กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ความพยายามในการพัฒนาระบบตั๋วร่วม ที่พัฒนาจากระบบบัตรแมงมุมในอดีต มาสู่ระบบ EMV หรือ Europay, MasterCard and VISA มาใช้กับระบบขนส่งมวลชน ดูเหมือนว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด
เมื่อมีหนึ่งในผู้ประกอบการอย่าง กลุ่มไทยสมายล์บัส ที่มีเส้นทางเดินรถเมล์เอกชน 122 เส้นทาง และเรือไฟฟ้าไทยสมายล์โบ้ท (ไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่) ได้พัฒนาระบบบัตรโดยสารที่เป็น Ecosystem ของตัวเอง
โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 กลุ่มไทยสมายล์บัส ได้จำหน่ายบัตรโดยสารที่ชื่อว่า “บัตร HOP” ซึ่งออกโดย บริษัท ดิไวน์ คอนเน็ค จำกัด ทดแทนบัตร HOP ที่ออกโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในราคาใบละ 20 บาท
พร้อมกับทำโปรโมชันค่าโดยสาร “เดลิ แมกซ์ แฟร์” (Daily Max Fare) เหมาจ่าย 40 บาทต่อวัน เมื่อเดินทางด้วยรถเมล์ไทยสมายล์บัส และเหมาจ่าย 50 บาท เมื่อเดินทางด้วยรถเมล์ไทยสมายล์บัส และเรือไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่
ส่วนการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรพรีเพดการ์ด ที่เคยนำเครื่อง EDC มาให้บริการบางเส้นทาง ขณะนี้ไม่มีอีกแล้ว เช่นเดียวกับเรือไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ บางลำได้เปลี่ยนจากเครื่อง EDC มาเป็นเครื่อง E60 แทน
สอดคล้องกับสื่อประชาสัมพันธ์ของธนาคารกรุงไทย ที่พบว่าการเปิดตัวบัตรพรีเพดการ์ดที่ชื่อว่า Play Card ซึ่งผูกกับบัญชีเป๋าตังเปย์ พบว่าเมื่อช่วงก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา ได้ตัดข้อความ Thai Smile Bus และ Mine Smart Ferry ออก
แม้คนที่ถือบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด จะได้รับผลกระทบไปบ้าง แต่ก็ยังสามารถใช้บัตรจ่ายแทนเงินสดได้กับเครื่อง EDC ของรถเมล์ ขสมก. ที่มีอยู่กว่า 3,000 คัน รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง
ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง แม้จะรับเฉพาะบัตรเครดิตในประเทศไทยทุกธนาคาร แต่บัตรเดบิตรับเฉพาะธนาคารกรุงไทย ส่วนบัตร Play Card ก็สามารถใช้ได้ เหมาะกับคนที่ไม่พกบัตรเดบิต เพราะฟรีค่าธรรมเนียมรายปี
ก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้นำบัตร EMV มาใช้พัฒนาระบบตั๋วร่วม ร่วมกับผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนแต่ละราย เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด
กระทั่งต้นปี 2565 ได้เริ่มนำระบบ EMV มาใช้กับระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง ก่อนที่จะนำมาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีแดงในช่วงกลางปี เท่ากับว่าประชาชนมีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต สามารถใช้กับรถเมล์และรถไฟฟ้าได้แล้ว
ที่ผ่านมาในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการจ่ายค่าโดยสารผ่านบัตรเดบิต (เปิดบัญชีแยกต่างหาก) แทนเงินสด ซึ่งได้ซื้อเคสใส่บัตรที่ติดกับโทรศัพท์แบบ MagSafe เพื่อความสะดวกในการหยิบบัตร
