กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อน มีโอกาสไปศึกษาดูงาน “โครงการมองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ รุ่นที่ 5” ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
งานนี้จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมี สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ให้การสนับสนุน โดยมีสื่อมวลชนและช่างภาพหลากหลายสำนัก รวม 20 คน
หนึ่งในประเด็นที่ผู้เขียนสนใจ คือการใช้จ่ายผ่าน ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ในประเทศจีน ทราบว่าได้รับความนิยมอย่างมาก แทบจะแทนที่การใช้เงินสดในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว
นอกจากการถ่ายรูปและส่งสำเนาหนังสือเดินทางเพื่อทำวีซ่ากรุ๊ปแล้ว ได้เตรียมการทั้งการสมัครแอปพลิเคชัน Alipay และ WeChat เพื่อใช้งานที่ประเทศจีน ซึ่งสามารถผูกบัตรเครดิต VISA และ Mastercard ได้
อย่างต่อมา คือการออกบัตรเครดิตยูเนี่ยนเพย์ โดยใช้วงเงินเดียวกับบัตรเครดิตที่ใช้อยู่ และเปิดบัญชีธนาคารพร้อมสมัครบัตรเดบิตและโมบายแบงกิ้ง ธนาคารสัญชาติจีนอย่างธนาคารไอซีบีซี ไทย เพื่อใช้ถอนเงินสดที่จีน
ต่อไปนี้เป็นประสบการณ์การใช้งาน E-Payment ในนครคุนหมิง ที่นำมาบอกเล่ากันแบบคร่าวๆ เผื่อคุณผู้อ่านที่สนใจจะเดินทางไปประเทศจีน ได้ตัดสินใจเลือกใช้จ่ายตามสะดวก
เริ่มจาก อาลีเพย์ (Alipay) เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ของจีน ด้วยจำนวนผู้ใช้งานแตะหลักพันล้านราย ข้อจำกัดก็คือ แม้จะเลือกเปลี่ยนภาษาเป็นภาษาอังกฤษได้ แต่เนื้อหาล้วนเป็นภาษาจีน
ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มบัตรเครดิตหรือเดบิต VISA, Mastercard, Diners Club, Discover และ UnionPay เพื่อใช้งานได้ในเมนู Me เลือก Bank Cards เมื่อต้องการใช้จ่ายให้เข้าไปที่เมนู Scan หรือ Pay แล้วเลือกบัตรที่ต้องการ
เห็นเพื่อนร่วมทริป 2-3 คน เลือกสมัครบัตรเสมือน TrueMoney Mastercard ผ่านแอปฯ TrueMoney Wallet แล้วนำข้อมูลบัตรไปผูกกับแอปฯ Alipay เมื่อต้องการใช้งานก็เติมเงินจากโมบายแบงกิ้งเข้าไปในทรูวอลเล็ตแล้วใช้จ่าย
ข้อดีก็คือ สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ และความเสี่ยงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตโดยตรง แต่ถ้าประสงค์จะใช้วงเงินบัตรเครดิต ก็ผูกบัตรเครดิตไปเลยก็ได้
ผู้เขียนผูกบัตรเครดิตและบัตรเดบิต พบว่าผูกได้สูงสุด 4 ใบ โดยบัตร VISA และ MasterCard ผูกได้ไม่มีปัญหา แต่บัตร Union Pay ถ้าเป็นของธนาคารซีไอบีซี ไทย จะมีปัญหาตรงที่ต้องใช้บัตรธนาคารในประเทศจีนเท่านั้น
ส่วนตัวแนะนำว่าถ้าจะผูกบัตรเดบิตในไทย ให้ผูกบัตรที่ไม่มีค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5% เพราะจะได้ใช้จ่ายถูกลง เช่น บัตร ttb All Free ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือบัตร CIMB THAI CHILL D ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
