xs
xsm
sm
md
lg

ดรามาจองตั๋วรถไฟ : ตามหาบัตร VIRTUAL CARD ฟรีใช้กันเถอะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ข่าวคราวที่การรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดให้ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วรถไฟผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน D-Ticket ต้องชำระเงินด้วยบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตเท่านั้น เรียกดรามาจากชาวเน็ตจำนวนมาก

ขณะที่สำนักข่าวชื่อดังบางแห่ง พาดหัวอินโฟกราฟิก “16 ก.พ. จองตั๋วรถไฟ ต้องใช้บัตรเดบิต-บัตรเครดิตเท่านั้น” ยิ่งเพิ่มความหัวร้อนให้แก่ชาวเน็ต เพราะเข้าใจว่าบังคับไปถึงการจองตั๋วรถไฟผ่านสถานีรถไฟตามปกติไปด้วย

ท้ายที่สุด ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ของกระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจและสังคม ต้องออกมาแปะโป้งอินโฟกราฟิกจากสำนักข่าวดังกล่าวว่า “ข่าวบิดเบือน” ถูกบันทึกเป็นเกียรติประวัติไปแล้วเรียบร้อย

สาเหตุที่การรถไฟฯ กำหนดให้การซื้อตั๋วรถไฟผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต เนื่องจากที่ผ่านมาการรถไฟฯ ให้ผู้โดยสารสามารถจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้สูงสุด 30 วัน

โดยมีตัวเลือกการชำระเงินอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ ชำระด้วยบัตรเดบิต บัตรเครดิต โดยใช้ Payment Gateway ของธนาคารกรุงไทย กับการออกรหัสเพื่อชำระเงินด้วยเงินสดได้ที่สถานีรถไฟ โดยรหัสชำระเงินมีอายุ 24 ชั่วโมง

ปรากฏว่ามีผู้สำรองที่นั่งผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ไม่นำรหัสการจองตั๋วมาชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดจำนวนมาก จนส่งผลให้ผู้โดยสารผู้อื่นขาดโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์การสำรองที่นั่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้

จึงปรับวิธีการชำระเงินผ่านระบบ D-Ticket โดยต้องชำระผ่านบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้โดยสารในการสำรองที่นั่ง และเป็นการกระจายโอกาสในการซื้อตั๋วโดยสารแก่ทุกคนอย่างทั่วถึง


ส่วนผู้โดยสารที่ต้องการชำระด้วยเงินสด สามารถเลือกซื้อตั๋วโดยสารหรือสำรองที่นั่ง ได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่ง หรือผ่านทางศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์สายด่วน 1690 ตลอด 24 ชั่วโมงตามปกติ
ส่วนสาเหตุที่ไม่มีการชำระผ่านคิวอาร์โค้ด ผ่านแอปฯ ธนาคาร แม้จะไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากการรถไฟฯ แต่อาจเป็นเพราะการยกเลิก หรือการคืนตั๋วที่ซื้อผ่านระบบ D-Ticket จะไม่มีการคืนเป็นเงินสด

โดยการยกเลิกหรือคืนตั๋วทางอินเทอร์เน็ต ทำได้ 2 วิธี คือ ผู้จองตั๋วทำการยกเลิกผ่านทางอินเทอร์เน็ต เมนู “ยกเลิกตั๋วโดยสาร” หรือผู้จองตั๋วนำตั๋วมาขอยกเลิกและคืนเงินที่สถานีรถไฟ ซึ่งจะโอนเงินผ่านบัตรที่ทำรายการ

อีกทั้งระบบ D-Ticket การรถไฟฯ ไม่ได้ทำเอง แต่ว่าจ้างบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้พัฒนาระบบอีกที ลงนามสัญญาเมื่อ 3 ปีก่อน ใช้งบประมาณ 920 ล้านบาท

เท่าที่ไปส่องคอมเมนต์จากเพจต่างๆ พบว่าที่คนส่วนใหญ่ไม่ใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต เห็นว่าควรจ่ายผ่านแอปฯ ธนาคารได้ คนส่วนใหญ่มีแอปฯ ธนาคารกันหมด หรือไม่ก็จองและชำระเงินผ่านร้านสะดวกซื้อ