หลังจากที่ใช้บัตรเดบิตกับรถเมล์ ขสมก. รถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ทำให้ลดการพกบัตรโดยสารลง จากเดิมหากเดินทางทุกระบบ จะต้องพกบัตรมากถึง 4-5 ใบ ก็ลดเหลือ 2-3 ใบเท่านั้น
ยังคงเหลือบัตรแรบบิท ที่ใช้วิธีผูกกับบัตรเครดิต/บัตรเดบิต ผ่านบริการ Rabbit LINEPay โดยไม่ต้องเติมเงิน และบัตรแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แต่ก็รู้สึกหนักใจหากจะต้องพกบัตร HOP ของกลุ่มไทยสมายล์บัสให้หนักกระเป๋าสตางค์อีก
ที่น่าแปลกก็คือ ถึงบัดนี้ยังมีเฉพาะธนาคารกรุงไทย ที่ใช้บัตรเดบิตแตะจ่ายที่รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วงได้ ส่วนธนาคารบางแห่งที่มีบัตรเดบิตร่วมกับบัตรแรบบิท (ซึ่งเป็นบัตรเดบิตพ่วงประกัน) ยังไม่สามารถใช้ได้
ไม่อย่างนั้นก็จะได้พกบัตรเพียงใบเดียว แล้วใช้ฟังก์ชันแรบบิทเมื่อเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส ใช้ฟังก์ชัน EMV เมื่อเดินทางด้วยรถเมล์ ขสมก. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และสายสีแดง
เพียงแต่ว่า ในปัจจุบันระบบ EMV ยังไม่มีการพัฒนาให้เป็นระบบตั๋วร่วม โดยใช้ค่าโดยสารที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจ่ายค่าโดยสารแรกเข้า ซึ่งจะทำให้เราจ่ายค่ารถเมล์และรถไฟฟ้าถูกลงกว่าเดิม
ตอนนี้ทราบมาว่าเรื่องยังค้างเติ่งอยู่ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการตั๋วร่วมอยู่เลย ถ้าทำไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ ก็ไม่รู้จะเป็นยังไง?
เพราะถึงจะมีกฎหมายออกมา แต่ก็ต้องทำโครงสร้างค่าโดยสารร่วม ต้องจัดตั้งเคลียริ่งเฮ้าส์ (Clearing House) สำหรับบริหารจัดการรายได้ให้กับผู้ให้บริการแต่ละรายอีก พูดไปก็ปวดหัวเพราะยังไม่เคยมีอะไรเป็นรูปเป็นร่างสักที
อีกด้านหนึ่ง คือการส่งเสริมการใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต แตะจ่ายค่าโดยสารแทนเงินสด โชคร้ายที่ผ่านมา ผู้ให้บริการบัตรเครดิตหลายราย จะไม่ให้คะแนนสะสมหรือเงินคืน กับรายการใช้จ่ายเกี่ยวกับขนส่งสาธารณะทุกประเภท
เช่น บัตรเครดิตกรุงศรี บัตรเครดิตเคทีซี และบัตรเครดิตทีทีบี ยกเว้นการให้คะแนนสะสมหรือเครดิตเงินคืน ยอดใช้จ่ายสำหรับหมวดขนส่งสาธารณะ ได้แก่ MCC 4111 MCC 4112 MCC 4131 และ MCC 4784 อธิบายดังนี้ คือ
MCC 4111 หมวดการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารระหว่างตัวเมืองและชานเมือง รวมถึง เรือข้ามฟาก
MCC 4112 หมวดผู้โดยสารทางรถไฟ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟ ร.ฟ.ท. จำกัด
MCC 4131 หมวดการเดินรถประจำทาง เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และบริษัท ขนส่ง จำกัด
MCC 4784 หมวดค่าธรรมเนียมผ่านทาง เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผ่านอุปกรณ์ Easy Pass และ M Pass (RFID)
แต่ก็มีสถาบันการเงินบางแห่ง ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือบัตร อย่างธนาคารกรุงไทย ก็มี บัตรเดบิตทรานซิท (TRANXIT) ค่าธรรมเนียม 100 บาทต่อปี ถูกกว่าบัตรเดบิตธรรมดา แต่คุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือพิการ เมื่อแตะบัตรกับระบบขนส่งมวลชน รถเมล์ รถไฟฟ้า และคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุทั่วไป ตามที่ได้เขียนถึงไปก่อนหน้านี้
