กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566 แอปพลิเคชัน TrueMoney มีการเปลี่ยนแปลงสองอย่าง คือ บัตร We Card เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น TrueMoney Mastercard และเปิดรองรับการผูกบัตรกับบริการแตะจ่ายผ่าน Google Pay
นับเป็นผู้ให้บริการบัตรชำระเงินรายที่ 3 ในไทย ที่โดดเข้าสมรภูมิบริการแตะจ่ายผ่าน Google Wallet ต่อจากบัตรเครดิต VISA และ MasterCard ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC
ที่แตกต่างจาก 2 ค่ายแรก เพราะเป็น บัตรพรีเพด (Prepaid Card) เจ้าแรกในไทย ที่ผูกกับบัญชี ทรูมันนี่ วอลเล็ต ซึ่งทุกคนสามารถสมัครและใช้บริการได้ แตกต่างจากผู้ให้บริการบัตรสองค่ายแรก ที่ใช้ได้เฉพาะบัตรเครดิตเท่านั้น
Google Wallet หรือชื่อเดิมคือ Google Pay เปิดให้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ที่มีฟังก์ชัน NFC ติดอยู่ในตัวเครื่อง
ผู้ใช้งานเพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Google Wallet จาก Google Play Store แล้วทำการเพิ่ม “บัตรสำหรับชำระเงิน” เช่น บัตรเครดิต โดยกรอกเลขที่บัตร 16 หลัก เดือน/ปีที่หมดอายุบัตร และรหัส CVV/CVC 3 หลัก
จากนั้นให้อ่านข้อกำหนดของผู้ออกบัตร กด “ยอมรับและดำเนินการต่อ” รอรับรหัส OTP 6 หลักผ่าน SMS แล้วกรอกลงไป ระบบจะเพิ่มบัตรให้ และจะแสดงหน้าบัตรสำหรับชำระเงิน
วิธีการใช้งานชำระเงินที่ร้านค้า ให้ปลดล็อกโทรศัพท์มือถือ เปิดแอปฯ Google Wallet แล้วนำโทรศัพท์มือถือแตะที่เครื่อง EDC ที่รองรับระบบ Contactless ระบบจะขึ้นเครื่องหมายถูก (/) ที่หน้าจอพร้อมมีเสียงแจ้งเตือนออกมา
โดยการใช้จ่ายผ่าน Google Wallet มีความปลอดภัย เพราะระบบจะแชร์หมายเลขบัญชีเสมือน (VAN) แก่ผู้ขายแทนหมายเลขบัญชีจริง เมื่อชำระเงินแบบไม่ต้องสัมผัส สังเกตได้จากเซลสลิปที่ได้รับ หมายเลข 4 ตัวท้ายจะต่างกัน
สรุปง่ายๆ นำโทรศัพท์มือถือปลดล็อกหน้าจอ เปิดแอปฯ Google Wallet แล้วแตะจ่ายที่เครื่อง EDC แทนการสอดบัตรหรือรูดบัตรเครดิต ข้อดีที่ชัดเจนก็คือ ไม่ต้องควักกระเป๋าสตางค์เพื่อหยิบบัตรขึ้นมาอีกต่อไป
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ Google Wallet กับอุปกรณ์พกพาที่รองรับ เช่น นาฬิกาสมาร์ทวอตซ์ ระบบปฏิบัติการ Wear OS เวอร์ชัน 2.0 ขึ้นไปที่รองรับ NFC หากเพิ่มบัตรลงในนาฬิกาแล้ว ก็ไม่ต้องใช้โทรศัพท์ในการชำระเงินอีก
สำหรับบัตร TrueMoney Mastercard หรือชื่อเดิมคือบัตร We Card เป็นบัตรเสมือน (Virtual Card) แบบไม่มีบัตรพลาสติก ใช้สำหรับช้อปปิ้งออนไลน์ หรือผูกกับแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Shopee, Grab, LINEMAN ฯลฯ
.