ระหว่างการไปดูงานที่จีน ผู้เขียนใช้ Alipay มากที่สุด ตั้งแต่ร้านค้าเล็กๆ บนถนนคนเดิน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งแท็กซี่มิเตอร์ในนครคุนหมิง ที่คิดค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 หยวน แล้วต่อไปคิดตามระยะทาง
แต่ปัญหาที่พบมีอยู่สอง-สามประการ อย่างแรกคือ “ตัดบัตรไม่ผ่าน” แม้วงเงินบัตรเครดิต หรือเงินในบัญชีที่ผูกบัตรเดบิตจะหักจากบัญชีเราไปแล้ว แต่ร้านค้าแจ้งว่ายังไม่ได้รับเงิน
ที่ร้านขายของชำแห่งหนึ่ง ผู้เขียนซื้อสายชาร์จมือถือ ราคา 20 หยวน ใช้ Alipay สแกนจ่ายร้านค้าไปแล้ว ตัดเงินไปแล้ว ปรากฏว่าทางร้านแจ้งว่าเงินยังไม่เข้า เราก็นำหน้าจอยืนยันการทำรายการไปให้ดู ทางร้านค้าก็ถ่ายภาพ
ด้วยข้อจำกัดทางภาษา ทำให้สื่อสารกันไม่รู้เรื่องนัก ได้แต่หน้าถอดสี ยืนรอทางร้านค้าแก้ปัญหากันไป ผ่านไปประมาณ 20 นาที ปรากฏว่าเงินเพิ่งจะเข้าบัญชีร้านค้า เจ้าของร้านก็ออกอาการยิ้มแล้วกล่าวว่า “ซาโยนาระ”
นึกในใจว่า หน้าเราญี่ปุ่นตรงไหน หรือเป็นเพราะทรงผมสกินเฮดมั้ง (ฮา)
อีกแห่งหนึ่ง ที่ห้างพาร์คสัน ซูเปอร์มาร์เก็ต อาคาร Bolian Plaza ย่านถนนคนเดิน Nanping ผู้เขียนใช้เครื่อง Self-Checkout สแกนสินค้าด้วยตัวเองและชำระเงินด้วย Alipay ปรากฏว่าตัดเงินไปแล้ว เงินยังไม่เข้าห้างฯ
พนักงานต้องเรียกผู้จัดการสาขามาเช็กเครื่อง ถ่ายภาพหน้าจอยืนยันการทำรายการ สแกนสินค้าใหม่อีกรอบ แต่ก็พูดกับเราอย่างสุภาพว่าไม่ต้องกังวล กระทั่งทางห้างฯ ถามว่าต้องการใบเสร็จหรือไม่ เราบอกไม่ ก็ให้ออกมาโดยดี
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาปลีกย่อย ได้แก่ หน้าจอรอโหลดข้อมูลนานเกินไป หน้าจอขาวหมายถึงระบบค้างก็มี หรือบางครั้งแอปฯ มีการร้องขอรหัส CVV/CVC ซึ่งเป็นเลข 3 หลักท้ายบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต จึงต้องคอยจำเลขไว้ในใจ
บางครั้งแอปฯ ก็เข้าหน้า Payment Gateway ของธนาคารในไทย ต้องรอรหัส OTP ที่ส่งผ่าน SMS ประมาณ 1 นาที แล้วกรอกรหัสลงไป กว่ารายการจะอนุมัติก็เสียเวลามาก แทนที่จะตัดบัตรทันทีเพราะผูกกับแอปฯ ไปแล้ว
เพราะฉะนั้น เวลามีปัญหาลักษณะเช่นนี้อาจจะต้องใจเย็น ค่อยๆ สื่อสารกับร้านค้า (ผู้เขียนใช้วิธีเปิดแอปฯ Google Translate ให้อีกฝ่ายพูด แล้วแปลอัตโนมัติ) และชูหน้าจอรายการสำเร็จไปให้เป็นหลักฐานยืนยัน
อย่างไรก็ตาม การใช้ Alipay แบบผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต อาจใช้ไม่ได้กับร้านค้า ที่รับเฉพาะเงินในบัญชีอาลีเพย์เท่านั้น เช่น ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติบางแห่ง ไม่รองรับบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต
