายคิวอาร์โค้ดของ VIET QR เฉพาะธนาคาร BIDV และ TP Bank

ประเทศกัมพูชา แอปฯ Krungthai NEXT ธนาคารกรุงไทย และ KMA ธนาคารกรุงศรีฯ สามารถสแกนจ่ายคิวอาร์โค้ดของ KHQR ส่วนแอปฯ SCB EASY ธนาคารไทยพาณิชย์ สแกนจ่ายได้เฉพาะ KHQR ของ ACLEDA BANK

ทุกธนาคารที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสแกนจ่ายได้สูงสุดเทียบเท่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อรายการ และ 500,000 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับธนาคารพาณิชย์ที่ใช้บริการ


ในทางกลับกัน ลูกค้าธนาคารประเทศเหล่านี้ บางประเทศสามารถใช้แอปฯ ธนาคารของตัวเองสแกนจ่ายคิวอาร์โค้ดผ่านระบบพร้อมเพย์ (Prompt Pay) ที่ประเทศไทยได้แล้ว โดยมีธนาคารเข้าร่วมโครงการบางธนาคาร ได้แก่

ลูกค้าจากประเทศมาเลเซีย สามารถใช้แอปฯ CIMB Clicks ของ CIMB, HLB Connect ของ Hong Leong Bank, MAE ของ Maybank, PB engage MY ของ Public Bank และ Touch and Go สแกนจ่ายผ่านพร้อมเพย์ในไทย ผ่านธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีฯ และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ได้สูงสุดไม่เกิน 3,000 ริงกิตต่อรายการ และไม่เกิน 50,000 ริงกิตต่อวัน

แต่มีบางธนาคารในมาเลเซีย ที่จำกัดเฉพาะคิวอาร์โค้ดบางธนาคารในไทย เช่น แอปฯ PB engage MY ของ Public Bank สแกนจ่ายได้เฉพาะธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีฯ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

ลูกค้าจากประเทศสิงคโปร์ สามารถใช้แอปฯ DBS digibank ของ DBS และ OCBC Digital สแกนจ่ายพร้อมเพย์ในไทย ผ่านธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีฯ ได้สูงสุดไม่เกิน 2,200 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน

ลูกค้าจากประเทศอินโดนีเซีย สามารถใช้แอปฯ BCA Mobile ของ Bank Central Asia, BSI Mobile ของ Bank Syariah Indonesia, DANA Dompet Digital Indonesia ของ Espay Debit Indonesia Koe, OCTO Mobile ของ Bank CIMB Niaga, SimobiPlus ของ Bank Sinarmas, M-Smile ของ Bank Mega, PermataMobile X ของ Bank Permata และ BPD BALI Mobile ของ Bank Pembagunan Daerah Bali สแกนจ่ายผ่านพร้อมเพย์ในไทย ผ่านธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีฯ และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ได้สูงสุดไม่เกิน 5,000,000 รูปีต่อรายการ

ลูกค้าจากประเทศเวียดนาม สามารถใช้แอปฯ Sacombank mBanking ของ Sacombank, BIDV SmartBanking ของ BIDV, TPBank Mobile ของ TPBank, VietinBank iPay ของ Vietinbank, Techcombank Mobile app ของ TC Bank และ NAM A Bank Apps ของ NAM A Bank สแกนจ่ายผ่านพร้อมเพย์ในไทย ผ่านธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีฯ ได้สูงสุดไม่เกิน 100,000,000 ดองต่อรายการ และไม่เกิน 200,000,000 ดองต่อวัน


ลูกค้าจากประเทศกัมพูชา สามารถใช้แอปฯ ACLEDA mobile ของ ACLEDA Bank, Sathapana Mobile ของ Sathapana Bank, Hattha Mobile ของ Hattha Bank, FTB Mobile ของ FTB และ CPbank Mobile Banking ของ Cambodia Post Bank สแกนจ่ายผ่านพร้อมเพย์ในไทย ผ่านธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีฯ ได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อรายการ และไม่เกิน 500,000 บาทต่อวัน

อย่างไรก็ตาม การสแกนจ่ายแอปฯ ดังกล่าว ส่วนใหญ่จะใช้ได้กับคิวอาร์โค้ดที่เป็นของร้านค้าที่สมัครบริการกับธนาคาร เช่น K SHOP ธนาคารกสิกรไทย, แม่มณี ธนาคารไทยพาณิชย์, ถุงเงิน ธนาคารกรุงไทย, BBL BE MERCHANT NEXT GEN ธนาคารกรุงเทพ และ กรุงศรีมั่งมี QR ธนาคารกรุงศรีฯ หรือเครื่องรูดบัตร EDC และระบบ POS ของแคชเชียร์ที่มีฟังก์ชันรับชำระด้วยพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด เป็นต้น

ขอเสนอว่า ธนาคารอาจจะร่วมกับร้านค้าที่ทำการค้าขายตามแนวชายแดน หรือแหล่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียนิยมมาเที่ยวบ่อยครั้ง ใช้โอกาสนี้ทดลองรับเงินจากลูกค้าต่างชาติ เพื่อศึกษาว่าใช้งานได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะข้อมูลแอปฯ ธนาคารที่ลูกค้าชาวมาเลเซียนิยมนำมาใช้ เพื่อศึกษาข้อมูล

หากใช้ได้ผลดี ก็ประชาสัมพันธ์ให้รับรู้เป็นวงกว้าง เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้ประโยชน์ แต่ถ้าใช้ไม่ได้ ติดขัดตรงไหน อาจจะใช้วิธีส่งฟีดแบคกลับมาที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรง เพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป

ภาพ : acledabank.com.kh
กำลังโหลดความคิดเห็น