ลูกค้าที่ใช้งานบัญชีทรูมันนี่ วอลเล็ต สามารถสมัครได้ฟรี โดยเข้าไปที่เมนู “บัตร True MasterCard” เลือก “สร้างบัตร Virtual Mastercard” แล้วกรอกชื่อ นามสกุลเป็นภาษาอังกฤษ ก็จะได้บัตรพร้อมใช้งาน
บัตรนี้ออกโดย ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต ถือเป็นบัตรมาสเตอร์การ์ดใบเดียวที่ทีทีบีมีอยู่ (ก่อนหน้านี้บัตร ShopeePay Mastercard เพิ่งจะยกเลิกให้บริการไปเมื่อปีที่แล้ว)
ตัวบัตรจะผูกกับบัญชีทรูมันนี่ วอลเล็ต ต้องทำการเติมเงินผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ช่องทางธนาคาร ตู้เติมเงิน ฯลฯ ก่อนใช้งาน ซึ่งการดูข้อมูลบัตรจำเป็นต้องมีเงินในวอลเล็ตขั้นต่ำ 40 บาท จึงจะสามารถดูข้อมูลได้
ส่วนอีกวิธีหนึ่งสำหรับลูกค้าทรู ที่มีบัตรพลาสติกซึ่งเรียกว่า True Mastercard แบ่งออกเป็น 5 สี ตามประเภทของกลุ่มลูกค้า สามารถนำข้อมูลบัตรไปผูกกับบริการแตะจ่ายผ่าน Google Pay และไม่จำกัดเงินในวอลเล็ตขั้นต่ำอีกด้วย
เมื่อผูกบัตรกับบริการแตะจ่ายผ่าน Google Pay ถ้าเป็นบัตร TrueMoney Mastercard หน้าบัตรจะเป็นสีส้ม ส่วนบัตร True Mastercard จะเป็นสีตามประเภทที่ลูกค้าได้รับ ตั้งแต่ White, Green, Blue, Red และสูงสุด Black Card
สิ่งหนึ่งที่อาจคาดไม่ถึง หลังบริการแตะจ่ายผ่าน Google Wallet เปิดให้ลูกค้า TrueMoney Mastercard สามารถใช้งานได้ก็คือ “ฐานลูกค้า” ที่มากกว่าลูกค้าบัตรเครดิตที่รองรับทั้งสองค่าย รวมกันกว่า 2-3 เท่าตัว
.
ปัจจุบัน ทรูมันนี่ วอลเล็ต มีฐานลูกค้ามากกว่า 27 ล้านราย ซึ่งปัจจุบันเปิดใช้งานได้ทุกเครือข่าย แต่สำหรับลูกค้าทรูมูฟ เอช ที่ปัจจุบันมีอยู่ 33.8 ล้านเลขหมาย จะได้รับคะแนนทรูพอยต์เมื่อใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่ร่วมรายการ
สมรภูมิอี-มันนี่ ขับเคี่ยวกันระหว่างทรูมันนี่ กับแอปฯ “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เติบโตแบบก้าวกระโดดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เช่น โครงการชิมช้อปใช้ เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง ฯลฯ
กระทั่งเดือนธันวาคม 2565 ได้เปิดตัวซูเปอร์วอลเล็ตที่ชื่อว่า “เป๋าตังเปย์” แยกออกมาจาก G-Wallet ที่ใช้กับโครงการรัฐ พร้อมกับแจกบัตร Play ซึ่งเป็นบัตรวีซ่าพรีเพด ใช้ได้กับเครื่อง EDC และขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ
แม้ว่าตัวเลขผู้ใช้งานทรูมันนี่ วอลเล็ต ซึ่งมีอยู่ราว 27 ล้านราย จะเป็นรองแอปฯ เป๋าตัง ที่มีอยู่ราว 40 ล้านราย แต่เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระ จำนวนผู้ใช้งานอาจลดลง ต้องพัฒนาบริการใหม่ๆ เข้าไปในแพลตฟอร์ม
จุดแข็งของทรูมันนี่ วอลเล็ต นอกจากจะเป็นที่คุ้นเคยแก่ผู้บริโภค ด้วยสารพัดบริการเทียบเท่าแอปฯ ธนาคารแล้ว ยังมีจุดรับชำระครอบคลุมร้านค้าชั้นนำ โดยเฉพาะร้านเซเว่นอีเลฟเว่น กว่า 13,000 สาขาทั่วประเทศ
การที่บัตร TrueMoney Mastercard ใช้งาน Google Pay ได้ แม้จะมีผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่มีบัญชีทรูมันนี่ วอลเล็ต กับกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่มีฟังก์ชัน NFC แต่ก็เป็นจุดที่น่าสนใจยิ่ง
.