ล่าสุดพบว่ามีผู้ให้บริการบัตรเครดิตหลายราย จัดโปรโมชันรับเครดิตเงินคืน เมื่อแตะบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าโดยสารที่ประตูอัตโนมัติ (Tap and Go) สถานีรถไฟฟ้า MRT หรือบางธนาคารก็มีรถไฟฟ้าสายสีแดงร่วมรายการด้วย จากปกติที่จะมีโปรโมชันเฉพาะเติมเงินหรือออกบัตรโดยสารเท่านั้น เช่น
บัตรเครดิตกรุงศรี รับเครดิตเงินคืน 10% เมื่อแตะจ่ายที่สถานีรถไฟฟ้า MRT และแลกพอยต์ภายในเดือนที่ทำรายการ ทุก 300 พอยต์ รับเครดิตเงินคืน 30 บาท และทุก 1,000 พอยต์ รับเครดิตเงินคืน 100 บาท โดยกดรับสิทธิ์ผ่านแอปฯ Uchoose ค้นหาคำในหน้าโปรโมชั่นว่า MRT แตะเพื่อแลกภายในเดือนที่ทำรายการ ถึง 31 ธันวาคม 2566
บัตรเครดิตทีทีบี เมื่อเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และสายสีแดง แตะจ่าย EMV Contactless ด้วยบัตรเครดิตทีทีบี สะสมครบทุก 300 บาทต่อเดือน รับเครดิตเงินคืน 5% สูงสุด 60 บาทต่อบัญชีบัตรหลักต่อเดือน โดยต้องลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านแอปฯ ttb touch หรือ SMS เพื่อรับสิทธิ์ก่อน ถึง 31 กรกฎาคม 2566
บัตรเครดิตซิตี้ รับเครดิตเงินคืน สูงสุด 100% เมื่อมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ที่รถไฟฟ้า MRT ทุกสถานี ตั้งแต่ 15 บาทขึ้นไปต่อเที่ยว สำหรับแตะบัตรฯ ชำระค่าโดยสารที่ประตูอัตโนมัติ โดยใช้คะแนนสะสมซิตี้ รีวอร์ดสำหรับยอดใช้จ่าย โดยเมื่อแตะบัตรแล้วจะมี SMS จากธนาคาร ให้กดลิงก์เพื่อทำรายการ ถึง 31 ธันวาคม 2566
บัตรเครดิตซิตี้ แคชแบ็ก รับเครดิตเงินคืน 10% เมื่อแตะบัตรฯ เพื่อชำระค่าโดยสารที่ประตูอัตโนมัติ (Tap and Go) ไม่ต้องใช้คะแนนสะสม ไม่ต้องลงทะเบียน จำกัดเครดิตเงินคืนสูงสุด 500 บาท ถึง 31 ธันวาคม 2566
อย่างไรก็ตาม โปรโมชันดังกล่าวมีเงื่อนไขตามที่ผู้ให้บริการกำหนด และบัตรเครดิตบางประเภทไม่ร่วมรายการ ควรศึกษาเงื่อนไขและรายละเอียดได้ที่ธนาคารผู้ออกบัตรก่อนใช้สิทธิตามโปรโมชัน
เรื่องของการใช้ระบบ EMV ในระบบขนส่งมวลชน และพัฒนาระบบตั๋วร่วมในสเตปต่อไป ยังคงเป็นเรื่องที่คนกรุงเทพฯ ที่เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะยังคงต้องรอคอยกันต่อไป เมื่อเจ้าภาพอย่างกระทรวงคมนาคมยังคงล่าช้าอยู่อย่างนี้
ทิ้งท้าย มีเรื่องเล่าให้ฟัง วันก่อนเดินทางกลับจากต่างจังหวัด ขึ้นเครื่องบินมาลงที่สนามบินดอนเมือง เดินเท้าไปขึ้นรถเมล์สาย A1 จากสนามบินดอนเมือง ไปลงที่สวนจตุจักรเพื่อต่อรถไฟฟ้า ก็ใช้บัตรเดบิตแตะจ่ายค่ารถเมล์ตามปกติ
ปรากฏว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติยืนอยู่ด้านหลังเห็นเข้า ถามว่าบัตรอะไร ก็โชว์หน้าบัตรมีโลโก้ MasterCard จากนั้นนักท่องเที่ยวคนดังกล่าวก็เอาบัตร MasterCard ของตัวเองแตะจ่ายเป็นอันสำเร็จ
ความจริงถ้าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จับมือกับเครือข่ายรับบัตร และผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนต่างๆ เช่น รถเมล์ ขสมก. และรถไฟฟ้า ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้บัตรแตะจ่ายค่าโดยสารได้ก็น่าจะดี
อย่างน้อยแม้จะสู้สิงคโปร์ไม่ได้ แต่มีไว้เป็นทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวก็ยังดี เพียงแต่ว่าทุกวันนี้ระบบขนส่งมวลชนในไทยเป็นแบบต่างคนต่างทำ ถ้าจะให้เป็นหนึ่งเดียวกันก็คงจะยาก