กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดตัวอี-วอลเล็ตที่ชื่อว่า “เป๋าตังเปย์” (Paotang Pay) ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่มีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านราย
เป๋าตังเปย์ เป็นกระเป๋าเงิน พร้อมเพย์ อี-วอลเล็ต ขึ้นต้นด้วย 006-66xxxxxx-xxxx แยกจาก G-Wallet ขึ้นต้นด้วย 006-99xxxxxx-xxxx ที่ใช้สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ
สามารถเติมเงินและใช้จ่ายกับร้านค้าที่รับสแกนจ่ายพร้อมเพย์ แต่ร้านค้าที่ใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” จะพิเศษกว่า เพราะมีคูปองส่วนลด เมื่อสแกนจ่ายไปแล้วจะแสดงคำว่า “มี ... คูปองที่ใช้ได้” กดเลือกคูปองแล้วใช้ได้เลย
ที่แตกต่างจาก G-Wallet อีกอย่างหนึ่ง คือ บัตรพรีเพดการ์ดที่ชื่อว่า “บัตร Play” ซึ่งเป็นบัตร VISA Prepaid สามารถใช้จ่ายแทนเงินสดได้ที่ร้านค้าที่มีเครื่องรูดบัตร EDC ร้านค้าออนไลน์ ผูกกับเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
รวมทั้งใช้แตะจ่ายกับระบบขนส่งมวลชน น่าเสียดายที่รถเมล์ใช้ได้กับ ขสมก. เพียงอย่างเดียว เพราะอีกค่ายหนึ่งกำลังจะเลิกใช้ หันไปพัฒนาระบบ E-Ticket ของตัวเอง แต่รถไฟฟ้าใช้ได้ทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และสายสีแดง
ยกเว้นแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ยังต้องใช้เหรียญโดยสาร หรือบัตรโดยสารเหมือนเดิม ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส สามารถใช้วิธีนำบัตรไปผูกกับบัญชี Rabbit LINE Pay แล้วผูกกับบัตรแรบบิทเพื่อแตะเข้า-ออกรถไฟฟ้าบีทีเอสโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ สำหรับคนใช้รถ สามารถใช้ได้กับทางด่วนเฉลิมมหานคร ศรีรัช อุดรรัถยา บางพลี-สุขสวัสดิ์ ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก และดอนเมืองโทลล์เวย์ รวมทั้งนำบัตรไปผูกกับบัญชี M-FLOW เพื่อใช้กับมอเตอร์เวย์ที่ร่วมรายการ
ขอย้ำว่าบัตร Play ไม่ใช่บัตรเดบิต จึงไม่สามารถกดเงินสดได้ แต่เงินที่อยู่ในเป๋าตังเปย์ สามารถโอนเข้าบัญชีธนาคารได้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เช่นเดียวกับแอปพลิเคชันธนาคาร
จากประสบการณ์ที่ใช้เป๋าตังเปย์นับตั้งแต่เปิดตัว พบว่าหลังจากที่โครงการคนละครึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ร้านค้าหลายแห่ง เลิกใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน จึงทำให้หาร้านที่รับคูปองส่วนลดได้ยาก
ไม่นับรวมพวกข่าวปล่อยเพื่อหวังผลทางการเมือง ทำนองว่ากรมสรรพากรจะรีดภาษีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งย้อนหลัง ทั้งที่กรมสรรพากรยังมีเครื่องมืออื่นอีกเยอะแยะ และการเสียภาษีถือเป็นหน้าที่หากมีรายได้ถึงเกณฑ์
ทุกวันนี้เห็นสื่อยักษ์ใหญ่ประโคมข่าว “แห่งดรับคนละครึ่ง ถูกรัฐฯ เรียกเก็บภาษี” ยิ่งทำให้แอปพลิเคชันถุงเงิน ถูกบางร้านค้าเมินเฉยไปโดยปริยาย ซึ่งเห็นแล้วก็ได้แต่เศร้าใจ เป็นการทำลายสังคมไร้เงินสดไปโดยปริยาย