ถ้าจะพัฒนาให้ชำระผ่านคิวอาร์โค้ดได้ คงต้องคุยกันว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะขั้นตอนไม่ได้มีเพียงแค่การซื้อตั๋วรถไฟแล้วจบเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงการเดินทาง และการยกเลิกหรือคืนตั๋วรถไฟ

แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าจะออกแบบกระบวนการอย่างไรให้รองรับธุรกรรมที่สลับซับซ้อนเหล่านี้ได้ เช่นเดียวกับการซื้อตั๋วรถไฟโดยใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต ที่สามารถทำรายการคืนเงินแก่ผู้ถือบัตรได้


คนที่ไม่มีบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตเลย ทำอย่างไรถึงจะจองตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตได้?
ทางเลือกหนึ่งที่เรานำเสนอไปหลายรอบแล้ว คือการใช้ บัตรเสมือน หรือเวอร์ชวลการ์ด (Virtual Card) ซึ่งสามารถนำไปซื้อของออนไลน์ได้ หรือผูกกับแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อใช้ตัดเงินอัตโนมัติได้

ปัจจุบันหลายธนาคารออกบัตรเวอร์ชวลเพื่อเป็นทางเลือกแก่ลูกค้า นอกเหนือจากบัตรพลาสติก ในที่นี้จะขอพูดถึงบัตรเวอร์ชวลการ์ดที่สมัครฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี อาทิ

1. บัตรเดบิต Krungthai Fun ธนาคารกรุงไทย เป็นบัตร MasterCard สมัครบัตรผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT เรียกดูข้อมูลบัตรได้ที่เมนู “บริการ” เลือก “Krungthai FUN”

สามารถระงับบัตรให้ไม่สามารถทำธุรกรรมผ่านบัตรได้ชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย แล้วเปิดบัตรเมื่อต้องการใช้ และสามารถตั้งวันปิดบัตรล่วงหน้า ก่อนวันบัตรหมดอายุได้ โดยแก้ไขหรือยกเลิกไดอย่างน้อย 1 วัน ก่อนวันที่กำหนดไว้

2. บัตรเดบิต ttb all free digital ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต เป็นบัตร VISA สำหรับลูกค้าบัญชี ttb all free เปิดบัญชีและสมัครบัตรผ่านแอปพลิเคชัน ttb touch ได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกบัตรพลาสติก

เวลาดูข้อมูลบัตร ให้เข้าไปที่เมนู “บัญชีของฉัน” กดแถบ “ข้อมูลบัญชี” เลือก “บัตรเดบิต” จะแสดงผลบัตรเดบิตออลล์ฟรี แบบดิจิทัล สามารถเปิด/ปิดการใช้งานบัตรเดบิตชั่วคราว กำหนดวงเงินและการใช้บัตรได้

3. บัตรเดบิตออนไลน์ LINE BK ธนาคารกสิกรไทย เป็นบัตร VISA สำหรับลูกค้าที่เปิดบัญชี LINE BK ในแอปพลิเคชันไลน์ (แยกออกจากระบบ K PLUS ต่างหาก แต่สามารถผูกบัญชีกสิกรไทยได้ 1 บัญชี)

สามารถเปิด/ปิดการใช้งานบัตรได้ที่เมนู “ใช้จ่ายผ่านบัตร” ตั้งค่าวงเงินบัตร หรือกรณีบัตรหายหรือถูกขโมยสามารถอายัดบัตรได้ด้วยตนเอง โดยกดที่เมนู “ยกเลิกบัตร” ด้านล่าง


นอกจากบัตรเวอร์ชวลในรูปแบบบัตรเดบิตแล้ว ยังมีในรูปแบบบัตรเติมเงิน (Prepaid Card) ที่ผูกกับแอปพลิเคชันเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ผู้ใช้สามารถเติมเงินเข้าไปในอี-วอลเล็ตเพื่อใช้จ่ายผ่านบัตรได้ อาทิ