โดยภาพรวมถือว่ายังใช้จ่ายได้ แม้จะมีปัญหาจุกจิกอยู่บ้าง ข้อดีอีกอย่าง ยังมีเมนู Exchange Rate สามารถเปรียบเทียบค่าเงินแบบเรียลไทม์ระหว่างค่าเงินหยวน (CNY) กับค่าเงินบาท (THB) ได้ทันที
อย่างต่อมา คือ WeChat Pay เป็นมินิโปรแกรมในโซเชียลแอปพลิเคชันสัญชาติจีนที่ชื่อว่า WeChat ได้รับความนิยมตีคู่กับ Alipay แต่สำหรับคนไทยอาจสมัครยาก เพราะต้องให้สมาชิกวีแชตเป็นคนยืนยัน
สำหรับ WeChat Pay จะอยู่ในเมนูภาษาไทยที่ชื่อว่า “เงิน” โดยเพิ่มข้อมูลส่วนตัว เช่น ข้อมูลหนังสือเดินทาง และข้อมูลบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตลงไป ซึ่งจะมีการตัดเงิน 0.35 หยวน แล้วคืนเงินเมื่อรายการสำเร็จ
การทำธุรกรรมต่อรายการที่ต่ำกว่า 200 หยวนลงมา WeChat Pay จะยกเว้นค่าธรรมเนียม แต่หากมากกว่า 200 หยวนต่อรายการ จะมีคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 3%
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนใช้ WeChat Pay ที่ห้างวอลมาร์ท ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาศูนย์แสดงสินค้านานาชาติคุนหมิง ปรากฏว่าเมื่อถึงคราวสแกนจ่ายผ่านเครื่อง Self-Checkout ปรากฏว่าถูกให้กรอกข้อมูลที่อยู่ และหนังสือเดินทางซ้ำ
ด้วยความที่เห็นว่ายุ่งยาก ผู้เขียนจึงขอเปลี่ยนวิธีชำระเงินเป็นบัตรยูเนี่ยนเพย์ ซึ่งพนักงานแนะนำให้ไปต่อคิวที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ที่มีเครื่อง POS สีน้ำเงิน ซึ่งรองรับบัตร UnionPay อยู่
ภายหลังสอบถามเพื่อนร่วมทริปที่ใช้ WeChat Pay ที่ผูกบัตรเครดิตเช่นเดียวกับผู้เขียน ก็ได้รับคำตอบว่า “ของพี่ก็ใช้ได้ปกตินะ” กลายเป็นว่าเป็นที่บัญชีของเราหรือเปล่าที่มีปัญหา ซึ่งหากมีโอกาสคราวหน้าจะทดลองใช้อีกครั้ง
อย่างที่สาม คือ แอปพลิเคชัน K PLUS ธนาคารกสิกรไทย ที่มีบริการ QR Cross-Border Payment ร่วมกับยูเนี่ยนเพย์ ใช้งานได้ในต่างประเทศกว่า 40 ประเทศ เปิดให้บริการเมื่อเดือนมิถุนายน 2565
วิธีนี้ใช้ได้เฉพาะร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ UnionPay หรือหยุนฉานฟูเท่านั้น โดยไม่มีขั้นต่ำในการชำระเงิน และไม่มีค่าธรรมเนียม ทำรายการได้สูงสุด 100,000 บาทต่อวัน ซึ่งร้านค้าที่รับถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับ Alipay และ WeChat Pay
ผู้เขียนใช้สแกนจ่ายผ่าน K PLUS อยู่ 2 แห่ง คือ ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ ภายในสวนพฤษศาสตร์คุนหมิง สถาบันวิทยาศาสตร์จีน พบว่าเมื่อสแกนคิวอาร์โค้ด กดยืนยันไปแล้ว ไม่เกิน 3 วินาที ก็หยิบเครื่องดื่มจากตู้อัตโนมัติได้แล้ว
อีกแห่งหนึ่ง คือ ร้านขายเสื้อผ้ากีฬาภายในสวนน้ำตกคุนหมิง ซึ่งจะมีป้ายคิวอาร์โค้ดหยุนฉานฟูตั้งอยู่ วิธีชำระเงินก็คล้ายกับบ้านเรา คือ สแกนคิวอาร์โค้ด ใส่จำนวนเงิน แล้วยืนยันการทำรายการ เป็นอันสำเร็จ