อีกด้านหนึ่ง เมื่อนำไปใช้ในตลาดนัดกลางคืนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบว่าส่วนใหญ่จะแปะคิวอาร์โค้ดจากแอปฯ K PLUS และ K SHOP ของธนาคารกสิกรไทย รองลงมาคือ SCB EASY และแม่มณี ธนาคารไทยพาณิชย์
หนำซ้ำ แม้คิวอาร์โค้ดบางร้านค้าจะมีโลโก้ธนาคารกรุงไทย แต่ก็เป็นคิวอาร์โค้ดที่สร้างมาจากรหัสพร้อมเพย์ที่ผูกกับ “โทรศัพท์มือถือ” หรือ “เลขที่บัตรประชาชน” ทำให้ใช้คูปองส่วนลดจากเป๋าตังค์เปย์ไม่ได้ ต้องจ่ายในราคาเต็ม
คูปองส่วนลดจากเป๋าตังเปย์ สามารถใช้ได้เฉพาะคิวอาร์โค้ด ที่สร้างจากแอปพลิเคชันถุงเงิน หรือรหัสอี-วอลเล็ตของร้านค้าถุงเงินเท่านั้น เพราะฉะนั้นร้านค้าจะต้องสมัคร หรือใช้งานแอปฯ ถุงเงินให้ลูกค้าสแกนจ่าย
ที่ผ่านมาแม้ธนาคารกรุงไทยจะโปรโมตเป๋าตังเปย์กับฝั่งผู้ใช้งานให้เป็นที่รู้จักแล้ว แต่สำหรับฝั่งร้านค้ายังสื่อสารกันน้อยมาก แม้แต่สื่อประชาสัมพันธ์อย่างสติกเกอร์ติดกระจกก็ยังไม่มี ทำให้ลูกค้าลังเลที่จะใช้งาน
แม้ก่อนหน้านี้ บริษัทลูกอย่าง “อินฟินิธัส บาย กรุงไทย” จะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทำระบบพอยต์เพย์ เช่น MAAI by KTC ของบัตรเครดิตเคทีซี, AIS POINTS ของเอไอเอส และบัตรสมาชิกบางจาก แต่ก็ใช้ได้กับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลจากการที่กรุงไทยลงสนามอี-วอลเล็ตด้วยเป๋าตังเปย์ ทำให้บางธนาคารเริ่มมีโปรโมชันสำหรับร้านค้าที่รับเงินผ่านคิวอาร์โค้ด เพื่อรักษาผู้ใช้งานกันบ้างแล้ว
หากธนาคารกรุงไทยเข้าหาร้านค้า พร้อมกับทำสื่อประชาสัมพันธ์ เหมือนกับโครงการคนละครึ่งที่ทำสติกเกอร์แจกสำหรับติดหน้าร้าน และจัดโปรโมชันจูงใจให้ร้านค้ารับเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ฝั่งผู้ใช้งานและร้านค้าจะได้ประโยชน์
อย่างต่อมา บัตร Play ที่ผูกกับบัญชีเป๋าตังเปย์ ธนาคารกรุงไทยทยอยจัดส่งไปตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2565 สำหรับลูกค้าที่สมัครบัตรในช่วงเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
โดยปกติแล้วจะมีค่าธรรมเนียมออกบัตร 50 บาท ค่าจัดส่งบัตรทางไปรษณีย์ 42 บาท รวมทั้งหมด 92 บาท ฟรีค่าธรรมเนียมรายปี บัตรมีอายุการใช้งาน 5 ปี แต่ช่วงแนะนำเปิดให้สมัครฟรี ส่งบัตรฟรี สำหรับลูกค้า 15,000 รายแรก
ณ เดือนมกราคม 2566 ยังคงเปิดให้ลูกค้าที่ลงทะเบียนเป๋าตังเปย์สมัครบัตร Play ได้ฟรี คนที่ยังไม่เคยสมัคร เข้าไปที่เมนู “บัตร Play” เลือก “สมัครบัตรใหม่” แล้วทำตามขั้นตอน บัตรจะส่งถึงบ้านผ่านไปรษณีย์ไทย
หลังจากบัตรส่งมาแล้ว ให้ทำการเปิดบัตรตามขั้นตอนที่ใบปลิวแนบไว้ ได้แก่ ตั้งรหัสบัตร 6 หลัก และสมัครบริการ 3-D Secure โดยการรับรหัส OTP ผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้สำหรับช้อปออนไลน์
ที่น่าเซอร์ไพร์สก็คือ สามารถนำบัตร Play ไปใช้จ่ายที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้ จากปกติรับเฉพาะบัตรเครดิตเท่านั้น บัตรเดบิตไม่รับ เพียงแจ้งพนักงานว่าจ่ายด้วยบัตรเครดิต แล้วเอาบัตร Play ไปแตะที่เครื่อง EDC
เมื่อลูกค้าสามารถสมัครบัตร Play ได้สูงสุดคนละ 10 บัตร จึงเห็นหลายคนสมัครบัตรมากกว่า 1 ใบ บ้างก็เอาไว้ใช้เป็นบัตรสำรอง บ้างก็เอาไปให้พ่อแม่ ลูกหลาน แฟน หรือผู้สูงอายุนำไปใช้