1. บัตร TrueMoney We Card ในแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet เป็นบัตร MasterCard สมัครบัตรได้โดยเข้าไปที่ “บริการทั้งหมด” หัวข้อ “ช้อปปิ้งออนไลน์” เลือก “ทรูมันนี่ มาสเตอร์การ์ด”

สามารถเปิด/ปิดการใช้งานบัตรได้ที่เมนู “เปิดบัตร” ส่วนการดูข้อมูลบัตร ต้องเติมเงินเข้าวอลเล็ตอย่างน้อย 40 บาท ถึงจะแสดงข้อมูลบัตรได้ ส่วนบัตรพลาสติกปัจจุบันไม่มีบริการแล้ว

2. บัตร deeppocket VISA ในแอปพลิเคชัน Deep Pocket เป็นบัตร VISA สมัครบัตรแบบเวอร์ชวลได้ฟรี แต่ถ้าอยากได้บัตรพลาสติกด้วย จะมีค่าธรรมเนียมออกบัตรพลาสติก 199 บาทต่อบัตร

3. บัตร Wi Wallet VISA Virtual ในแอปพลิเคชัน Wi Wallet เป็นบัตร VISA สมัครบัตรแบบเวอร์ชวลได้ฟรี ส่วนการแสดงข้อมูลบัตร ต้องมียอดเงินคงเหลือในกระเป๋าเงินไว วอลเล็ท 50 บาทขึ้นไป เพื่อแสดงข้อมูลบัตร

สำหรับบัตรพลาสติก ปัจจุบันมีโปรโมชันออกบัตรค่าธรรมเนียม 1 บาท หรือสามารถสมัครบัตร บขส. Wi Wallet VISA ได้ฟรีผ่านออนไลน์ รอรับบัตรที่บ้าน แล้วนำมาผูกกับแอปพลิเคชัน Wi Wallet เพื่อใช้งานได้เช่นกัน

ส่วนบัตรเดบิตที่เป็นบัตรพลาสติก ที่สามารถนำมาซื้อตั๋วรถไฟ หรือใช้ช้อปออนไลน์ ปัจจุบันมีเพียงธนาคารเดียวที่ออกบัตรฟรี ได้แก่ บัตรเดบิตชิลดี ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คู่กับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ชิลดี ซีไอเอ็มบี ไทย

บัตรนี้ฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีตลอดชีพ ยกเว้นออกบัตรทดแทนมีค่าธรรมเนียม 100 บาท แต่ไม่มีเมนูจัดการบัตรเดบิตในแอปพลิเคชัน CIMB TH กรณีบัตรหายหรือต้องการอายัดบัตร ต้องโทร.ไปที่คอลเซ็นเตอร์เอาเอง

ส่วนบัตรพรีเพดที่เป็นบัตรพลาสติก พบว่า บัตรเพลย์การ์ด ในเป๋าตังเปย์เพิ่งจะหมดโปรโมชัน แต่ค่าธรรมเนียมออกบัตรเพียง 92 บาท (ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมออกบัตร 50 บาท ค่าจัดส่งบัตร 42 บาท) และไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งมีบัตรเดบิตอยู่ในมือ แต่มีจำนวนน้อยลง ก็สามารถนำบัตรที่มีอยู่ไปใช้ซื้อตั๋วรถไฟ หรือช้อปปิ้งออนไลน์ได้เช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องสมัครบัตรใบใหม่

เพียงแต่ว่าถ้าไม่ต้องการให้ปนกัน บัญชีเก็บเงินก็ส่วนเก็บเงิน บัญชีหรืออี-วอลเล็ตไว้ช้อปออนไลน์ก็ส่วนหนึ่ง โดยไม่ปะปนกัน การแยกบัญชีออกมาต่างหาก ช่วยลดความเสี่ยงต่อเงินส่วนใหญ่ในบัญชี ให้การทำธุรกรรมมั่นใจมากขึ้น

แต่ถึงกระนั้น เสียงเรียกร้องให้การรถไฟฯ ชำระเงินค่าจองซื้อตั๋วรถไฟผ่านแอปฯ ธนาคาร หรือคิวอาร์โค้ด ก็เป็นเสียงสะท้อนที่ควรรับฟังและให้ผู้รับจ้างทำระบบ D-Ticket นำไปพัฒนาอย่างยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น