ปัญหาก็คือ ร้านค้าที่รับชำระผ่านหยุนฉานฟู หรือ UnionPay ยังมีน้อย ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้แอปฯ K PLUS เป็นอันดับหนึ่ง ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 20 ล้านราย หากขยายร้านค้าได้ คนไทยก็ใช้จ่ายสะดวกขึ้น
อย่างที่สี่ คือ บัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์-โกลบอล ธนาคารไอซีบีซี ไทย สามารถถอนเงินสดที่ตู้ ATM ธนาคาร ICBC ในประเทศจีน ฟรีค่าธรรมเนียม และใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่รับบัตร UnionPay
วิธีสมัครบัตรก็คือ เปิดบัญชีธนาคารไอซีบีซี ไทย ที่เปิดทำการเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เปิดบัญชีขั้นต่ำ 1,000 บาท แจ้งพนักงานว่าขอบัตรธรรมดา ไม่เอาบัตรกิเลน พร้อมสมัครบริการ ICBC THAI Mobile Banking ด้วย
แนะนำว่าเมื่อเปิดบัญชีเสร็จแล้ว ให้บันทึกเลขที่บัญชีไว้ในรายการโปรด ของแอปพลิเคชันธนาคารที่ใช้เป็นประจำ เพื่อความสะดวกเวลาโอนเงินไป-มา แต่แอปฯ ICBC THAI จะใช้งานยากกว่าธนาคารอื่นเล็กน้อย
บัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์-โกลบอล แบบคลาสสิก ค่าธรรมเนียมแรกเข้าฟรี ค่าธรรมเนียมรายปี 100 บาท ถอนเงินหรือโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มในไทย มีค่าธรรมเนียมตามที่ธนาคารกำหนด เหมือนธนาคารชั้นนำทั่วไป
ที่ประเทศจีน ถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มธนาคาร ICBC ในประเทศจีน ฟรีค่าธรรมเนียม ทำรายการได้สูงสุดเทียบเท่า 100,000 บาทต่อวัน รูดซื้อสินค้าผ่านร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ UnionPay สูงสุดเทียบเท่า 1,000,000 บาทต่อวัน
แต่อย่าสับสนกับธนาคารแห่งประเทศจีน (BOC) หรือธนาคารอื่น ที่โลโก้คล้ายกัน ไม่เช่นนั้นเจอค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 14 หยวน สูงสุด 112 หยวน (ค่าบริการ 12 หยวน บวกค่าธรรมเนียมถอนเงิน 1%)
จากการกดเงินสดที่ตู้ ATM ธนาคาร ICBC ที่ประเทศจีน พบว่า ในวันที่ทำรายการ (24 กรกฎาคม 2566) เงินในบัญชีมีอยู่ 1,000 บาท หลังกดเงิน ยอดคงเหลือ 518.60 บาท เท่ากับว่าถอนเงินไป 481.40 บาท
หารด้วย 100 หยวน เท่ากับว่าค่าเงินขณะนั้น 4.814 บาทต่อหยวน โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมถอนเงิน
เทียบกับการแลกเงินผ่านธนาคารแห่งหนึ่ง ณ วันดังกล่าว พบว่าธนบัตร 100 หยวน เท่ากับ 494.899 บาท ถือว่าถอนเงินสดที่ประเทศจีนถูกกว่าแลกเงินในไทยประมาณ 13 บาทเศษ
ตู้ ATM ที่นี่มีเมนูภาษาอังกฤษ สามารถเปลี่ยนภาษาได้ที่เมนู Language เลือก English จ่ายเฉพาะธนบัตรราคา 100 หยวน สูงสุด 5,000 หยวนต่อครั้ง โดยเมนูมีให้เลือก 100 หยวน, 500 หยวน, 1,000 หยวน, 2,000 หยวน และ 5,000 หยวน หรือใส่จำนวนเงินที่ต้องการ เช่น ต้องการถอนเงิน 600 หยวน ก็ใส่ตัวเลข 600 หยวน
