กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แอปพลิเคชัน D.DOPA ที่มีบัตรประชาชนดิจิทัล และทะเบียนบ้านดิจิทัล ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Thai ID
โดยระบุว่า “ชื่อแอปพลิเคชันใหม่ Thai ID ยกระดับการให้บริการผ่านการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จาก “D.DOPA” เป็น “Thai ID” รองรับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ”
Thai ID (ไทย ไอดี) เป็นสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล สำหรับการยืนยันตัวตนเพื่อการทำธุรกรรมทางดิจิทัล ออกให้โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันสามารถใช้แสดงตนแทนบัตรประชาชนตัวจริงได้บางธุรกรรม
เช่น ใช้แสดงตนแทนบัตรประชาชนตัวจริง พร้อมบัตรโดยสารเพื่อขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยาน หรือสถานบันเทิงบางแห่งประกาศว่า ให้ใช้บัตรประชาชนดิจิทัลแสดงตนแทนบัตรประชาชนตัวจริงได้แล้ว
หรือจะเป็นการเข้าสู่ระบบอีไฟล์ลิ่ง (E-FILING) ยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ กรมสรรพากร จากเดิมต้องกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและรหัสผ่าน ก็ใช้แอปพลิเคชัน Thai ID สแกน QR Code ที่แสดงบนเว็บไซต์เพื่อเข้าสู่ระบบได้เลย
ปัจจุบัน แอปพลิเคชัน Thai ID มีผู้ดาวน์โหลดผ่าน App Store อันดับ 1 ด้านเครื่องมืออำนวยความสะดวก ขณะที่ Google Play พบว่ามีผู้ใช้มือถือแอนดรอยด์ดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 1 แสนราย
อย่างไรก็ตาม ในบางธุรกรรมที่ต้องใช้เครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ดอ่านข้อมูลจากบัตรประชาชน จำเป็นต้องแสดงบัตรประชาชนตัวจริง ไม่สามารถใช้บัตรประชาชนดิจิทัลแสดงข้อมูลได้
ได้แก่ การเปิดบัญชีธนาคาร รวมถึงการยืนยันตัวตนแบบ Check ID, การฝากส่งจดหมายและพัสดุผ่านไปรษณีย์ไทย, การออกบัตรผ่านแดนชั่วคราว (Border Pass) ที่สำนักงานออกหนังสือผ่านแดน เป็นต้น
การใช้งานบัตรประชาชนดิจิทัล (Digital ID) เป็นไปตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มาตรา 14 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา
โดยประชาชนสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน แทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้
แต่ปัญหาก็คือว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าบัตรประชาชนดิจิทัล จะสามารถใช้แสดงตนแทนบัตรประชาชนตัวจริงหรือไม่?
เมื่อวันก่อน มีคุณผู้อ่านท่านหนึ่งกล่าวกับผู้เขียนว่า ได้ทักแชตสอบถามสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า จะใช้แอปฯ Thai ID แสดงตนในวันเลือกตั้งได้หรือไม่ เพราะจะได้ใช้แอปฯ เวลาไปเลือกตั้ง
แต่กลับได้รับคำตอบว่า “แนะนำให้เอาบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วยนะคะ”
คุณผู้อ่านท่านนี้ถึงกับบ่นกับผู้เขียนว่า “ผมว่าจะลองใช้แอปฯ นี้เวลาไปเลือกตั้งสักหน่อย อดเลย”
แสดงว่าหน่วยงานอย่าง กกต. เองก็ตอบไม่ได้ว่า บัตรประชาชนดิจิทัล จะใช้เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิเลือกตั้งแทนบัตรประชาชนตัวจริงได้หรือไม่?
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะบัตรประชาชนดิจิทัลมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ห่างจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรไปเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น
เมื่อย้อนกลับไปที่ขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. จะพบว่า หลักฐานที่ใช้ในการเลือกตั้ง ได้แก่
1. บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
2. บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
โดยขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้งพบว่า หลังตรวจสอบรายชื่อที่หน้าคูหา รู้ลำดับที่แล้ว ยื่นบัตรประชาชนและลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถึงตอนนั้นจะรู้แล้วว่ามีเพียงแค่เราหรือมีใครมาสวมรอยใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
หลังจากนั้น รับบัตรเลือกตั้งพร้อมลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทำเครื่องหมาย แล้วพับบัตรเลือกตั้งก่อนหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้ง
ความไม่ชัดเจนก็คือ แม้การใช้บัตรประชาชนดิจิทัลมีกฎหมายรองรับ แต่กับการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมทั้งการเลือกตั้งรูปแบบอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะยอมรับเป็นหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้หรือไม่?
อยากให้ กกต. และกรมการปกครอง ช่วยหารือและชี้แจงให้ชัดเจนว่า บัตรประชาชนดิจิทัล สามารถใช้แสดงตนในวันลงคะแนนเลือกตั้งได้หรือไม่ จะได้เป็นประโยชน์กับประชาชนจำนวนมากที่ดาวน์โหลดแอปฯ เอาไว้แล้ว
ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดคำถามว่า “เราจะมีแอปฯ บัตรประชาชนดิจิทัลไว้ทำไม?”