เพราะการเข้ามาของ Google Wallet นั้น กูเกิล ประเทศไทย เห็นว่า คนไทยหลายล้านคนนิยมชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ คาดว่าจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (GTV) สูงถึง 1.61 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568
Google Wallet ชูจุดเด่นตรงที่ผู้ใช้ในประเทศไทย สามารถนำโทรศัพท์มือถือแตะที่เครื่อง EDC เพื่อจ่ายเงินในร้านค้าได้อย่างง่ายดาย เมื่อเทียบกับการสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแอปฯ ธนาคาร ที่ใช้เวลานานกว่า
จึงเหมาะสำหรับคนที่ต้องการความรวดเร็วในการชำระเงิน ประเภทคนที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ ใช้กับร้านกาแฟ ร้านฟาสต์ฟู้ด ร้านสะดวกซื้อ ส่วนคนที่ถนัดสแกนจ่าย คือต้องการความละเอียดรอบคอบ แล้วแต่ใครจะสะดวกใช้แบบไหนมากกว่า
นอกจากนี้ สามารถเพิ่มบัตรรูปแบบอื่นลงใน Google Wallet ได้แก่ บัตรสะสมคะแนนจากร้านค้า บัตรโดยสารเครื่องบิน (Boarding Pass) ตั๋วกิจกรรม ฯลฯ โดยสังเกตปุ่ม “เพิ่มลงใน Google Wallet” ในเว็บไซต์หรือแอปฯ ที่รองรับ
เปรียบได้กับ “กระเป๋าสตางค์” บนโทรศัพท์มือถือ เมื่อรวมกับแอปฯ ธนาคาร และแอปฯ เอกสารทางราชการ เช่น บัตรประชาชนดิจิทัล D.DOPA หรือใบขับขี่ดิจิทัล DLT QR Licence ก็แทบจะแทนที่กระเป๋าสตางค์จริงเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของ Google Wallet ย่อมแตกต่างจาก Samsung Pay ที่ม้วนเสื่อกลับบ้านไปเมื่อเดือนธันวาคม 2564 เพราะไม่ได้จำกัดเพียงแค่ลูกค้าบัตรเครดิต และไม่จำกัดเพียงแค่สมาร์ทโฟนซัมซุงบางรุ่นที่มี NFC
ปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รองรับฟังก์ชัน NFC มีหลายรุ่นหลายยี่ห้อ แม้จะไม่ใช่รุ่นที่มีราคาถูก แต่ก็มีหลายรุ่นราคาไม่ถึง 10,000 บาท เข้าถึงง่ายกว่าสมัยก่อนที่มีเฉพาะรุ่นราคาสูง
การเปิดกว้างผู้ใช้งาน Google Wallet ในไทย มาถึงบัตรพรีเพดการ์ดที่ทุกคนสมัครได้ เชื่อว่าคงไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ เพราะตอนนี้เริ่มเป็นที่กล่าวถึงแบบปากต่อปากในลักษณะใช้แล้วชอบแล้วบอกต่อ
โดยเฉพาะคนที่ใช้เทคโนโลยีทางการเงิน ก่อนหน้านี้ต้องสมัครบัตรจากผู้ให้บริการต่างประเทศ เสียค่าธรรมเนียมต่อธุรกรรมจำนวนมากเพื่อให้ได้บัตรลงใน Apple Pay หรือ Google Wallet แถมเงินทองรั่วไหลไปยังต่างประเทศทั้งหมด
เมื่อมีบัตร TrueMoney Mastercard สามารถใช้ Google Wallet ได้ ถือเป็นจุดเด่นของทรูมันนี่ วอลเล็ต ที่ผู้ให้บริการอี-วอลเลตเจ้าอื่นไม่มีในเวลานี้ และเริ่มมีไวรัลแตะจ่ายผ่านเครื่อง EDC ให้เห็นกันบ้างแล้ว