ที่ประเทศจีนมีธนบัตร 6 ราคา เริ่มต้นที่ 1 หยวน สีเขียวมะกอก, 5 หยวน สีม่วง, 10 หยวน สีน้ำเงิน, 20 หยวน สีน้ำตาล, 50 หยวน สีเขียว และ 100 บาท สีแดง ซึ่งมีมูลค่าสูงสุด ส่วนเหรียญมูลค่าต่ำกว่า 1 หยวน เรียกว่า เหมา
ผู้เขียนใช้วิธีแตกธนบัตร 100 หยวนเป็นธนบัตรย่อย โดยการซื้อของที่ร้านค้าขนาดใหญ่ แต่ถ้าเป็นร้านค้าย่อย คนที่เคยไปจีนมาก่อนบอกกับเราว่า ได้ยินมาว่า ใช้เงินสดลำบากกว่า เพราะร้านค้าอาจไม่มีเงินทอน
ข้อดีของการพกเงินสดก็คือ บางครั้งอี-เพย์เมนท์อาจใช้ไม่ได้ เช่น ตอนขึ้นรถไฟใต้ดิน จะใช้สแกนจ่ายแต่ระบบค้าง จึงต้องใช้วิธีจ่ายด้วยธนบัตรแทน แต่แลกธนบัตรย่อยมาแล้ว จึงไม่มีปัญหามากนัก
แนะนำว่าถอนเงินหรือแลกเงินให้พอใช้จ่าย อย่าเหลือไว้แลกคืนที่ประเทศไทย เพราะราคาขายคืนต่ำกว่า อย่างธนบัตร 100 หยวน ส่วนต่างราคาซื้อและราคาขายเกือบ 50 บาทเลยทีเดียว
อย่างสุดท้าย คือ บัตรเครดิตและบัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์ (UnionPay) บัตรพลาสติกที่ใช้จ่ายได้ในประเทศจีน ส่วนบัตร VISA และ Mastercard หากไม่ได้ผูกกับแอปฯ Alipay หรือ WeChat Pay ก็หาที่ใช้งานยาก
แต่เนื่องจากผู้ใช้งาน E-Payment ในจีนนิยมใช้ Alipay หรือ WeChat Pay มากกว่า เพราะฉะนั้นจะมีเครื่อง EDC เฉพาะร้านค้าขนาดใหญ่ อย่างห้างวอลมาร์ท (Walmart) ใช้ระบบ Chip & PIN 6 หลัก เหมือนรูดบัตรเดบิตในไทย
ถ้าเป็นบัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์-โกลบอล ธนาคารไอซีบีซี ไทย การรูดซื้อสินค้าสำหรับสกุลเงินหยวนไม่มีค่าความเสี่ยง แต่ถ้าเป็นบัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์ บางธนาคารจะคิดค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5%
ผู้เขียนรูดบัตรเครดิตยูเนี่ยนเพย์อยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ห้างวอลมาร์ท (Walmart) และ ร้านค้าปลอดภาษี CDF China Duty Free ท่าอากาศยานนานาชาติคุนหมิงฉางฉุ่ย พบว่าใช้งานได้ไม่ต่างจากเมืองไทย
ส่วนตัวคิดว่า การมีเครื่องมือชำระเงินที่หลากหลาย นอกจากจะสะดวกในการใช้จ่ายกับตัวเราแล้ว ยังได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมทริปอีกด้วย เวลาฝากกดเงินสด ก็ใช้บัตรเดบิตถอนเงินที่ตู้ ATM แบบไม่เสียค่าธรรมเนียม
หรืออย่างเพื่อนร่วมทริปที่ไม่ได้กดเงินสดมาเยอะ แต่ต้องการซื้อของในมูลค่าที่สูงก็ช่วยรูดบัตรให้ก่อน แล้วให้โอนเงินคืนมาภายหลัง ซึ่งคนที่เปิดใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ (โรมมิ่ง) ก็สามารถโอนเงินให้กันได้
เหนือสิ่งอื่นใด คือประสบการณ์ในการใช้งานอี-เพย์เมนท์ในต่างประเทศ ที่เรียกได้ว่าเปิดโลกกันเลยทีเดียว ต่อไปนี้เวลาไปประเทศไหน ถ้ามีระบบรองรับ ก็ไม่จำเป็นต้องแลกเงินจำนวนมากอีกต่อไป