ที่เห็นแล้วชื่นใจ ขออนุญาตเล่าให้ฟัง เห็นโพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง เล่าว่า ประสบปัญหาผู้สูงอายุที่บ้านกดเงินจากตู้เอทีเอ็มไม่เป็นเลย ไม่มีความรู้ ไม่คิดจะเรียนรู้อะไรเพิ่ม ส่วนลูกหลานทำงานต่างจังหวัด ไม่ค่อยได้กลับบ้าน
วิธีแก้ปัญหาคือ เอาบัตรเป๋าตังเปย์ส่งไปให้ผู้สูงอายุ แล้วโทร.ไปบอกว่า ทุกวันที่ 5 จะมีเงินเติมเข้าบัตร กี่บาทก็ว่ากันไป ให้เอาไปซื้อของที่โลตัส หรือเซเว่นอีเลฟเว่น แล้วบอกพนักงานว่าจ่ายผ่านบัตรเครดิต
จากนั้นเมื่อเงินเดือนออก ลูกหลานจะมีหน้าที่เติมเงินลงในเป๋าตังเปย์ก่อนวันที่ 5 เมื่อถึงวันที่ 5 ฝั่งผู้สูงอายุจะนำบัตรไปซื้อของที่เซเว่นอีเลฟเว่น หรือโลตัส เพราะสามารถใช้แทนเงินสดได้ เอาไปซื้อของกิน ของสด ข้าวสาร ของใช้ต่างๆ
เห็นอย่างนี้แล้วรู้สึกแฮปปี้ เพราะอย่างน้อยผู้สูงอายุ ยังสามารถเข้าถึงสังคมไร้เงินสดได้ ภาวนาว่าขอให้เครื่อง EDC ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สามารถใช้ได้ตลอดไป อย่าล็อกบัตร Play ใช้งานไม่ได้ก็แล้วกัน
อีกเรื่องหนึ่ง ทราบมาว่าตอนนี้แอปพลิเคชันถุงเงิน กำลังทดลองรับชำระด้วย QR บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตที่ผูกกับเป๋าตังค์เปย์ กับนิติบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกสำหรับเฟสแรก
สอบถามเพื่อนที่ทำร้านกาแฟ ทราบว่าหลังอัปเดตแอปพลิเคชันถุงเงินไปแล้ว ยังไม่มีปุ่มรับชำระด้วยบัตรเครดิต/เดบิต ที่ผูกกับเป๋าตังเปย์แต่อย่างใด คาดว่าคงต้องรอให้ธนาคารเปิดให้ร้านค้าสมัครใช้งานในภายหลัง
สำหรับการรับชำระด้วยบัตรเครดิต จำกัดขั้นต่ำตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป อาจจะเป็นเพนพอยต์สำหรับฝั่งผู้ใช้งาน แต่ก็เป็นเพราะค่าธรรมเนียมรับบัตรเครดิตที่ร้านค้าต้องถูกหักเงิน อย่างอีกค่ายหนึ่งจะอยู่ที่ 1.60-2.20% ต่อหนึ่งธุรกรรม
ส่วนฝั่งผู้ใช้งานเป๋าตังเปย์ สามารถผูกบัตรเครดิต/บัตรเดบิตเพื่อใช้จ่ายได้สูงสุด 3 ใบ (เหมือนแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet และ Rabbit LINEPay) โดยระบบจะหักเงินในบัตร 20 บาท และจะคืนเงินเมื่อผูกบัตรสำเร็จ
ประโยชน์ของการผูกบัตรเครดิตหรือเดบิตลงในเป๋าตังเปย์ คือ เวลาชำระเงินผ่านร้านค้าถุงเงินที่รับบัตรเครดิต ระบบจะหักจากบัตรเครดิตหรือเดบิตโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องเติมเงินลงในเป๋าตังเปย์อีกต่อไป
แต่การจำกัดยอดรับชำระขั้นต่ำตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไปอาจจะเสียเปรียบค่าย TrueMoney Waller, Rabbit LINEPay และ Dolfin Wallet ที่สามารถชำระเงินได้ไม่จำกัดขั้นต่ำ แต่ก็รับชำระเฉพาะร้านค้าปลีกรายใหญ่
นับต่อจากนี้เป็นต้นไป เราอาจจะได้เห็นเป๋าตังเปย์พัฒนาระบบชำระเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นมา แข่งกับอี-วอลเล็ตค่ายใหญ่อีก 3-4 เจ้า ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยใช้ชีวิตแบบสังคมไร้เงินสดได้ง่ายดายยิ่งขึ้น