หากได้รับความนิยมพอๆ กับการสแกนจ่ายในปัจจุบัน เราอาจจะได้เห็นผู้ให้บริการรายอื่น โดดเข้าสมรภูมิบริการแตะจ่ายผ่าน Google Wallet โดยเฉพาะสถาบันการเงินชั้นนำตามมาก็เป็นได้
TIP :
- ผลการทดสอบใช้ได้ดีไม่มีปัญหากับเครื่อง EDC ที่ Self Checkout ของ Gourmet Market, BIG C และ Big C Mini รวมทั้งที่ Decathlon ส่วนร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ใช้ได้กับเครื่อง EDC สีเทาตามปกติ
- เครื่อง EDC ที่ Self Checkout ของ Tops และ Tops Food Hall ต้องแตะ 2 ครั้ง แนะนำให้จับมือถือค้างไว้กับเครื่อง EDC ก่อน ซึ่งจะขึ้นเครื่องหมายถูก 2 ครั้ง จนกว่าจะพิมพ์เซลล์สลิปออกมาค่อยเอามือถือออก
- ไม่สามารถใช้บัตร TrueMoney Mastercard ที่ผูกกับ Google Wallet กับเครื่อง EDC ของ Lotus’s และ Lotus’s go fresh ได้ เพราะแม้จะขึ้นเครื่องหมายถูก แต่ตัดบัตรไม่ผ่าน ทราบว่าเครื่องล็อกเฉพาะบัตร VISA เท่านั้น
- ถ้าจะใช้จ่ายที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น แนะนำให้ใช้ 7 App แทน เพราะไม่ต้องกดเลขสมาชิกออลล์เมมเบอร์ แต่ถ้าจะใช้ Google Wallet ให้กดเลขสมาชิกออลเมมเบอร์ก่อน แล้วแจ้งแคชเชียร์ว่า “จ่ายผ่านบัตรเครดิต”
- การดูข้อมูลบัตร TrueMoney Mastercard ต้องมีเงินในวอลเล็ตขั้นต่ำ 40 บาทก่อน ส่วนบัตรพลาสติก True Mastercard สามารถใช้ข้อมูลด้านหลังบัตรผูกกับ Google Wallet ได้เลย ไม่ต้องมีเงินในวอลเล็ตขั้นต่ำ
- ควรเก็บรักษาข้อมูลบัตร TrueMoney Mastercard รวมทั้งบัตรพลาสติก True Mastercard ได้แก่ เลขที่บัตร 16 หลัก เดือน/ปีที่หมดอายุบัตร และรหัส CVV/CVC ไว้เป็นความลับ อย่าเผยแพร่ให้กับบุคคลอื่น
- โทรศัพท์มือถือที่ต้องการใช้ Google Wallet ควรงดเว้นการใช้เคสมือถือที่มีบัตรพลาสติกแบบ Contactless ใส่อยู่ หรือควรเอาออกจากเคสมือถือก่อนการแตะจ่ายทุกครั้ง เพื่อไม่ให้กลายเป็นว่าเครื่อง EDC อ่านบัตรผิดใบ
- คนที่เติมเงินทรูวอลเล็ตผ่านธนาคาร ร้านค้า หรือตู้เติมเงิน หากใช้งานเป็นประจำ แนะนำให้เติมเงินลงตามจำนวนที่ต้องการใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคิดค่าธรรมเนียม กรณีเติมเงินเกินกว่าจำนวนครั้งที่กำหนด คือ 30 ครั้งต่อเดือน
- การเติมเงินทรูวอลเล็ต ที่เซเว่นอีเลฟเว่นและโลตัส ขั้นต่ำ 10 บาท สูงสุด 3,000 บาทต่อครั้ง ส่วนการเติมเงินทรูวอลเล็ต ผ่านตู้เติมเงินทรูมันนี่ที่ทรูช็อป และ MRT ขั้นต่ำ 1 บาท สูงสุด 20,000 บาทต่อครั้ง ฟรีค่าธรรมเนียม
(ข้อมูล ณ วันที่ 3 มีนาคม 2566)